ผู้เขียน หัวข้อ: เวทีจุฬาฯ เสวนา ย้ำ "กัญชา" ไม่ใช่ยารักษาทุกโรค ใช้อย่างมีสติ ลุยวิจัย  (อ่าน 751 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จุฬาฯ เสวนา ย้ำ "กัญชา" ไม่ใช้ยารักษาทุกโรค การนำมาใช้รักษาต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย มีผลชัดเจนทางวิชาการ และต้องใช้อย่างมีสติ เผยจุฬาฯ เดินหน้า 4 งานวิจัย พัฒนาสายพันธุ์กัญชา เล็งหาวิธีเอาสารสกัดกัญชาไปปลูกในต้นไม้ชนิดอื่น พ่วงวิจัยกฎระเบียบกัญชา หวังพัฒนานโยบายในอนาคต ส่วนวิจัยร่วม อ.เดชา ช่วยรู้รักษาโรคอะไรได้เพิ่มบ้าง

วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 "กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ" โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมเกิดคำถามเกี่ยวกับ "กัญชา" ว่า รักษาทุกโรคจริงหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ ทำให้เสพติด มีสารปนเปื้อน ที่จะทำให้แย่ลงหรือไม่ และคนไข้ที่จำเป็นต้องใช้จะได้ใช้เมื่อไร ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า สารสกัดจากกัญชาซีบีดี ที่ได้รับรองทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์มี 35 ประเทศ กฎหมายเปิดบางส่วน 18 ประเทศ ส่วนอีกหลายร้อยประเทศยังผิดกฎหมายอยู่ ก็ต้องมาคิดให้รอบคอบทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม กฎหมาย การจะรณรงค์เปิดกัญชาเสรีก็ต้องมาคิดร่วมกัน

"การนำกัญชามาใช้มี 4 ประเด็นที่ต้องถกกันชัดเจน คือ 1.โรคอะไรได้ผลชัดเจน 2.ความปลอดภัย เพราะแม้แต่พาราเซตามอล ก็ทำให้คนตายได้ 3.คุณภาพ สกัดถูกวิธี มีสารปนเปื้อนหรือไม่ และ 4.เข้าถึงได้อย่างไรให้เป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งตรงนี้จะช่วยกันขจัดความหลงเชื่องมงายในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่ากัญชาสามารถรักษาได้ทุกโรค และต้องไม่สุดโต่ง เพราะเมื่อคนอยากจะใช้จะมีเรื่องการหลอกลวงการค้าเข้ามา ทั้งนี้ กัญชาเหมือนยาทุกชนิดที่ใช้รักษาโรค ทำอย่างไรให้คนไข้ที่จำเป็นเข้าถึงยาเร็วที่สุด ถูกต้องปลอดภัยที่สุด ต้องมุ่งเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ ประสิทธิภาพคุณภาพความปลอดภัย และใช้อย่างมีสติ" ศ.นพ.รุ่งเกียรติ กล่าว

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาหลายชิ้น คือ 1.งานวิจัยร่วมหลายคณะของจุฬาฯ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทั้งในเรื่องของการปลูกพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้ได้สายพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ ได้สารสกัดที่ต้องการ และวิจัยให้สารสกัดกัญชาที่ต้องการไปเกิดในต้นไม้อื่น ให้ได้สารสกัดปริมาณเหมาะสม ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการปลูกกัญชา การวิจัยความปลอดภัยของสารสกัด การวิจัยพัฒนาตำรับจากกัญชาที่เหมาะสมกับการใช้ในช่องทางต่างๆ เช่น ทางปาก การเหน็บ การพ่น รวมถึงวิจัยเรื่องความปลอดภัยในการใช้ในคนและมิติต่างๆ ไม่เกิดการติด หรือเอาไปใช้ในทางที่ผิด หรือผลข้างเคียงการใช้ยาต้องติดตามได้ ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วได้ผลกับการรักษาใด เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาที่เอาไปใช้อย่างปลอดภัย

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร กล่าวว่า 2.ยังมีงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยได้รับทุนจาก สกว. เพื่อวิจัยภาพรวมเรื่องเกี่ยวกับกัญชาที่ยังไม่รู้ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของประเทศ จะได้ไม่ต้องเริ่มนับศูนย์ใหม่ เช่น งานวิจัยโรดแมปกัญชา ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงการตลาด นโยบายกัญชา เพราะสุดท้ายแล้วหากจะมีนโยบายกัญชาอะไรออกมาก็จะเสนอแนะได้ 3.งานวิจัยประเมินกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับกัญชา ว่า มีความเหมาะสมระดับไหน มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ถ้าเอาไปปรับนโยบายต่างๆ

