ผู้เขียน หัวข้อ: "ฝุ่น PM-โอโซน-เบนซีน" ยังเกินมาตรฐาน สธ.ตั้งเป้าลดป่วยจากมลพิษอากาศ 10%  (อ่าน 442 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมอนามัยชี้ สารพิษบางตัวในอากาศยังเกินมาตรฐาน ทั้ง PM 10 PM 2.5 โอโซน เบนซีน ยิ่งเขตเมืองใหญ่ เขตอุตสาหกรรม เผาในที่โล่ง ยิ่งสูง ทั้ง กทม. ปริมณฑล หน้าพระลาน สระบุรี มาบตาพุด ภาคเหนือ บางส่วนยังใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดปรุงอาหาร ตั้งเป้าลดเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศร้อยละ 10

วันนี้ (1 ก.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกส่วน” และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “Princess Environment Health Award “ ว่า กรมอนามัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อม และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย จัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 เพื่อรณรงค์เนื่องในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดมลพิษ เนื่องจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศไทยปี 2561 แม้ภาพรวมจะมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังพบสารพิษบางตัวเกินค่ามาตรฐาน

"ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ฝุ่น PM 2.5 ก๊าซโอโซน และก๊าซเบนซีน เหล่านี้ยังคงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จ.สระบุรี เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จ.ระยอง และพื้นที่วิกฤตหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศภายในอาคารจากการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด เช่น ฟืน ถ่านไม้ และน้ำมันก๊าด เพื่อปรุงอาหารและสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย พบว่าร้อยละ 17.9 ยังมีการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ อาจปล่อยมลพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพเป็นประเด็นที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศและสุขภาพ เป็นประเด็นเร่งด่วนในแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564 เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ โดยเป็นความร่วมมือใน 3 ประเด็น คือ 1.ลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิด ผ่านกลไกทางกฎหมายและความร่วมมือแบบสมัครใจ 2.การลดการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ผ่านการเฝ้าระวัง สื่อสาร แจ้งเตือน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผ่านช่องทางต่างๆ และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทั้งเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการศึกษาวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศลดลง ร้อยละ 10

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปได้มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังด้วยตนเอง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ หากไม่มั่นใจตนเองต้องรีบพบแพทย์ ขณะเดียวกัน สธ.ได้เปิดคลินิกมลพิษ เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษเป็นพิเศษ นำร่องตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีแล้ว และจะกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วไปต่อไป ทั้งนี้ คาดปีต่อไปสถานการณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะลดลงและภาคเครือข่ายจะมีความเข็มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล ยังมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “Princess Environment Health Award” ด้านบุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2562 คือ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา และองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คือ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีขอนแก่น จ.ขอนแก่น และรางวัลการประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 5 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากผลงานนักเรียนและนักศึกษากว่า 80 ผลงานทั่วประเทศ

1 ก.ค. 2562 15:06   โดย: ผู้จัดการออนไลน์