ผู้เขียน หัวข้อ: เราอยู่ในยุคพลาสติก : เราผลิต เราใช้ และเรากินพลาสติก  (อ่าน 2088 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด

ตั้งแต่สมัยโบราณมา มนุษย์เราผ่านยุคหิน ยุคสำริด ยุคเหล็กมาแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในยุคพลาสติก เราผลิตพลาสติก เราใช้พลาสติก และเราก็กินพลาสติก (โดยไม่รู้ตัว)
ช่วงเวลาที่มนุษย์เราเริ่มใช้หินเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต หรือเป็นอาวุธ (ในช่วง 2- 5 ล้านปีมาแล้ว) เราเรียกช่วงเวลานั้นว่า ยุคหิน (stone age) พอเราเริ่มใช้โลหะแทนหิน คือ ใช้ทองแดงเป็นหลักผสมกับธาตุอื่นๆ เราเรียกช่วงเวลานั้นว่า ยุคสำริด (bronze age) คือ ช่วง 2,000- 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาเรารู้จักใช้เหล็ก ในช่วง 1206-1150 ปีก่อนคริสตกาล จนบ้านเมืองพัฒนาขึ้นมากมาย เราเรียกช่วงนี้ว่า ยุคเหล็ก (iron age)
ความเป็นอยู่ของมนุษย์เราสะดวกสบายมากขึ้น อยู่อย่างปลอดภัยมากขึ้น มีความเจริญของบ้านเมืองมากขึ้นในขณะที่เราก้าวผ่านยุคต่างๆมาเป็นลำดับ
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่2 เป็นต้นมา ( World War II 1939-1945) พลาสติกมีอิทธิพลต่อการเป็นอยู่ของคนเรามากขึ้นๆ จนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า เราใช้พลาสติกในแทบจะทุกกิจกรรมในการดำรงชีวิต พลาสติกอยู่รอบตัวเรา บ้านเมืองเราก็เจริญมากขึ้นกว่าก่อน ตั้งแต่เกิดจนตาย เราอยู่กับพลาสติก ยุคนี้เป็นยุคพลาสติก(plastic age) เราอยู่ในยุคพลาสติกกันแล้ว


โลกเราผลิตพลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากกว่าสามร้อยล้านตันแล้วในปีค.ศ. 2017 อุตสาหกรรมแทบจะทุกด้านล้วนแล้วแต่ใช้พลาสติก ทั้งด้านยานยนต์ ก่อสร้าง สิ่งทอ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ การบริโภคต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการแพทย์
เราผลิตพลาสติกจากน้ำมัน/แก๊สธรรมชาติ (fossil fuel) โดยการเชื่อมต่อโมเลกุลของสารไฮโดรคาร์บอนเป็นร้อยเป็นพันโมเลกุลเข้าด้วยกันกลายเป็นโมเลกุลใหม่ (polymer) ขนาดใหญ่ (มากๆ) เป็นโมเลกุลที่จุลินทรีย์ไม่รู้จัก (เป็นเอเลี่ยนสำหรับจุลินทรีย์) นี่แหละพลาสติก
ในธรรมชาติ พลาสติกจึงไม่ถูกย่อยสลาย (biodegradation) แต่เสื่อมสลาย และแตกสลายได้ จากวัสดุของใช้ก็เสื่อมสลายกลายเป็นชิ้นพลาสติก จากพลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นชิ้นเล็กลงๆ** บางคนเปรียบเปรยว่า พลาสติกเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย ซึ่งก็ทั้งจริงและไม่จริง จริงคือในธรรมชาติแล้ว พลาสติกคงอยู่ชั่วนิรันดร เล็กลงแต่ไม่ตาย*** ไม่จริง คือ ยังมีวิธีหนึ่งที่ทำให้พลาสติกตายได้ โดย“การเผา” เราสามารถเผาทำลายพลาสติกได้ (พลาสติก มาจากน้ำมัน/แก๊สธรรมชาติ