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร์ กล่าวว่า และ 4.งานวิจัยร่วมกับนายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อดูการใช้กัญชาของหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย ใช้ในโรคและอาการอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ โดยเป็นงานวิจัยที่เกิดจากการใช้จริง เป็นโอกาสที่จะทราบว่า โรคอาการต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ใช้ได้ผลหรือไม่

2 พ.ค. 2562 16:45   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
คณะกรรมการฯ เห็นชอบ "น้ำมันกัญชา" สูตร อ.เดชา เป็นตำรับยาหมอพื้นบ้าน เตรียมชงคณะกรรมอำนวยการฯ และคกก.ควบคุมยาเสพติดให้โทษ พิจารณาต่อ

วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมและการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาและกระท่อมปรุงผสมอยู่ในหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐและเอกชน ซึ่งมีการพิจารณาตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมเฉพาะรายของหมอพื้นบ้าน โดยหนึ่งในนั้นมีการพิจารณาน้ำมันกัญชาสูตรของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการหารือนอกรอบถึงเรื่องของการปรับปรุงสูตร

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การพิจารณาตำรับยาแผนไทยของหมอพื้นบ้านที่มีส่วนผสมของกัญชา มียื่นขอรับการพิจารณาทั้งสิ้น 68 ตำรับ ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาฯ ได้ดำเนินการพิจารณาตำรับยาของหมอพื้นบ้านที่ส่งเข้ามาแล้ว 2 ครั้ง รวมจำนวนตำรับยาที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาทั้งสิ้น 9 ตำรับ ผ่านความเห็นชอบ 8 ตำรับ และไม่เข้าเกณฑ์ 1 ตำรับ โดย 8 ตำรับที่ผ่านความเห็นชอบ มีตำรับน้ำมันกัญชาของ นายเดชา รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะรายงานเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อไป


12 มิ.ย. 2562 17:40   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อภ.จับมือกรมแพทย์แผนไทย - มก. วิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย ได้มาตรฐานเมดิคัล เกรด ปลอดเชื้อ ปลอดโรค ได้สารสำคัญสม่ำเสมอ ตั้งเป้าใช้ปรุงยากัญชา 16 ตำรับ จ่อปลูกที่ม.เกษตรฯ จ.สกลนคร

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รศ.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มก. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์

นพ.มรุต กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ กรมฯ จะนำกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีพิษ ไม่มีสารอันตรายจากเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา คุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรด นำไปใช้ในตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาผสม ทั้ง 16 ตำรับ เพื่อใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคต่อไป รวมถึงจะเป็นหน่วยงานกลาง ในการขับเคลื่อน ประสานงาน ให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องนำวัตถุดิบจากกระบวนการปลูก การแปรรูป การสกัด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัย การรักษาพยาบาล การจัดเก็บข้อมูลการวิจัยและการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการรักษาด้วยช่องอื่นด้วย

“เบื้องต้นเราผ่านตำรับยาหมอพื้นบ้านที่มีกัญชาผสมไป 8 ตำรับ ยังเหลืออีก ก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการ แต่ก็หวังจะใช้กัญชาสายพันธุ์ไทยที่ร่วมมือกันครั้งนี้มาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นสายพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดเชื้อโรค ปลอดโลหะหนัก เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้” นพ.มรุต กล่าว

​​
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาวิธีกรปลูก และวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จากนั้นก็จะนำกัญชาที่ได้สายพันธุ์ร่วมกันส่งต่อไปต่อไปยังกรมการแพทย์แผนไทยฯ นำไปใช้ในตำรับแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์ใช้ในการวิจัยทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสำหรับการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) เป็นการรักษาผู้ป่วยควบคู่การเก็บข้อมูลการวิจัย รวมถึงการรักษาด้วยช่องทางอื่นด้วย

รศ.สิรี กล่าวว่า มก.จะมีบทบาทในการพัฒนาวิธีการเพาะปลูกพันธุ์พืชกัญชาในประเทศไทย ให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อน เพื่อนำไปใช้ในตำรับยาแผนไทย รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้ได้สายพันธุ์ที่ได้ปริมาณสารสำคัญที่คงที่ในการเพาะปลูก เพื่อนำไปผลิตยาและใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับโรคต่อไป โดยในเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ปลูก และวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ​

13 มิ.ย. 2562 17:20   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
อภ.เก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมียแล้ว หลังซูมชัดๆ ด้วยแว่นกำลังขยาย 100 เท่า สี "ไตรโคม" ของดอกมีสารสำคัญแล้ว เผยเตรียมผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปผลิตสารสกัด "น้ำมันกัญชา" ระดับเมดิคัลเกรด ใช้หยดใต้ลิ้น เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกรมการแพทย์ใน ก.ค.นี้

