ผู้เขียน หัวข้อ: ลดแออัด ให้ไปร้านขายยา หรือจะเกาไม่ถูกที่คัน  (อ่าน 3462 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


ลดแออัดในโรงพยาบาล ให้ไปร้านขายยา หรือจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

คาดจ่ายยาผู้ป่วยที่ "ร้านยา" 1 ต.ค.นี้ ใน 4 โรค นำร่อง 50 รพ. 500 ร้านยาคุณภาพ (ผู้จัดการออนไลน์-16สค2562)
ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ รับยาที่ร้านขายยาคุณภาพใกล้บ้าน-ที่ทำงาน (ข่าวไทยพีบีเอส-27สค2562)
สธ.เดินหน้าเชื่อมข้อมูล “ร้านขายยา-รพ.” จ่ายยา 4 กลุ่มโรค เริ่ม 1 ต.ค.นี้ หวังลดความแออัดใน รพ.( hfocus-28สค2562)

นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการลดความแออัดในโรงพยาบาล หนึ่งในแนวทางที่จะเริ่มในเร็ววันนี้ คือ ลดการรอคอยในการรับยาของผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านขายยาภายนอกโรงพยาบาลแทน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าผลในด้านบวก และด้านลบจะเป็นอย่างไร
ต้องยอมรับกันว่า ผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรํฐมีมากจริงๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บุคลากรและทรัพยากรของโรงพยาบาลไม่สามารถเพิ่มขึ้นอย่างเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมได้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงถูกนำมาใช้อยู่เสมอ ในขณะที่สาเหตุต้นตอยังไม่ได้รับการแก้ไข

เกาไม่ถูกที่คัน สร้างปัญหาใหม่
แนวคิดหลักของโรงพยาบาล คือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย การสั่งยาและการจ่ายยาในโรงพยาบาลจึงมีระบบ มีขั้นตอนทบทวนตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น ซึ่งทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรวมทั้งตัวผู้ป่วยเอง ล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในระบบความปลอดภัยทางยานี้ เช่น พยาบาล และเภสัชกรอาจสอบถามแพทย์เมื่อไม่แน่ใจในยาที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยอาจเดินมาสอบถามแพทย์เมื่อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ได้รับ ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลมีการเตือนเมื่อมีการสั่งยาที่ผู้ป่วยแพ้ เป็นต้น
การให้ผู้ป่วยเอาใบสั่งยาไปรับที่ร้านขายยา อาจทำให้ระบบความปลอดภัยนี้ขาดตอน ไม่สมบูรณ์ ยุ่งยากลำบากและอาจบกพร่องได้ ความคลาดเคลื่อนทางยาที่เกิดขึ้นบางครั้งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเพียงเล็กน้อย แต่บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
หากเกิดอันตรายกับผู้ป่วยขึ้น การเรียกร้อง ร้องเรียน หาผู้รับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งเกิดการฟ้องร้องขึ้น ก็จะเป็นประเด็นใหญ่ตามมา ว่าใครจะรับผิด มากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง

คันที่ไหน เกาที่นั่น
ความแออัดเนื่องจากผู้ป่วยรอรับยานาน หากวิเคราะห์ให้ดีแล้ว จะพบว่า จะมีการแออัดมากบางช่วงเวลา ก็เหมือนกับการจราจรที่ติดขัด จะติดมากช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (มีรถออกมาพร้อมกันมากๆ รถก็ติด) กับบริเวณที่มีคอขวด (จากถนนหลายๆเลน ลดลงเหลือไม่กี่เลน รถก็ติด) โรงพยาบาลทั่วๆไปจะมีแพทย์มาลงตรวจพร้อมกันมากในช่วงเช้า ดังนั้นช่วงสายๆ ผู้ป่วยจำนวนมากซึ่งตรวจเสร็จแล้วก็จะมารอรับยาพร้อมๆกัน ความแออัดก็เกิดขึ้น (เหมือนชั่วโมงเร่งด่วน) ในขณะเดียวกันลักษณะคอขวดก็เกิดขึ้นด้วย เช่น มีแพทย์มาตรวจ 10 ห้อง แต่มีช่องรับยาเพียง 3 ช่อง ความแออัดก็เกิดอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ หากผู้บริหารตั้งใจจริงที่จะแก้ไข ก็แก้ได้ ด้วยการบริหารจัดการ และแก้ไขกฎระเบียบราชการบางอย่าง
ให้ไปเลยครับ โรงพยาบาลละ 3 ล้านบาท (งบ 150 ล้านบาท 50 โรงพยาบาล) ติดขัดเรื่องกฎระเบียบอะไร กระทรวงก็ช่วยปรับแก้ให้ รับรองได้ว่า ผู้อำนวยการทุกโรงพยาบาลสามารถทำให้หายแออัดได้แน่  นี่ถึงจะเป็นการเกาถูกที่คัน โดยไม่กระทบระบบความปลอดภัยด้านยา ผู้ป่วยไม่เสี่ยง แพทย์ไม่วิตกกังวล และเป็นส่งเสริมพัฒนาโรงพยาบาลของรัฐไปด้วย

เกาในที่ ไม่ควรเกา เกิดโรคแทรก
การที่กระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าเชื่อมข้อมูล(ของผู้ป่วย)กับร้านขายยา ก็เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงด้านจริยธรรม(ทางการแพทย์)เหมือนกัน ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลถือเป็นความลับของผู้ป่วย ซึ่งจะเปิดเผยไม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วย การเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยต่อร้านขายยา ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายยาแทนโรงพยาบาล แต่กระทรวงสาธารณสุขจะรับรองได้หรือว่า จะไม่มีการเอาข้อมูลนั้นๆไปใช้ในการอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย หากมีการเอาข้อมูลไปใช้โดยผิดจริยธรรม ใครจะรับผิดชอบ และผู้ป่วยที่อนุญาตให้เชื่อมข้อมูลจะรู้ถึงความเป็นไปได้เหล่านี้หรือไม่
และการที่ภาครัฐจะเอาเงินงบประมาณ 150 ล้านไปให้ร้านขายยา(เอกชน)เพื่อสนองนโยบายนี้ (ในขณะที่ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายนี้ได้โดยเอาเงินส่วนนี้ไปให้โรงพยาบาลของรัฐเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง) จะถูกมองว่าไม่ชอบมาพากลหรือเปล่า
คำว่า “เอื้อประโยชน์” “แสวงหาผลประโยชน์” “ประพฤติมิชอบ” ในยุคที่สังคมเรียกร้องหา”ธรรมาภิบาล” ผู้บริหารทุกระดับพึงไตร่ตรองให้รอบคอบ

เกาให้ถูกที่ ดีกว่าครับ

4 กันยายน 2562

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ตุลาคม 2019, 14:41:16 โดย story »