ผู้เขียน หัวข้อ: ผอ.รพ.รามาฯ แจงเก็บเงินค่ายานอกบัญชี เพื่อให้ใช้ยาสมเหตุผล หลังต้องแบกภาระ  (อ่าน 984 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีชี้แจงกรณีประกาศเก็บเงินค่ายานอกบัญชียาหลักผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคม เผยเพื่อให้เกิดความสมเหตุสมผลบริหารยาเป็นระบบมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ต้องแบกรับภาระปีละ 300-400 ล้านบาท ยันสิทธิผู้ป่วยไม่ได้ลดลง และถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายก็ยังมีช่องทางให้มูลนิธิรามาธิบดีเข้ามาช่วยสนับสนุน

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลได้ออกประกาศสำหรับผู้ป่วยสิทธิ 30 บาท และสิทธิประกันสังคมว่า ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป มีการปรับระบบการจ่ายเงินตามสิทธิพื้นฐาน โดยกรณีใช้ยานอกสิทธิพื้นฐานต้องชำระค่ายาเอง และกรณีไม่สามารถชำระค่ายาได้ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตามสิทธิหรือเพื่อส่งต่อให้งานสังคมสงเคราะห์พิจารณา โดยระบุว่าสาเหตุที่ต้องออกประกาศนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลรามาธิบดีทำไม่เหมือนโรงพยาบาลอื่น โดยได้แบกรับค่ายานอกบัญชียาหลักมาโดยตลอดประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อทีมคณะผู้บริหารพิจารณาในประเด็นนี้แล้วเห็นว่าคงต้องกลับสู่โลกความเป็นจริง ประกอบกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลได้พัฒนาจนเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้นจึงต้องกำกับการใช้ยาให้เป็นไปตามกติกา เมื่อแพทย์สั่งยาทางคอมพิวเตอร์ก็จะมีข้อมูลที่แยกแยะให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น มีความสมเหตุสมผล โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการการใช้ยาได้เป็นระบบยิ่งขึ้น
นพ.สุรศักดิ์ ยืนยันว่า สิทธิของผู้ป่วยบัตรทองและประกันสังคมยังคงเท่าเดิม ไม่มีอะไรลดลง และในส่วนของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักจริงๆ ก็จะมีช่องทางเปิดให้มูลนิธิรามาธิบดีเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ตราบใดที่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีนั้นๆ
"สิทธิคนไข้ไม่ได้ลดลงและไม่ได้ตัดความช่วยเหลือ เพียงแต่ขอให้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น ถ้าคนไข้จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีก็มีมูลนิธิฯเป็นคนคัดกรอง บางคนอาจจ่ายได้บางส่วน ส่วนที่เหลือมูลนิธิก็ช่วยรับผิดชอบผ่านการสังคมสงเคราะห์ และคำว่าสังคมสงเคราะห์นี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องอนาถา เพียงแต่ต้องมีใครสักคนเข้ามาแบกรับภาระนี้เพื่อให้คนไข้ได้เข้าถึงยา" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากโรงพยาบาลรามาธิบดีได้เผยแพร่ประกาศดังกล่าวออกไป ได้เกิดเสียงวิพากษ์ในเฟสบุ๊กของโรงพยาบาลอย่างมาก จนวันที่ 5 เม.ย.62 ทางโรงพยาบาลจึงได้โพสต์เฟสบุ๊กอีกครั้งว่า "ขออภัย สำหรับการประกาศที่มีข้อความสั้นและไม่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาธิบดี" พร้อมโพสต์ประกาศชี้แจงฉบับใหม่ โดยระบุว่าตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2562 เป็นต้นไป โรงพยาบาลรามาธิบดีได้นำระบบการจ่ายยาด้วยคอมพิวเตอร์ระบบใหม่มาใช้งาน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมตามสิทธิการรักษาของตนอย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดความไม่สะดวกในการย้อนกลับไปปรึกษาแพทย์ โดยผู้ป่วยจะได้รับยาอย่างสาเหตุสมผลตามมาตรฐานการรักษาและความจำเป็นของผู้ป่วย
หากผู้ป่วยต้องการได้รับยานอกสิทธิการรักษาของตนเอง โรงพยาบาลจะคิดค่ายาในส่วนดังกล่าว หากไม่สามารถชำระได้ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนยาได้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังคงไว้ซึ่งแนวทางช่วยเหลือค่ายาโดยมูลนิธิรามาฯเหมือนเดิม โรงพยาบาลรามาธิบดีมุ่งมั่นพัฒนาระบบเพื่อความสะดวกคล่องตัวของผู้ป่วยและให้การรักษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เหมาะสมและเป็นธรรม จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