มีการประมาณว่า โลกเราผลิตพลาสติกจนถึงปัจจุบัน มากถึง 8.3 พันล้านตัน เราเผาทำลาย(incineration)ไปประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ อีกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่บนโลกเรา เราเอากลับไปใช้ใหม่ (recycle) ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นขยะพลาสติก (ประมาณ 6.3 พันล้านตัน) ขยะพลาสติกอยู่ที่ไหนบ้าง ส่วนหนึ่งเราฝังกลบอยู่ใต้ดิน ส่วนหนึ่งกลาดเกลื่อนบนพื้นดิน ส่วนหนึ่งลงสู่แหล่งน้ำและทะเล อีกส่วนกลายเป็นฝุ่นพลาสติกล่องลอยในอากาศ



ที่น่าตกใจ คือ มีขยะพลาสติก กระจายลงไปในทะเล ประมาณปีละ 8 ล้านตัน**** ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 6 ของโลกในการสร้างขยะในทะเล (จาก 192 ประเทศทั่วโลกที่มีดินแดนติดชายฝั่งทะเล) นักวิชาการกล่าวว่า 5 ประเทศ คือ จีน บวกกับอีก 4 ประเทศในอาเซียน (คือ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) สร้างขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าทุกประเทศทั่วโลกที่เหลือรวมกัน แค่ 5 ประเทศนี้ดูแลเรื่องขยะพลาสติกให้ดี ก็แก้ปัญหาไปได้มากแล้ว



ในปี ค.ศ.2017 องค์การสหประชาชาติ(UN)ได้ประกาศรณรงค์ลดขยะในทะเล (#CleanSeas campaign) โดยกระตุ้นรัฐบาลทั่วโลกให้ออกนโยบายลดการใช้พลาสติก (plastic reduction policies) พุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรม และเรียกร้องให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้แล้วทิ้ง (throwaway habits)
ต้นปี ค.ศ. 2018 สหภาพยุโรป(EU)ก็เริ่มขยับ ประกาศรณรงค์ลดขยะพลาสติก และในปีเดียวกันองค์การอนามัยโลก (WHO)ก็กังวลเรื่องผลกระทบของมลพิษจากพลาสติกต่อสุขภาพของคน และเรียกร้องให้ขจัดมลพิษจากพลาสติก
องค์กรระหว่างประเทศทั้งสามออกโรงเรื่องพลาสติก ต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ ต้องมีผลกระทบที่สำคัญแน่นอน จากจุดนี้ไปจะขออ้างอิงงานวิจัยและบทความทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่




ผลกระทบต่อชีวิตสัตว์

ในแต่ละปี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(Marine mammals) และเต่าทะเล ประมาณหนึ่งแสนตัว ตายเพราะพลาสติกในทะเล
นกทะเล (sea birds) ประมาณหนึ่งล้านตัว ตายเพราะพลาสติกในทะเล




เต่าทะเล 30-50 เปอร์เซ็นต์กินพลาสติก นกทะเลมากกว่า 70-90 เปอร์เซ็นต์กินพลาสติก เพราะคิดว่าเป็นอาหาร สัตว์ที่กินพลาสติกเข้าไป มากกว่าครึ่งตาย



ภาพวิดีโอที่เผยแพร่กันในช่วงปี 2015 ที่มีการดึงเอาหลอดพลาสติกออกจากจมูกของเต่าทะเล (ได้รับการดูผ่านทาง ยูทูป มากกว่า 30 ล้านครั้ง)***** กระทบกระเทือนใจคนที่ได้ดูเป็นจำนวนมาก และเป็นการกระตุ้นให้หลายๆส่วนออกมารณรงค์เลิกใช้หลอดพลาสติก และวัสดุพลาสติกอื่นๆ เช่น แมคโดนัลด์ในสหราชอาณาจักร และไอรแลนด์ จะเลิกใช้หลอดพลาสติกในปีนี้ (ค.ศ.2019), แมคโดนัลด์ในออสเตรเลียเลิกในปีหน้า (ค.ศ.2020) สตาร์บักส์ (ในอเมริกาและแคนาดา) ก็ประกาศจะเลิกใช้หลอดพลาสติกในปี ค.ศ.2020 เช่นกัน เป็นต้น
ล่าสุดนักวิจัยพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของลูกเต่าทะเล ตายเพราะกินพลาสติก และการกินพลาสติกเพียงชิ้นเดียวก็อาจทำให้ลูกเต่าตายได้ ดังนั้น “หนึ่งหลอด อาจหมายถึง หนึ่งชีวิต”


