ผู้เขียน หัวข้อ: สภาเทคนิคการแพทย์ ยื่นรื้อฟ้องคดี พยาบาลนครปฐมเจาะเลือด หลังศาลสั่งไม่ฟ้อง  (อ่าน 1948 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“สหภาพพยาบาล” ถามเจตนา “สภาเทคนิคการแพทย์” กรณียื่นรื้อฟ้องคดี “พยาบาลนครปฐมเจาะเลือดตรวจสุขภาพ” หลังศาลแขวงนครปฐมสั่งไม่ฟ้อง ชี้เป็นประเด็นทำวุ่น กระทบพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งอาจสร้างภาระงานนักเทคนิคการแพทย์เพิ่มในอนาคต กระทบประชาชน พร้อมตั้งข้อสังเกตต้นตอผลประโยชน์ “เปิดแลปเอกชนรับตรวจ” หรือไม่

นางสาวปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อรื้อคดีกรณีพยาบาลเจาะเลือดตรวจสุขภาพที่จังหวัดนครปฐม สหภาพพยาบาลฯ มองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว กระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพสุขภาพที่มีความเหลื่อมล้ำในการทำงานร่วมกัน เช่น แพทย์ให้การรักษา แต่พยาบาลสามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ รวมถึงการเจาะเลือดที่สามารถทำได้ทุกวิชาชีพและวิชาชีพพยาบาลมีมาถึง 122 ปีแล้ว ไม่คิดว่าพยาบาลจะถูกจับเพราะการเจาะเลือด กรณีของพยาบาลเจาะเลือดถูกจับที่จังหวัดนครปฐม จึงไม่เพียงเป็นกรณีแรกของประเทศแต่ยังเป็นกรณีแรกของโลกด้วย เพราะการเจาะเลือดโดยพยาบาลที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการเจาะเลือด แม้แต่ในกลุ่มเด็กเล็กพยาบาลก็เป็นผู้เจาะเลือดให้ กรณีผู้ป่วยเร่งด่วนในห้องฉุกเฉิน รวมถึงเป็นผู้เก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งคนเจาะเลือดให้กับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ใช่นักเทคนิคการแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์จะทำหน้าที่ในการวินิจฉัยในห้องแลป
ทั้งนี้ ในคดีนี้ก่อนหน้านี้ศาลแขวงนครปฐมได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากนายกสภาเทคนิคการแพทย์ได้ให้การว่า การเจาะเลือดเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเท่านั้น ไม่ได้ก้าวล่วงถึงการตรวจวิเคราะห์ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยสมบูรณ์ เป็นเพียงการเจาะเลือดใส่หลอดเท่านั้น ทั้งยังเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพที่ส่งไปยังห้องปฏิบัติการของเอกชนที่ไม่ได้มีเจตนาแปรผล โดยอัยการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวิชาชีพจึงอยากให้ไปพูดคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนายกสภาเทคนิคการแพทย์และสภาการพยาบาลได้พูดคุยกันแล้ว
ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เรียก นพ.สสจ.นครปฐมพูดคุยเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจสร้างผลกระทบตามมา
อย่างไรก็ตามจากที่มีความพยายามรื้อฟ้องคดีนี้ใหม่และจะใช้ประเด็นโต้แย้งว่า “นายกสภาเทคนิคการแพทย์” ไม่ใช่ “สภาเทคนิคการแพทย์” รวมทั้งโต้แย้งว่าคำให้การของนายกสภาเทคนิคการแพทย์ก่อนหน้านี้ ยังเป็นการให้การที่ไม่ตรงกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เห็นว่านายกสภาเทคนิคการแพทย์เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และดูทั้งในเรื่องข้อตกลงและกติกาต่างๆ การตัดสินใดๆ ยังคิดถึงสมาชิกนักเทคนิคการแพทย์ จึงให้การต่อศาลตามประเด็นข้างต้น เพราะไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาอาจกระทบต่อนักเทคนิคการแพทย์ซึ่งจะต้องรับภาระงานเจาะเลือดทั้งหมด
