ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เดินหน้าเชื่อมข้อมูล “ร้านขายยา-รพ.” จ่ายยา 4 กลุ่มโรค เริ่ม 1 ต.ค.นี้  (อ่าน 569 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สธ.เดินหน้าเชื่อมข้อมูล “ร้านขายยา-รพ.” จ่ายยา 4 กลุ่มโรค เริ่ม 1 ต.ค.นี้ หวังลดความแออัดใน รพ.
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประชุมร้านขายยา 500 แห่ง เตรียมระบบเชื่อมข้อมูลรพ. 50 แห่ง ทำหน้าที่แทนห้องยาใน รพ. ใหญ่ ลดความแออัด 30 %

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมสมองเพื่อหาวิธีการเชื่อมโยงระบบระหว่างร้านขายยา ข.ย.1 มาตรฐาน GPP ที่มีอยู่ 17,000 แห่งทั่วประเทศ ให้เข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกการดูแลประชาชน เปลี่ยนให้ร้านขายยาเป็นเสมือนห้องยาของโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในระบบและสามารถคุมอาการของโรคในระดับที่น่าพอใจ อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับยาประจำได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้แทนการต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นอกจากจะนำบริการให้ใกล้ชิดประชาชน เพิ่มการติดตามการใช้ยาอย่างเหมาะสมด้วยเครือข่ายร้านขายยาคุณภาพ ยังช่วยลดความแออัดโรงพยาบาลใหญ่ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งวันนี้จะเป็นการระดมสมองเชื่อมโยงระบบร้ายขายยากับการบริการผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เชื่อว่าการเชื่อมโยงนี้น่าจะลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ได้ประมาณร้อยละ 30
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. จะรวบรวมแนวคิดที่ได้วันนี้สรุปเป็นแผนการเดินหน้าเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 2 กันยายนนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มนำร่องเชื่อมโยงร้านขายยาจำนวน 500 แห่ง กับ โรงพยาบาลต้นสังกัดที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 50 แห่งทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม จะให้ร้านขายยานำร่องทดลองทำหน้าที่เสมือนสาขาห้องยาให้โรงพยาบาลเฉพาะ 4 โรคก่อน คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจิตเวช และหอบหืด ซึ่งเชื่อจะมีผู้ป่วยสนใจรับยาใกล้บ้านไม่ต่ำกว่า 2 ล้านครั้งต่อปี
“สำหรับเรื่องงบประมาณนั้น เบื้องต้นจะมีการใช้งบประมาณเหลือจ่ายของปี 2562 ประมาณ 150 ล้านบาท มาใช้ก่อน ส่วนการขยายการดำเนินการในปีถัดๆ ไปจะมีการตั้งงบประมาณเฉพาะประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี ส่วนทางร้านขายยาเองจะได้รับค่าบริการในการจ่ายยาให้ผู้ป่วย 70 บาท ต่อคน โดยโรงพยาบาลต้นสังกัดจะเป็นผู้หักส่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Tue, 2019-08-27 16:56 -- hfocus team