***** https://www.youtube.com/watch?v=4wH878t78bw


ข่าวคราวเรื่องวาฬเกยตื้นตายเพราะกินพลาสติก มีมาเป็นระยะๆ พบได้ทั่วโลก (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิตาลี สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ...) วาฬมาเกยตื้นที่ชายหาด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2561 แล้วตาย (พบพลาสติก 80 ชิ้น ประมาณ 8 กิโลกรัมในกระเพาะอาหารของวาฬ) หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ที่พยายามช่วยชีวิตกล่าวว่า “มีช่วงหนึ่งที่วาฬเกร็งตัว สำรอกเอาพลาสติกออกมา......”*
ข่าวนี้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก สำนักข่าวดังๆต่างประเทศ ก็เล่นข่าวนี้
* https://www.bbc.com/thai/thailand-44346034
นี้เป็นผลกระทบของขยะพลาสติกต่อชีวิตสัตว์โลก คนที่รักสัตว์คงอยู่เฉยๆไม่ได้แล้ว เค้าทรมานและตายเพราะเรา แต่...บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว มาดูผลกระทบอีกด้านของขยะพลาสติก



https://www.facebook.com/praditc/posts/2532794963438463
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ตุลาคม 2019, 14:49:37 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
หนึ่งในปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงในขณะนี้ คือ “ไมโครพลาสติก” (Microplastic) หรืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งทอ ยางรถยนต์สังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และแหล่งที่มาอื่น ๆ

ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หากปลา เต่า หรือนก บริโภคเข้าไป อาจทำให้ตายได้ ขณะที่ในมนุษย์เอง สามารถสร้างกระทบหลายประการต่อหัวใจและปอดของมนุษย์ได้

ที่ผ่านมา มีการรายงานค้นพบไมโครพลาสติกในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในท้องของปลา ในน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก และในหิมะบนเทือกเขาระหว่างฝรั่งเศสและสเปน แต่ล่าสุด มีการพบไมโครพลาสติกในที่ที่หลายคนอาจจะไม่คาดคิด นั่นคือ “บนท้องฟ้า”

ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นเปิดเผยผลการวิจัยฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Chemistry Letters ว่า “พบไมโครพลาสติกอยู่ในก้อนเมฆ” ซึ่งพวกเขาคาดว่า มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ แต่ในลักษณะที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้

ในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ได้ปีนภูเขาไฟฟูจิและภูเขาโอยามะ เพื่อรวบรวมน้ำจากเมฆที่ปกคลุมยอดเขา จากนั้นจึงใช้เทคนิคการถ่ายภาพขั้นสูงกับตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี

ทีมวิจัยพบว่า ในน้ำจากเมฆ 1 ลิตร จะมีไมโครพลาสติกประมาณ 6.7-13.9 ชิ้น มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร ในบรรดาไมโครพลาสติกที่พบนั้น เป็นพอลิเมอร์ 9 ชนิดและยาง 1 ชนิด

โอโคจิ ฮิโรชิ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “หากปัญหามลพิษพลาสติกในอากาศไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงรุก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงทางนิเวศวิทยาก็อาจกลายเป็นความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงและแก้ไขไม่ได้ในอนาคต”

โอโคจิบอกว่า เมื่อไมโครพลาสติกขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนและสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด ไมโครพลาสติกจะสลายตัวและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม กลไกการกระจายไมโครพลาสติกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ผ่านทางอากาศเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน และการวิจัยเกี่ยวกับการกระจายไมโครพลาสติกทางอากาศยังมีจำกัด

“เท่าที่ทราบ นี่เป็นรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในอากาศในน้ำจากเมฆ” ทีมวิจัยระบุ

มหาวิทยาลัยวาเซดะ ระบุในแถลงการณ์ว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า “มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ อาจกินหรือสูดดมไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การตรวจพบในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ เลือด รก และอุจจาระ”