นางสาวปุญญิศา กล่าวว่า ความพยายามในการรื้อคดีนี้ ส่วนตัวมองวาเป็นเรื่องกลัวการเสียผลประโยชน์ในการเปิดแลปตรวจหรือไม่ ซึ่งสหภาพพยาบาลฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม เพื่อต้องการทราบว่าใครที่ต้องการรื้อฟ้องคดีนี้ และหากมีการรื้อฟื้นคดีจริงๆ เชื่อว่าประชาชนจะเป็นผู้ที่ตอบคำถามนี้ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อชีวิต เนื่องจากตามโครงสร้าง รพ.สต. และคลินิกหมอครอบครัวไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ ขณะที่นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐมีจำกัด คำถามคือแล้วใครจะเป็นคนเจาะเลือดและตรวจเลือดผู้ป่วย ส่วนตัวเชื่อว่านี่จะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอาท์ซอร์ส (Outsource) ที่ทำในเรื่องแลปเข้ามาทันที โดยจะมีการเปิดบริษัทเอกชนเพื่อรองรับ ดังนั้นจึงเป็นมุมมองว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความพยายามรื้อฟื้นคดีนี้
ส่วนกรณีหนังสือตอบโดยกองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องประกาศสภาการพยาบาล เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับพยาบาลในการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์นั้น เป็นเพียงการตอบตามเนื้อผ้าในข้อกฎหมาย ซึ่งปกติ พ.ร.บ.จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นการตอบที่ไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ทั้งที่ควรมีการชะลอการตอบ โดยเรียกทั้ง 2 สภาวิชาชีพมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปก่อน ซึ่งการตอบหนังสือไปเช่นนี้ก็เหมือนกับได้ตัดสินไปแล้ว
ขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ในระบบสุขภาพต่างออก พ.ร.บ.ของตนเองเพื่อคุ้มครอง ซึ่งวิชาชีพพยาบาลมี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตั้งแต่ปี 2528 แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงจึงไม่ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง ทำให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายของวิชาชีพอื่นที่ออกมาภายหลัง เช่นกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงกรณี พ.ร.บ.ยา ที่พยาบาลถูกจำกัดจ่ายยาไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลฯ เพื่อให้รองรับการทำงาน เพราะในกรณีพยาบาลเจาะเลือดออกหากมีการฟ้องร้องจริง พยาบาลคงต้องติดคุกแน่ แม้ว่าจะมีประกาศหลักเกณฑ์รองรับ เพราะในชั้นศาล พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายแม่จะใหญ่กว่าประกาศหลักเกณฑ์รวมถึงกฎกระทรวงเสมอ
“วันนี้สภาเทคนิคการแพทย์ต้องทบทวนว่าการทำงานที่เหลื่อมกันระหว่างวิชาชีพคืออะไร ต้องการอะไร เพื่อใคร และทำไมจึงต้องการที่จะรื้อคดีนี้อีก เพราะสภาเทคนิคการแพทย์ไม่ได้เสียหายอะไรเลยจากพยาบาลที่เจาะเลือดตรวจสุขภาพในกรณีนี้ เพราะพยาบาลทำหน้าที่แค่การเจาะเลือดเท่านั้น ไม่ได้นำไปตรวจวิเคราะห์ผล ซึ่งคงต้องตอบสังคมว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีอะไรที่หมกเม็ดหรือไม่” เลขาธิการสหภาพพยาบาล กล่าวและว่า ขณะเดียวกันสภาการพยาบาลเองต้องทบทวนแล้วว่า กฎหมายที่ถืออยู่ทันสมัยรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเดิมใช้มา 34 ปีแล้ว ควรมีการปรับปรุง ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพพยาบาลฯ ได้นำเสนอไปหลายครั้งแล้ว

Sat, 2019-04-06 07:47 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
แจงชัด รื้อคดี “พยาบาลเจาะเลือด” สภาเทคนิคการแพทย์ไม่เกี่ยว เป็นเรื่อง สสจ.นครปฐม หารืออัยการจังหวัด รับเคยทำหนังสือโต้แย้งคำให้การนายกสภาเทคนิคบิดเบือน และตอบข้อหารือ สบส. การเจาะเลือดเป็นการประกอบวิชาชีพในฐานะองค์กรวิชาชีพเท่านั้น หนุน “สภาการพยาบาล” ปรับข้อบังคับเปิดช่องพยาบาลเจาะเลือดได้อย่างถูกต้อง หลังถูก สธ.เบรก เหตุเขียนเกินกว่ากรอบวิชาชีพ พร้อมฝากกรณีที่เกิดขึ้นควรดูประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ดูวิชาชีพเป็นหลัก หวั่นประชาชนเดือดร้อน