Fri, 2019-04-05 17:46 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
สปสช.แจงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม กรณีแพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักซึ่งเป็นไปตามข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ เผยกรณี รพ.รามาธิบดีออกประกาศปรับระบบจ่ายยา เป็นการปรับระบบสารสนเทศการบริหารจัดการยาของ รพ.เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์สั่งจ่ายยา
สืบเนื่องจากกรณีที่ รพ.รามาธิบดีออกประกาศปรับระบบการจ่ายยาตามสิทธิพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยสิทธิ 30 บาทและสิทธิประกันสังคม กรณีใช้ยานอกสิทธิพื้นฐานต้องชำระค่ายาเอง และกรณีไม่สามารถชำระค่ายาได้ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตามสิทธิ หรือเพื่อส่งพบงานสังคมสงเคราะห์พิจารณา โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 เป็นต้นไปนั้น

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ด้านยาและเวชภัณฑ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทนั้น กำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการจ่ายยาให้ผู้ป่วยนั้นเป็นดุลยพินิจของแพทย์ตามข้อบ่งใช้ทางการแพทย์และแนวทางเวชปฏิบัติ และรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ก็เป็นยาที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีประสิทธิผลและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ตลอดจนมีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีมีความจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักซึ่งเป็นไปตามข้อบ่งใช้ทางการแพทย์อันเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลนั้น ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในกรณีประกาศของโรงพยาบาลรามาธิบดีครั้งนี้ จากการประสานงานทราบว่าเป็นการปรับระบบสารสนเทศการบริหารจัดการยาของโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์สั่งจ่ายยา ไม่ใช่การลดสิทธิของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงโรงพยาบาลทุกแห่งก็ดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพโดยไม่ได้นำปัจจัยค่ารักษาพยาบาลมาเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์นั้นมีทั้งบทบาทในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ด้วย

Sat, 2019-04-06 08:48 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
ประกันสังคมแจงผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม หากแพทย์สั่งยานอกบัญชียาหลักตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เผยจากการประสานกับ ผอ.รพ.รามา พบว่าเป็นการปรับระบบสั่งจ่ายยาของ รพ.มาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อแยกกลุ่มยาให้แพทย์สั่งใช้ยาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจงกรณีประกาศของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จะมีการปรับระบบการจ่ายยาตามสิทธิพื้นฐานของผู้ป่วยสิทธิ 30 บาท และผู้ใช้สิทธิประกันสังคม กรณีใช้ยานอกสิทธิพื้นฐานต้องชำระค่ายาเอง และกรณีไม่สามารถชำระค่ายาได้ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตามสิทธิ หรือเพื่อส่งสังคมสงเคราะห์พิจารณานั้น สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยได้ประสานกับ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปรับระบบการสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้แยกกลุ่มยาให้แพทย์สั่งใช้ยาได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีในส่วนของผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ. ตามสิทธิประกันสังคมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยการรักษาพยาบาลหรือการสั่งจ่ายยาต้องอยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา การสั่งจ่ายยานั้นต้องเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือหากแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีความจำเป็นในการรักษาโรคนั้นๆ ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

Sat, 2019-04-06 08:11 -- hfocus