มหาวิทยาลัยเสริมว่า “เศษพลาสติกจำนวนสิบล้านตันจบลงในมหาสมุทร และหาทางขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อน้ำระเหย นี่หมายความว่า ไมโครพลาสติกอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมฆ ปนเปื้อนเกือบทุกอย่างที่เรากินและดื่มผ่าน ‘สายฝนพลาสติก’”


PPTVHD36
28 กย 2566

AdChoices
สาเหตุหลักที่ทำให้คนสองคนนี้ต้องกล่าวคำอำลา

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
รายงานการศึกษาสิ่งแวดล้อม 2 ชิ้น ที่เผยแพร่ในวารสาร Science of the Total Envirionment เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เผยผลลัพธ์ที่น่ากังวลใจ โดยรายงานดังกล่าว อาศัยพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกของถ้ำแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในระบบน้ำใต้ดิน

เอลิซาเบธ ฮาเซนมูเอลเลอร์ นักธรณีเคมีและรองผู้อำนวยการสถาบัน WATER แห่งมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของทั้งสองกรณีศึกษากล่าวในแถลงการณ์ว่า มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่เน้นหนักเรื่องไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่อยู่บนผิวดิน แต่กลับมีการศึกษาเรื่องการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำใต้ดินน้อยมาก

ไมโครพลาสติกคือเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กที่มาจากการสลายตัวของวัสดุประเภทพลาสติก โดยกำหนดขนาดไว้ว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร

ทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ สามารถเดินทางไปถึงที่ใดบ้าง และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่จากรายงานก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ระบุว่ามีการค้นพบไมโครพลาสติกอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่บนก้อนเมฆไปจนถึงอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์

พื้นที่ในการศึกษาครั้งคือถ้ำคลิฟฟ์ในรัฐมิสซูรี ซึ่งถูกปิดตาย ห้ามบุคคลภายนอกเข้าตั้งแต่ปี 2536 ถ้ำแห่งนี้มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน จึงไม่ถือว่าตัดขาดจากชุมชนเสียทีเดียวนัก และเหมาะจะเป็นสถานที่ศึกษาว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นั้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่อยู่ใกล้เคียงอย่างไรบ้าง

ทีมวิจัยพบว่ามีการสะสมของไมโครพลาสติกในระดับเข้มข้นที่บริเวณปากถ้ำ แล้วยังถูกผลักดันให้เข้าไปในส่วนลึกของถ้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยยังชี้ว่ามีความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในตะกอนในถ้ำ สูงกว่าในน้ำถึง 100 เท่า

ฮาเซนมูเอลเลอร์ กล่าวว่า 99% ของชิ้นส่วนไมโครพลาสติกที่ทีมงานพบในถ้ำอยู่ในชั้นตะกอน มีเพียงชิ้นส่วนไมโครพลาสติกที่เล็กมาก ๆ เท่านั้นที่อยู่ในน้ำ

เหตุการณ์เท่ากับชี้ว่า น้ำทิ้งเศษไมโครพลาสติกไว้ที่ชั้นดินตะกอน ซึ่งจะเก็บพลาสติกเหล่านี้ไว้เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ แม้กระทั่งหลังจากที่น้ำลดระดับลงจากบริเวณนั้น นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่อนุภาคพลาสติกที่ปลิวอยู่ในอากาศจะตกลงสู่พื้นถ้ำด้วยเช่นกัน

ฮาเซนมูเอลเลอร์ กล่าวว่า อนุภาคพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในถ้ำเหล่านี้ อาจหลุดรอดไปในระบบน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่คนใช้อุปโภคบริโภค นอกจากนี้มันยังมีส่วนรบกวนสภาพที่อยู่อาศัยของค้างคาวและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในถ้ำด้วย

หัวหน้าทีมวิจัยยังกล่าวว่า เมื่อพิจารณาว่าไมโครพลาสติกได้แพร่กระจายไปแทบจะทุกจุดแล้ว การจะเก็บเศษชิ้นส่วนพลาสติกกลับคืนหรือแก้ไขสภาพแวดล้อมให้กลับคืนเหมือนเดิมนั้น เป็นไปได้ยาก