ทนพ.สมชัย เสริมเจิดอนันต์ กรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ และประธานอนุกรรมการกฎหมาย สภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า กรณีพยาบาลเจาะเลือดตรวจสุขภาพที่จังหวัดนครปฐมที่กลายเป็นกระแสบานปลายในสังคมออนไลน์ขณะนี้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม (สสจ.นครปฐม) ได้ดำเนินคดีกับหน่วยตรวจสุขภาพนอกสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต และในหน่วยนั้นมีพยาบาลไปเจาะเลือดจึงมีการแจ้งข้อหาประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาต ประเด็นในการสอบสวนจึงมุ่งว่า การเจาะเลือดเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นแล้วมีกฎหมายอะไรที่ยกเว้นให้พยาบาลทำหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้แทนกองนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลทางกฎหมายว่า การเจาะเลือดลักษณะนี้ถือเป็นการประกอบวิชาชีพ หากจะยกเว้นให้ทำจะต้องมีการออกข้อบังคับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกข้อบังคับนี้
ขณะที่ด้านนายกสภาเทคนิคการแพทย์ให้การว่า การเจาะเลือดเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาชีพเท่านั้น การพูดแบบนี้เท่ากับว่าใครก็เจาะเลือดได้ ทั้งยังระบุว่าได้มีการออกข้อบังคับยกเว้นแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำคำสั่งฟ้องส่งไปที่อัยการ แต่คดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้องโดยยึดคำให้การของนายกสภาเทคนิคการแพทย์ ต้องย้ำว่าคดีนี้ยังไม่ถึงศาล
จากคำให้การของนายกสภาเทคนิคการแพทย์ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน เมื่อกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ทราบและเห็นว่าคำให้การดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงได้ทำเรื่องโต้ไปที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ว่าคำให้การดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และยังไม่มีการออกข้อบังคับสภาการพยาบาลที่ให้พยาบาลเจาะเลือดได้ มีเพียงระเบียบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่อ้างอิงตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2539 ที่ให้ทำใด้ในภาครัฐ โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ตอบกลับว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจ เรื่องก็จบไปแล้ว
ส่วนที่เกิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้งนั้น เข้าใจว่าภายหลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้แล้ว ทางผู้รักษากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำงานใน สสจ.ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเภสัชกรและรวมตัวเป็นชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ทำหนังสือเพื่อขอความชัดเจนไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่าการเจาะเลือดเป็นการประกอบวิชาชีพหรือไม่ เพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง และ สบส.ได้หารือมายังสภาเทคนิคการแพทย์ให้ตอบข้อหารือแทน โดยเราได้ตอบไปว่าใช่ เป็นการประกอบวิชาชีพ โดยเป็นการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ดูแลกฎหมายวิชาชีพ สิ่งที่สภาเทคนิคการแพทย์ทำมีเพียงแค่นี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีการไปขอรื้อคดีหรือฟ้องร้องใครแต่อย่างใด และกรณีการส่งหนังสือหารือไปยังอัยการเพื่อรื้อคดีก็เป็นเรื่อง สสจ.นครปฐม โดยสภาเทคนิคการแพทย์ยังไม่เคยมีหนังสือไปที่ สสจ.นครปฐมด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้สภาเทคนิคการแพทย์ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง
