ผู้เขียน หัวข้อ: เยาวชนไทยติดพนันงอมแงมกว่า 3.64 ล้านคน ห่วงพนันบน "อี-สปอร์ต" ดึงนักเล่นหน้าใหม่  (อ่าน 443 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เยาวชนไทยเล่นพนันกว่า 3.64 ล้านคน เป็นหนี้ 9.5 หมื่นคน รวมกว่า 335 ล้านบาท 17% เคยเล่นพนันออนไลน์ เร่งดันแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติแก้ปัญหา รมช.สธ.มอบกรมสุขภาพจิตรวมดูแล แนะใช้สถาบันครอบครัวร่วมแก้ปัญหา จิตแพทย์ห่วงพนันบนอี-สปอร์ต ชักนำนักเล่นรายใหม่

วันนี้ (12 ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากพนันออนไลน์” ในงานเสวนา “1 ทศวรรษ รวมพลังป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์” จัดโดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ว่า ปัญหาการพนันและพนันออนไลน์เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก ไม่เฉพาะในเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ไข ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา คือ ความอบอุ่นในครอบครัว การใช้จิตวิทยาพูดคุยเพื่อปรับกระบวนการคิด การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและตัวเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องพนันออนไลน์ที่ระบาดหนัก ต้องให้ความรู้สถาบันครอบครัว ว่าจะใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวเชื่อมไปสู่การพนันออนไลน์อย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้เด็กและเยาวชนหลงเข้าไปวงจร ซึ่งอยู่ในขอบเขตงานของ สธ.อยู่แล้ว โดยจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต เข้ามาดูแลให้เข้มข้นขึ้น

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจในปี 2560 พบว่า เยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.64 ล้านคน เพศชาย 2 ล้านคน เพศหญิง 1.6 ล้านคน จำนวนนี้ติดหนี้พนันมากถึง 9.53 หมื่นคน เป็นวงเงิน 335 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 3,500 บาท ปัจจุบันพนันออนไลน์เข้ามาเป็นปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชน จากผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนกับการพนันออนไลน์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า 75.6% รู้จักพนันออนไลน์ เมื่อถามถึงความคิดอยากเล่นการพนันออนไลน์ 48.3% ไม่อยากเล่น รองลงมา 28.1% อยากเล่น เป็นบางครั้ง และ 23.6% อยากเล่นแน่ๆ เมื่อถามว่าเคยเล่นการพนันออนไลน์หรือไม่ พบว่า 67.8 % ไม่เคยเล่น รองลงมา 17% เคยเล่น และ 15.2% เคยเล่นเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่มีอะไรรับรองว่า คนที่ไม่เคยเล่นจะไม่มีโอกาสเข้าไปเล่นในอนาคต ดังนั้น ต้องทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจาก การพนัน มสช. กล่าวว่า ช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการพนันออนไลน์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ โดยผู้เล่นรู้สึกเหมือนได้เล่นอยู่ในบ่อนจริงๆ โดยการพนันออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก ควบคู่กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เฉลี่ยในปี 2553-2557 อยู่ที่ 8% ต่อปี และคาดว่าในช่วงปี 2558-2563 จะขยายตัวเฉลี่ยที่ 10.7% ทั้งนี้ ประเทศแถบยุโรปมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 48% เอเชียและตะวันออกกลาง 30 % และอเมริกาเหนือ 13% โดยมีอังกฤษเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของการพนันออนไลน์

นายพงศ์ธร กล่าวว่า การป้องกันและแก้ปัญหาพนันในเด็กและเยาวชน มีการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันและการพนันออนไลน์ พ.ศ.2563-2569 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. การผลักดันประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ
2. การสร้างและพัฒนาให้เกิดกลไกในกำกับของรัฐเพื่อทำหน้าที่ บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน
3. การสร้างองค์ความรู้ จัดการความรู้ และเผยแพร่
4. การส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการป้องกัน ลดผลกระทบ ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยา และ
5.การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย รอนำเสนอเข้าคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช.)
เพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานและบังคับใช้กฎหมายตามร่างแผนปฏิบัติการต่อไป

“การพนันออนไลน์ถือว่าปัญหารุนแรงมาก เพราะทุกการเข้าใช้เว็บไซต์ก็จะเข้าถึงการเว็บไซต์การพนันด้วย แต่การจัดการทางกฎหมายในเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัด คือต้องใช้พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดความปิดเกี่ยวกับเรื่องการพนันออนไลน์เอาไว้ ทำให้การจัดการปัญหาไม่ทันท่วงที ต้องอาศัยพ่วงไปกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งกว่าจะปิดเว็บไซต์ได้ต้องขึ้นสู่ศาลและใช้เวลาเป็นเดือนๆ แต่เว็บสามารถเปิดใม่ได้เพียงแค่ 3 นาที เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะ เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ เพื่อให้การจัดการกับปัญหาเกิดขึ้นได้ทันกับสถานการณ์ปัญหา”นายพงศ์ธรกล่าว

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่น่าจับตาต่อไปคือ อีสปอร์ต (e -Sport) หรือกิจกรรมการแข่งขันเกม เพื่อร่วมชิงเงินรางวัล ของรางวัล หรือเพื่อเสริมความรู้สึกทางจิตใจ การพนันบนอี-สปอร์ตมีความเสี่ยงที่จะชักนำนักเล่นรายใหม่ ไปสู่การเล่นพนันเช่นเดียวกับการทายผลกีฬาในโลกออนไลน์ ปัญหาคือการที่ผู้เล่นพนันมีความนิยมชมชอบกีฬาอีสปอร์ตหรือเกมอีสปอร์ต ก็จะทำให้มีการแทงพนันกับทีมนั้น เกมนั้น โดยไม่สนใจว่ากำลังเล่นพนันหรือเสพติดพนัน อีกทั้ง ลักษณะการพนันในอี-สปอร์ตมีการเชื่อมโยงเกมและอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ผ่านตัวโปรแกรม แอปพลิเคชัน เป็นกิจกรรมส่วนตัวที่ผู้เล่นสามารถทำได้ทั้งเล่นเกม ซื้อของ สนทนา จ่ายเงิน หรือรับชมการแข่งขันทัวร์นาเมนท์ต่างๆ ไปได้พร้อมกับการแทงพนันได้ทันที และผู้เล่น เกมส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่เท่าทัน และตระหนักรู้ว่าเกมหรืออี-สปอร์ตนั้น มีส่วนเชื่อมโยงกับธุรกิจ การพนันออนไลน์

12 ก.ย. 2562  ผู้จัดการออนไลน์