ฮาเซนมูเอลเลอร์ กล่าวว่า ทางหนึ่งที่ช่วยแก้ไขได้ก็คือเราจะต้องเลิกใช้เสื้อผ้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ เนื่องจากเศษพลาสติกจำนวนมากที่พบในถ้ำในกรณีศึกษาทั้งสองนี้ คือเศษใยผ้าที่มาจากวัสดุสังเคราะห์

ก่อนหน้านี้ก็มีการวิจัยค้นพบว่า กระบวนการผลิต สวมใส่และซักล้างเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์ ล้วนแต่มีส่วนปลดปล่อยให้ใยสังเคราะห์หรือไมโครไฟเบอร์ หลุดรอดสู่ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา : futurism.com



เดลินิวส์
3 ตค 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องมากขึ้นในหลายประเทศ ให้มีการพัฒนาระบบน้ำประปาที่สามารถบริโภคได้ ล่าสุดมีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่หลายคนฟังแล้วอาจตกใจ เพราะพวกเขาพบว่า ในน้ำขวด 3 ยี่ห้อที่หาซื้อได้ทั่วไปจากวอลมาร์ตนั้น มีอนุภาคพลาสติกปะปนเฉลี่ยถึง 240,000 อนุภาคต่อลิตร

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อมาโดยตลอดว่า น้ำที่ถูกบรรจุอยู่ภายในขวดพลาสติกนั้น อย่างไรจะต้องมีอนุภาคพลาสติกปะปนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน แต่ยังไม่มีวิธีการศึกษายืนยันที่ชัดเจน

กระทั่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ได้ทำการศึกษาตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 3 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 5 ขวด ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่ (Dual Laser Microscope) พวกเขาก็ได้พบกับอนุภาคพลาสติกจำนวนมาก

นักวิจัยพบว่า ระดับอนุภาคพลาสติกในน้ำขวดอยู่ที่ระหว่าง 110,000 ถึง 400,000 อนุภาคต่อลิตร หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 240,000 อนุภาค โดยยังพบด้วยว่า อนุภาคพลาสติกในน้ำเป็น “นาโนพลาสติก” มากกว่า “ไมโครพลาสติก” ราว 10-100 เท่า

ไมโครพลาสติกคืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไปจนถึง 1 ไมโครเมตร ส่วนอะไรก็ตามที่เล็กกว่านั้นก็คือนาโนพลาสติก

นอกจากนี้ อนุภาคพลาสติกที่พบนั้น เบื้องต้นมีอยู่อย่างน้อย 7 ชนิด คือ โพลีเอไมด์, โพรพิลีน, โพลีเอทิลีน, โพลีเมทิลเมทาคริเลต, โพลีไวนิลคลอไรด์, โพลีสไตรีน และโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต

ดร.เฉียน ไน่ซิน จากภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ดูเหมือนว่าอนุภาคพลาสติกส่วนใหญ่มาจากขวดและแผ่นกรองรีเวอร์สออสโมซิสที่ใช้เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ

เธอบอกว่า จะยังไม่เปิดเผยชื่อของน้ำขวดทั้งสามแบรนด์ เนื่องจากนักวิจัยต้องการตัวอย่างเพิ่มเติมมากกว่านี้ก่อน และต้องการศึกษายี่ห้ออื่น ๆ เพิ่มเติม แต่เธอบอกว่ามันเป็นน้ำขวดทั่วไปที่หาซื้อได้ตามวอลมาร์ต
ทั้งนี้ นักวิจัยยังคงไม่สามารถตอบคำถามสำคัญได้ว่า อนุภาคไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกที่อยู่ในน้ำดื่มเหล่านี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

ฟีบี สเตเปิลตัน นักพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เราไม่รู้ว่ามันอันตรายหรืออันตรายแค่ไหน เรารู้ว่าพวกมันเข้าไปในเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงคนด้วย … และการวิจัยในปัจจุบันกำลังศึกษาว่า พวกมันทำอะไรบ้างเมื่อเข้าไปอยู่ในเซลล์”

ด้านสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดระหว่างประเทศระบุในแถลงการณ์ว่า “ในปัจจุบัน เรายังขาดวิธีการการวัดอนุภาคพลาสติกที่ได้มาตรฐาน และยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคนาโนพลาสติกและไมโครพลาสติก ดังนั้นรายงานของสื่อเกี่ยวกับอนุภาคเหล่านี้ในน้ำดื่มไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น”

