ผู้เขียน หัวข้อ: เช็กลิสต์! “ผัก” ที่อาจเป็น “พิษ” ต่อผู้ป่วย 4 โรคนี้  (อ่าน 709 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
                  ขึ้นชื่อว่า “ผัก” ใครๆ ก็ต้องคิดว่ามีประโยชน์ครบครัน กินได้กินดี กินเท่าไรก็สร้างแต่ประโยชน์ ไฉนเลยจะรู้ว่า หากกิน “ผัก” ที่มีสารที่ไม่ถูกกับโรคที่เราเป็นนั้นจะมีความเสี่ยงมากแค่ไหน และ “ผัก” ที่ว่ามีประโยชน์ร้อยแปดก็อาจกลายเป็น “พิษ” ได้โดยที่เราไม่รู้ตัว ฉะนั้นจึงมี “ผัก” ที่คนเป็น 4 โรคนี้ควรหลีกเลี่ยง เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย
โรคไต ผู้ป่วยโรคไต ควรเลี่ยงผักผลไม้ที่มีสารของกรดออกซาลิกสูง เช่น มันสำปะหลัง ดอกกะหล่ำ ผักโขม เพราะโดยทั่วไปกรดออกซาลิกจะพบได้ในผักผลไม้ เป็นกรดที่มีความเป็นกรดสูงกว่ากรดน้ำส้ม หากสะสมอยู่ในร่างกายก็จะจับตัวกับแคลเซียม ตกตะกอนเป็นผลึกแคลเซียมออกซาเลตไปสะสมเป็นก้อนนิ่วในไตได้  ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรเลี่ยงผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น หน่อไม้ ใบขี้เหล็ก ทุเรียน มะละกอ เพราะหากได้รับโพแทสเซียมมากไปไตจะต้องทำงานหนักเพื่อขับแร่ธาตุออกมา แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีผักผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้ เช่น ถั่วฝักยาว มะระ หอมใหญ่ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี และผักสีอ่อนอื่นๆ เพราะจะมีโพแทสเซียมต่ำ

                  โรคธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางที่เกิดจากความผิดปกติพันธุกรรม มีภาวะธาตุเหล็กเกินทำให้เป็นอันตราย อาหารที่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียควรเลี่ยง คือ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ รวมถึงผักด้วย เช่น ผักกูด กะเพราแดง ถั่วฝักยาว ผักแว่น พริกหวาน เห็ดวัว ใบแมงลัก กระถิน เป็นต้น ผู้ป่วยมักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก และเม็ดเลือดแดงอ่อนแอ จึงควรกินผักที่มีกรดโฟลิกสูงเพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ตำลึง กะหล่ำ มะเขือเทศ คะน้า ผักที่มีแคลเซียมสูง เช่น ใบแค ใบยอ ผักโขม ผักหวาน กวางตุ้ง และอาหารอื่นๆ ที่มีโปรตีนและวิตามินสูง

                   โรคไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนในการทำให้กระบวนการในการใช้พลังงานและการเผาผลาญเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลถึงระบบการเผาผลาญและการใช้สารอาหารในร่างกายด้วย ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ควรเลี่ยงผักที่อยู่ในตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว บรอกโคลี คะน้า หัวไชเท้า ซึ่งจะทำให้เกิดคอหอยพอกได้ แต่สารพิษเหล่านี้จะถูกทำลายโดยการต้ม ดังนั้นจึงควรกินกะหล่ำปลีสุกมากกว่ากะหล่ำปลีดิบ

                    โรคกระเพาะและลำไส้

ผู้ป่วยโรคกระเพาะและลำไส้จะมีอาการปวดท้อง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้น ผักที่ไม่ควรกิน คือ พริก เพราะพริกมีสารแคปไซซิน ซึ่งมีความเผ็ดร้อน พบมากในพริก หรือบริเวณไส้แกนกลาง พบในพริกแทบทุกชนิด ผู้ป่วยจึงควรเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เพราะจะสร้างความระคายเคืองให้กระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย อาหารที่สามารถกินได้ เช่น ปลา ไก่ กุ้ง ที่ย่อยง่าย รวมถึงผักและสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ กระเจี๊ยบเขียว ลูกยอ หัวปลี มะขามป้อม กล้วย ฝรั่ง เป็นต้น


ข่าวโดย : ศศิธร ตะนัยสี
เผยแพร่: 21 มี.ค. 2562 18:29   โดย: ผู้จัดการออนไลน์