วันนี้ (19 มิ.ย.) นพ.โสภณ เฆมธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปลูกและสกัดกัญชา ว่า ขณะนี้ต้นกัญชาเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมเก็บเกี่ยวนำเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว โดยวันนี้ได้เริ่มเก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมีย พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการสกัดผลิตเป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้น โดยล็อตแรกนี้จะทยอยส่งให้กรมการแพทย์นำไปใช้รักษาผู้ป่วยในโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ (Special Access Scheme : SAS) และเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป ในกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษาโดยมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ผู้ป่วยภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาวิจัยเชิงลึก ที่ต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายรวมทั้งกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาอาจ มีประโยชน์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ทั้งนี้ สารสกัดน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ในครั้งนี้จะนำไปใช้กับกับผู้ป่วยผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนนิรโทษกรรมไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมของกรมการแพทย์

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า ลักษณะของกัญชาที่มีความเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่นั้นจะมีไตรโคมที่มีลักษณะคล้ายเรซิ่นใสเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น พร้อมเก็บเกี่ยว โดยไตรโคมเป็นส่วนสำคัญที่สุดของต้นกัญชา ที่สะสมสารสำคัญของกัญชาที่ประกอบด้วย THC และ CBD และสารอื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด สำหรับขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวนั้น ก่อนที่จะมีการเก็บเกี่ยวองค์การฯจะต้องมีการตรวจสอบสีของไตรโคม ด้วยแว่นขยายไม่น้อยกว่า 100 เท่า เพื่อให้เกิดความแม่นยำ จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งภายในห้องสะอาดที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสม จากนั้นนำไปสกัดด้วยกระบวนการมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตยาที่ดีหรือ GMP ( Good Manufacturing Practice ) ผลิตเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น ทยอยส่งให้กรมการแพทย์ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

9 มิ.ย. 2562 17:57   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สถาบันประสาทฯ เตรียมวิจัย "น้ำมันกัญชา" บรรเทาอาการลมชักในเด็ก-กล้ามเนื้อหดเกร็งผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบ ส่วนกลุ่มพาร์กินสัน สมองเสื่อมมีโรคจิต และปวดเส้นประสาทใบหน้า ต้องวิจัยเทียบยาจริงยาหลอก ย้ำแค่บรรเทาอาการไม่ได้รักษาให้หายขาดได้ เล็งวางเกณฑ์จ่ายยากัญชา

พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวถึงการศึกษาการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรคทางระบบประสาท ว่า การศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.การใช้กัญชารักษาโรคที่มีงานวิจัยรองรับแล้วว่ามีประโยชน์ คือ ลมชักในเด็กที่ดื้อต่อการรักษา และภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบส่วนกลาง ในส่วนนี้ไม่ใช่การวิจัยศึกษาเปรียบเทียบ แต่จะเป็นการให้ยากัญชาในผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ยารักษาปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาโรคและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า และ 2.กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ โดยจะศึกษาวิจัยใน 3 โรค คือ โรคพาร์กินสันที่ควบคุมอาการไม่ได้ , โรคสมองเสื่อมที่มีโรคจิตหรือภาวะทางจิตร่วมด้วย และปวดเส้นประสาทใบหน้า โดยทั้ง 3 โรคจะต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบเคสผู้ป่วยที่ได้รับยาจริง ยาหลอก ก่อนจะนำมาแปรผล และสรุปผล

"ทั้ง 2 กลุ่มเป็นการศึกษาเพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจากโรค ยังไม่ใช่เรื่องการรักษาให้หายขาดจากโรค เหมือนกรณีผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดมากๆ เราให้ยาพาราเซตามอลก็เพื่อลดอาการปวด ไม่ได้ไปแก้ปัญหาเนื้องอกในสมองซึ่งเป็นต้นเหตุ การรักษาต้นเหตุ คือ ต้องตัดเนื้องอกออก เป็นต้น สำหรับยากัญชาที่ใช้จะมีสูตรที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละโรค ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โครงการได้ เพราะยังไม่ทราบว่า น้ำมันกัญชาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะจัดสรรให้มีจำนวนเท่าไร เพราะที่ระบุว่าล็อตแรก 2,500 ขวดก็ไม่ได้ให้สถาบันประสาทวิทยาแห่งเดียว แต่จะกระจายให้หลายหน่วยงาน หากทราบรายละเอียดตรงนี้ก็จะสามารถกำหนดให้ชัดเจนและเดินหน้าโครงการได้ โดยจะไม่เริ่มจนกว่าจะได้ยามา เบื้องต้นคาดว่าน่าจะ ก.ค.หรือ ส.ค." พญ.ทัศนีย์ กล่าว