สภาเคมีแห่งอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตพลาสติก ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในทันที

ทั้งนี้ ทีมวิจัยที่รายงานการค้นพบครั้งนี้เปิดเผยว่า หลังทำการศึกษานี้ พวกเขาก็เริ่มลดการดื่มน้ำจากน้ำบรรจุขวด

เว่ย หมิ่น นักเคมีจาก ม.โคลัมเบีย ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เขาลดการดื่มน้ำดื่มบรรจุขวดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนสเตเปิลตันกล่าวว่าตอนนี้เธออาศัยดื่มน้ำกรองที่บ้านมากขึ้น แต่ผู้ร่วมวิจัยอีกคนอย่าง เหยียน เป่ย์จ้าน นักเคมีด้านสิ่งแวดล้อม ม.โคลัมเบีย ชี้ให้เห็นว่า ตัวกรองก็อาจเป็นปัญหาได้หากนำพลาสติกมาใช้

ด้านผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ก็ออกมาแสดงท่าทียกย่องการศึกษาวิจัยนี้ และส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า มีความไม่สบายใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายของอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงถึงอันตรายของมัน

เจสัน โซมาเรลลี ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และผู้อำนวยการกลุ่มมะเร็งวิทยาเปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยดยุก กล่าวว่า “อันตรายจากพลาสติกยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ แต่สำหรับผม สารเติมแต่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด”

เขาบอกว่า “เราและคนอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นว่า นาโนพลาสติกเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ได้ และเรารู้ว่านาโนพลาสติกมีสารเคมีทุกชนิดที่อาจทำให้เซลล์เกิดความเครียด เกิดความเสียหายของ DNA และเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญหรือการทำงานของเซลล์”

โซมาเรลลีกล่าวว่า ในผลงานการวิจัยของเขาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ พบว่า “ในพลาสติกเหล่านี้ มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งมากกว่า 100 ชนิด”

ด้าน เชอร์รี เมสัน ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนของ Penn State Behrend ในรัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย กล่าวว่า การค้นพบครั้งใหม่นี้ตอกย้ำคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่มีมายาวนานว่า ควรดื่มน้ำประปาจากแก้วหรือภาชนะสแตนเลสมากกว่าพลาสติก

“ผู้คนไม่คิดว่าพลาสติกจะหลุดลอกออกมา แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้น ในลักษณะเดียวกับที่เราผลัดเซลล์ผิวอยู่ตลอดเวลา พลาสติกจะปล่อยเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แตกออกอยู่ตลอดเวลา” เมสันกล่าว

เธอยังมีความคิดเห็นคล้ายกับโซมาเรลลีในเรื่องความอันตรายของอนุภาคพลาสติกด้วยว่า “สารเคมีต่าง ๆ ถูกใช้ในการผลิตพลาสติก ดังนั้นหากพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเรา มันก็จะนำสารเคมีเหล่านั้นเข้ามาด้วย และเนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายคนสูงกว่าภายนอก สารเคมีเหล่านั้นจะเคลื่อนย้ายออกจากพลาสติกนั้นและจบลงที่ร่างกายของเรา”

เธอเสริมว่า “สารเคมีสามารถถูกส่งไปยังตับ ไต และสมองของคุณ และยังแพร่กระจายป่านรกไปอยู่ในเด็กในครรภ์ได้ด้วย” เมสันกล่าว โดยอ้างถึงงานวิจัยอื่นก่อนหน้านี้ ที่มีการศึกษาหนูที่ตั้งท้อง แล้วนักวิจัยพบสารเคมีพลาสติกในสมอง หัวใจ ตับ ไต และปอดของทารกหนูที่กำลังพัฒนา 24 ชั่วโมงหลังจากที่แม่หนูตั้งครรภ์ โดยลูกหนูจะกลืนหรือหายใจเอาอนุภาคพลาสติกเข้าไปด้วย

สเตเปิลตันเสริมว่า ปัจจุบัน “เคยมีการพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในรกของมนุษย์ ในเนื้อเยื่อปอดของมนุษย์ ในอุจจาระของมนุษย์ หรือแม้แต่ในเลือดมนุษย์”

