ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยเข้ม 3 มาตรการ หลัง WHO ประกาศ "อีโบลา" ระบาดในคองโก เป็นภาวะฉุกเฉิน  (อ่าน 571 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรค เผย WHO ประกาศ "อีโบลา" ระบาดในคองโกเป้นภาวะฉุกเฉิน แต่ยังไม่ห้ามเดินทาง ชี้ไทยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเข้ม 3 ด้าน

วันนี้ (18 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีข่าวองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของ "อีโบลา" ในคองโก เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น ซึ่ง คร.ได้ติดตามสถานการณ์อีโบลาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง ส.ค. 2561 และเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและป้องกันโรค โดยขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการจัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่อง คือ 1.ติดตามความคืบหน้าจาก WHO เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่มาจากพื้นที่ระบาด ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และในชุมชน คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำและด่านพรมแดนทางบก 2.เตรียมพร้อมตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ในการตรวจ และ 3.มาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อม ส่วนการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายในระดับพื้นที่ คร.จะมีการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และสื่อสารไปยังอสม. กรณีพบความผิดปกติ เช่น พบผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ให้รีบแจ้งมาที่ คร.

"WHO ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ซึ่ง WHO ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด WHO ยังไม่มีประกาศห้ามเดินทาง ดังนั้น ผู้ที่จะเดินทางไปสามารถเดินทางได้ โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะลิง ค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร 3.หลีกเลี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพ 4.หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ 5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย หลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที

18 ก.ค. 2562 17:38   โดย: ผู้จัดการออนไลน์