พญ.ทัศนีย์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่กังวล คือ อภ.จะผลิตยาให้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าได้ล็อตแรกล็อตเดียวแล้วไม่มีอีกเลย คนไข้จะไม่ได้ยาในระดับที่สูงเพียงพอ เกิดการขาดยา ต้องหยุดยา จะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา อาจทำให้เกิดการแปรผลลำบาก แต่ตอนนี้ทางกรมการแพทย์ได้มีการทำเอ็มโอยูกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฯลฯ เพื่อเพาะปลูกกัญชาและส่งให้ อภ.ผลิต ทั้งนี้ สถาบันประสาทฯ ได้ตั้งคลินิกเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาด้วยกัญชา แยกจากคลินิกเฉพาะทางด้านอื่นๆ เพราะปัจจุบันกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 ต้องมีการควบคุม ทั้งการได้มา การเก็บรักษา และการจ่าย คนไข้เอายาไปกี่ขวด กลับมาแล้วต้องตรวจสอบ แต่ยังไม่ได้หารือกันว่า อาจจะต้องถึงขั้นนำขวดยามาคืนด้วยหรือไม่ เพราะตามปกติ หากเป็นยาเสพติดประเภทอื่น เช่น มอร์ฟีน เวลาจะเบิกขวดใหม่ต้องเอาขวดเก่ามาคืน กัญชาก็อาจจะอิงตามมาตรฐานเบิกจ่ายมอร์ฟีน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือวางหลักเกณฑ์

19 มิ.ย. 2562 20:01   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รพ.อภัยภูเบศร สกัดกัญชาของกลางปนเปื้อนแคดเมียม ด้วยวิธี SFE พบมีความปลอดภัย แคดเมียมไม่เกินมาตรฐาน ามารถใช้ทำยาได้ จ่อผลิต 1.54 แสนขวด กระจายให้ รพ.ที่สนใจ คาดไม่เกิน 2 เดือนได้ใช้ พร้อมลงมือปลูกกัญชา 16 ต้นแรก ใช้สองระบบปลูก

นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงกรณีได้รับกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จำนวน 662 กิโลกรัม ซึ่งปนเปื้อนแคดเมียม มาทดลองสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ว่า จากการทบทวนเอกสารการวิจัยและคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา พบว่า มีวิธี Supercritical fluid extraction (SFE) ที่น่าจะเป็นการสกัดที่ได้สารสำคัญและมีความปลอดภัยสูง จึงได้นำกัญชาของกลางมาทดลองสกัด พบว่า ได้สารสกัดที่มีปริมาณแคดเมียม 0.02 ppm ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยตามมาตรฐานของอาเซียน จะต้องมีแคดเมียมน้อยกว่า 0.3 ppm ถือเป็นข่าวดีของผู้ป่วยที่กำลังรอคอยกันเป็นจำนวนมาก

วันเดียวกัน นพ.นำพล พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง ร่วมเพาะต้นกัญชาล็อตแรก หลังจากได้รับอนุญาตให้ปลูกได้ โดยมี น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมด้วย

นพ.นำพล กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา โดยเริ่มแรกปลูกจำนวน 16 ต้น โดยใช้สายพันธุ์ที่เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนบ้านดงบังครอบครอง ซึ่งมีทีเอชซีเด่น ในระยะแรกจะทำในในตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากต้องการทำเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรที่มีเงินลงทุนไม่สูง ซึ่งในระยะถัดไปจะพัฒนาการปลูกในระบบกรีนเฮาส์ ต้นทุนต่ำ ร่วมกับบริษัทเอกชนไทยที่มีประสบการณ์ เพื่อขยายขนาดการปลูกให้พอเพียงกับความต้องการของตลาด

นพ.นำพล กล่าวว่า วันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันสถาปนาโรงพยาบาลครบ 78 ปี เราได้มีการจัดประชุมวิชาการ และเตรียมพร้อมนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียด ตั้งแต่ขั้นตอนการทบทวนเอกสารและถอดความรู้จากปราชญ์พื้นบ้าน การปลูก การควบคุมคุณภาพ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบันมาร่วมให้ความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้อง และจะมีการเปิด คลินิกกัญชา โดยในระยะแรก เป็นการจ่ายซีบีดีออยล์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักและพาร์กินสันที่ควบคุมไม่ได้ โดยผู้ป่วยทุกรายต้องผ่านการคัดกรองและพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการอบรมการใช้กัญชาจากกรมการแพทย์แล้ว รวมทั้งมีการจ่ายและให้คำแนะนำจากเภสัชกรแก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคล

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า อภัยภูเบศรศึกษาเรื่องการปลูกกัญชามานานพอสมควร ทั้งจากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้และเอกสารจากต่างประเทศ จนมั่นใจว่าน่าจะปลูกได้ จึงได้ทำโครงการไปขออนุญาต การปลูกเราใช้สองระบบผสมกัน คือ ระบบรากลอย (Aeroponics) และรากจม (Deep water culture) โดยรากลอยใช้ตอนทำใบ เพื่อทำให้ต้นเติบโตเร็ว ส่วนรากจมใช้เพื่อเร่งให้ออกดอก โดยการทำให้รากของพืชดูดอาหารได้อย่างทั่วถึง ทำให้การสร้างดอกมีคุณภาพและเร็วขึ้น ในห้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและแสง เพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญ และลดการปนเปื้อน ก็ค่อนข้างตื่นเต้นสำหรับการปลูกที่กำลังจะเริ่ม และต้องรอดูว่าผลจะเป็นไปตามที่ผู้รู้ทั้งหลายได้กล่าวไว้หรือไม่



21 มิ.ย. 2562 16:35   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ภาคประชาชน ร่วมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการถึงยากัญชาของผู้ป่วย ด้านการปลูก/ผลิต/แปรรูป และด้านการวิจัย ย้ำควรมีสิทธิได้รู้ข้อมูลการรักษา การเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ แพทย์แผนไทยมีความรู้รักษา ควรให้กัญชาอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ

วันนี้ (25 มิ.ย.) ในการประชุมระดมความเห็น “รู้ทันกัญชา คลายปมปัญหา เดินหน้าเพื่อประชาชน” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีข้อเสนอจากภาคประชาชน เรื่อง การเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรถูกปิดกั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผลแล้ว และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าการใช้กัญชาอาจได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม กัญชาควรถูกมองเป็นยาที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ต้องใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้อย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.ผู้ป่วยมีสิทธิในการได้รับข้อมูลด้านการรักษาด้วยกัญชา และต้องสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้
2.ส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาหมอชาวบ้าน ในการรักษาด้วยกัญชา 3.ควรมีระบบควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม 4.ควรให้กัญชาเป็นยาที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ขณะที่ ด้านการปลูก ผลิต แปรรูป มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1.ให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาได้ ทั้งนี้ อาจปลูกได้โดยการรวมกลุ่มหรืออยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจริง โดยมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด จึงจะให้ปลูกกัญชาได้ 2.พัฒนาสายพันธุ์ไทย และพัฒนาวิธีการปลูกที่มีคุณภาพมาตรฐาน ที่ชุมชนสามารถปลูกและนำไปใช้ได้ โดยร่วมมือกับกรมแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัย
3.พัฒนาโมเดลการปลูกที่เหมาะสมในชุมชน เช่น การให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นศูนย์กลางการปลูก ผลิต และใช้อย่างปลอดภัยในพื้นที่ และพัฒนาโมเดลของการรวมกลุ่มในพื้นที่เขตเมือง
4. ให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนและเร่งผลักดัน การรวมกลุ่มของผู้ป่วยหรือวิสาหกิจชุมชนในการเพาะปลูกกัญชาอย่างจริงจัง และควบคุมอย่างรัดกุมในทุกๆขั้นตอน 5.ควรให้ความรู้ด้านการผลิต สกัด และใช้กัญชา โดยหน่วยงานของรัฐให้แก่ผู้ต้องการปลูก ผลิต แปรรูป ที่ได้รับอนุญาตพร้อมทั้งจัดระบบรับซื้อจากภาคประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายและราคาถูก และปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม 6. มีศูนย์กลางกระจายความรู้ให้ประชาชนที่ปลูกเพื่อการค้าและกระจายศูนย์ควบคุมไปพร้อมๆกันเพื่อป้องกันการใช้หรือจำหน่ายที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ควรกระจุกอำนาจการควบคุมหรือจำหน่ายอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

ด้านการศึกษาวิจัย มีข้อเสนอดังนี้
1.วิจัยทางคลินิก ในการรักษาโรคที่ยังไม่รับรอง เช่น เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า สะเก็ดเงิน โรคตา
 2. การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของกัญชา ปริมาณสารสำคัญและสารปนเปื้อนที่อาจมีในกัญชา ทีราคาเหมาะสม
 3. วิจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม

25 มิ.ย. 2562 16:47   โดย: ผู้จัดการออนไลน์