เหยียนกล่าวว่า เขากำลังเริ่มศึกษาแหล่งน้ำอื่น ๆ ในบอสตัน เซนต์หลุยส์ ลอสแอนเจลิส และที่อื่น ๆ เพื่อดูว่ามีพลาสติกอยู่ในน้ำประปามากแค่ไหน โดยการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับไมโครพลาสติกและการทดสอบเบื้องต้นระบุว่าอาจมีนาโนพลาสติกในน้ำประปาน้อยกว่าน้ำบรรจุขวด

เรียบเรียงจาก Associated Press / CNN
PPTVHD36 
9 มค 2567

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
"ธนาคารไทยพาณิชย์" เดินหน้าความยั่งยืนให้กับสังคมไทย ประกาศความพร้อมเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเพื่อใช้ในกิจกรรมองค์กรเป็น "พลาสติกรีไซเคิล 100%" สร้างคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นตัวกลางที่จะผลักดันสังคมยั่งยืน ด้วยเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero จากแผนการดำเนินงานภายในของธนาคารภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 แม้ว่าสถาบันการเงินจะเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่ธนาคารก็ยังให้ความสำคัญที่จะบูรณาการแนวทางการปฏิบัติงานภายในที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยในปีนี้ได้ริเริ่มลดการใช้พลาสติกภายในองค์กร จากการเปลี่ยนขวดน้ำดื่มที่ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของธนาคาร เป็นขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% จำนวนปีละกว่า 1.3 ล้านขวด โดยเป็นธนาคารแรกที่ริเริ่มใช้ขวดประเภทดังกล่าว

ด้วยความห่วงใยถึงความสะอาดและความปลอดภัยของลูกค้าและผู้บริโภค ธนาคารจึงได้เลือกใช้ขวดน้ำดื่ม rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขวดพลาสติกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานยุโรปที่ทันสมัย โดยโรงงานรีไซเคิลพลาสติกคุณภาพสูง ENVICCO หนึ่งใน GC Group ที่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพความสะอาดและความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานจาก อย.สหรัฐ rPET นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติกปิดเส้นทางขยะสู่หลุมฝังกลบ โดยหมุนเวียนพลาสติกใช้แล้วในประเทศไทยให้กลับมาเป็นทรัพยากรสำหรับการขึ้นรูปเป็นขวดน้ำใหม่ สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" โฉมใหม่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "Sustainable Bloom" ความยั่งยืนที่เบ่งบานสู่อนาคต นำเสนอในลวดลายดอกไม้หลากสีรวม 17 สี อันสื่อถึง 17 เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นตัวแทนแสดงเจตจำนงของธนาคารที่จะส่งมอบความยั่งยืนให้แก่สังคมและดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้

ทั้งนี้ การใช้ขวด rPET สามารถลดปริมาณขยะฝังกลบและขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" ขนาดบรรจุ 320 มิลลิลิตร จำนวน 1.3 ล้านขวด นับเป็นการรีไซเคิลพลาสติกกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ แม้จะดูเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับขวดน้ำในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่การลดปริมาณพลาสติกใหม่จำนวน 1.3 ล้านขวดเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ 2,200 ต้นในเวลา 1 ปี และคิดเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการใช้เม็ดพลาสติกผลิตขวดน้ำแบบเดิมถึง 60%

ตามแผนงานการมุ่งสู่ Net Zero ผ่านการปฏิบัติงานภายในธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2030 นั้น การเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็นขวด rPET จำนวน 1.3 ล้านขวดต่อปี ในช่วงปี 2024-2030 คิดเป็นปริมาณขวด rPET รวมประมาณ 8 ล้านขวด เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ได้ถึง 13,500 ต้น สามารถบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกได้ในระยะยาว

ปลูกจิตสำนึกพนักงานไทยพาณิชย์ ลดการใช้พลาสติก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็น "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" แล้ว ธนาคารยังมีโครงการปลูกฝังจิตสำนึกพนักงานในการลดการใช้ขวดพลาสติกภายในชีวิตประจำวัน ด้วยการรณรงค์การนำกระบอกน้ำหรือบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวที่ทนทานและใช้ซ้ำได้มาใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปัญหาขยะพลาสติก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ในอนาคต ธนาคารได้วางนโยบายขยายผลเพิ่มการเก็บกลับขวดพลาสติกใช้แล้วโดยร่วมมือกับ GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เพื่อนำขวดพลาสติกเข้าสู่ระบบเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และนำกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุดตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปูทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของทั้งสององค์กร ร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน

2 ม่ีค 2567
ไทยรัฐ

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
งานวิจัยของ ดร.ราฟฟาเอล มาร์เฟลลาจากมหาวิทยาลัยกัมปาเนีย ในอิตาลี พบว่า 58% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงคาโรติด ที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ใบหน้า และลำคอ มีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กทั้งระดับไมโครพลาสติกและนานาพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบโพลีเอทิลีน (PE) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ปะปนอยู่ในหลอดเลือด

“โพลีเอทิลีนและโพลีไวนิลคลอไรด์ถูกนำมาใช้งานในหลากหลายรูปแบบทั้งภาชนะบรรจุอาหาร เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งท่อน้ำ” ผู้เขียนวิจัยกล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine
 
“ไมโครพลาสติก” เพิ่มความเสี่ยง “โรคหัวใจ”
จากการติดตามผลหลังจากผ่านไป 34 เดือน พบว่า 20% ของผู้ที่มีพลาสติกในหลอดเลือดแดงมีอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ สูงกว่าคนที่ไม่มีพลาสติกในร่างกายถึง 4.5 เท่า โดยไม่รวมพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่มีพลาสติกในไขมันภายในหลอดเลือดแดง และอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และเสียชีวิตได้มากกว่าด้วยเช่นกัน

การอุดตันของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงที่คอ ถือเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ เพราะเมื่อหลอดเลือดแดงที่คออุดตันจากไขมัน เลือดจะไหลเวียนไปยังสมองน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือทำให้เสียชีวิตได้

“ผมเป็นหมอหัวใจมา 30 ปี ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ในหลอดเลือดแดงของเรา และการมีมันอยู่จะเร่งให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวเร็วขึ้น” ดร.เอริค โทพอล แพทย์หทัยวิทยาและรองประธานบริหารของ Scripps Research ในสหรัฐกล่าว

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้มีอยู่ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม อาหาร และในอากาศ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายได้

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาหลายชนิดที่ ตรวจพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกหลายประเภทในเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงลำไส้ใหญ่ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง และรก
จากการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเซลล์หัวใจ ส่งผลประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดน้อยลง หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นแบบในร่างกายมนุษย์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเริ่มแรกประกอบด้วยผู้ป่วย 304 ราย แต่มีเพียง 257 คนเท่านั้นที่อยู่จนครบกระบวนการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าไมโครพลาสติกก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่

กำจัดพลาสติก ลด “ไมโครพลาสติก”
ดร.ฟิลิป แลนดริแกน หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่า เราต้องตระหนักว่าถึงพลาสติกจะมีราคาถูกและทำให้เราสะดวกสบาย ในความเป็นจริงพลาสติกเหล่านั้นสร้างอันตรายให้แก่พวกเราได้

“เราจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่จำเป็น นานาชาติต้องมุ่งเน้นไปที่การจำกัดการใช้พลาสติกที่เป็นหนึ่งในปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” ดร.แลนดริแกนกล่าว

ในรายงานปี 2022 ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่าการกินและสูดดมไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว และพลาสติกไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดจำนวนพลาสติก

สนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยพลาสติก (Global treaty on plastic) จะมีการประกาศใช้โดย 175 ประเทศ ในปี 2568 มีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040 และจำกัดการสัมผัสไมโครพลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือต่ำ และกลุ่มเด็ก ทั้งนี้สนธิสัญญาฉบับนี้ยังอยู่ในกระบวนการร่างแผนงาน

ขณะเดียวกันในหลายประเทศเริ่มนำร่องแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และถุงพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่มา: Euro News, Reuters, The Conversation, USA Today

Bangkokbiznews
22มีค2567