“ถามว่าสภาเทคนิคการแพทย์ไปฟ้องใครหรือไม่ ไม่มี เราเพียงแต่ทำเรื่องโต้แย้งข้อกฎหมายในคำให้การที่บิดเบือนกฎหมายไปที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เท่านั้น ไม่มีการฟ้องเองและเรื่องนี้ได้เงียบไปแล้ว และเพียงแต่ตอบข้อหารือการเจาะเลือดตามที่ สบส.หารือมาเท่านั้น” ประธานอนุกรรมการกฎหมาย สภาเทคนิคการแพทย์ กล่าว
ส่วนที่มีการระบุว่า การจำกัดให้พยาบาลเจาะเลือดได้เฉพาะในบริการภาครัฐนั้น ทนพ.สมชัย กล่าวว่า เป็นไปตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ที่อ้างอิงตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปี 2539 ซึ่งการที่เทคนิคการแพทย์สามารถเจาะเลือดได้โดยครอบคลุมเอกชน เนื่องจาก พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ได้เปิดไว้ เพราะเป็นกฎหมายที่ใหม่กว่า ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ยังไม่ได้มีการแก้ไข ก่อนหน้านี้สภาการพยาบาลได้เคยขอออกข้อบังคับให้พยาบาลเจาะเลือดได้ รวมถึงในเอกชน แต่เนื่องจากร่างเนื้อหาได้เขียนเกินกรอบวิชาชีพพยาบาล ทาง สธ.จึงยับยั้งการออกข้อบังคับนี้
“ในการออกข้อบังคับเพื่อให้พยาบาเจาะเลือดได้ ครอบคลุมถึงเอกชน สภาเทคนิคการแพทย์ไม่เคยมีข้อขัดแย้งหรือคัดค้านการออกข้อบังคับอันใด และสภาการพยาบาลก็ไม่เคยมีการถามความเห็นมายังสภาเทคนิคการแพทย์ เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด เป็นเรื่องสภาการพยาบาลกับ สธ. ส่วนกรณีการรื้อคดีพยาบาลเจาะเลือดที่นครปฐมก็เป็นเรื่องสภาการพยาบาล กับ สสจ.นครปฐม สภาเทคนิคการแพทย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดเลย” ประธานอนุกรรมการกฎหมายสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวและว่า ส่วนที่มีการโยงไปถึงผลประโยชน์ทับซ้อนในการเปิดแลปเอกชน และกีดกันพยาบาลในการหารายได้นั้น ประเด็นนี้ไม่ทราบ แต่ข้อเท็จจริงเรามีเพียงแค่นี้ และงงกับกระแสที่เกิดขึ้นว่ามาได้อย่างไร
ทนพ.สมชัย กล่าวต่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นสภาเทคนิคการแพทย์ได้มีการหารือกัน โดยเราไม่ขัดข้องเลยเรื่องที่พยาบาลจะเจาะเลือด แต่ขอให้มีการออกกฎหมายรองรับให้เรียบร้อยจะได้ไม่มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานในที่นี้คือพยาบาลจะได้ทำงานได้ถูกต้อง และเรื่องนี้เราไม่อยากนำประชาชนผู้ใช้บริการมาเป็นเครื่องต่อรอง เพราะหากพยาบาลไม่เจาะเลือด คนเดือดร้อนไม่ใช่เทคนิคการแพทย์แต่เป็นประชาชน ดังนั้นเราควรต้องดูประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่วิชาชีพเป็นหลัก เป็นสิ่งที่สภาเทคนิคการแพทย์ขอฝากไว้

Sun, 2019-04-07 08:50 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรรมการสภาการพยาบาล เผยพยาบาลทั่วประเทศพร้อมเลิกเจาะเลือดผู้ป่วย หาก “สภาเทคนิคการแพทย์” ยัน พยาบาลเจาะเลือดไม่ได้ หลังออก กม.กั๊กพยาบาลห้ามรับจ๊อบเจาะเลือดเอกชน ส่วนเจาะเลือดใน รพ. ต้องทำภายใต้กำกับนักเทคนิคการแพทย์ ระบุไม่เคยมีมาก่อน พร้อมแจงเหตุสภาการพยาบาลต้องออก “ข้อบังคับรับรองพยาบาลเก็บตัวอย่างเจาะเลือด” เพราะพยาบาลไม่มั่นใจกลัวถูกจับซ้ำรอย ย้ำแค่เจาะเลือดส่งตรวจ ไม่ได้วิเคราะห์ผล พร้อมจัดทำแบบสำรวจความเห็น “พยาบาลเจาะเลือดถูกกฎหมายหรือไม่” เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุน ขณะที่ สบส.เตรียมเชิญทั้ง 2 สภาวิชาชีพ ร่วมหาข้อสรุป 29 เม.ย. นี้
จากกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม (สสจ.นครปฐม) ได้ทำหนังสือถึงอัยการจังหวัดศาลแขวงนครปฐมเพื่อหารือการรื้อฟ้องคดีพยาบาลเจาะเลือดตรวจสุขภาพหลังจากที่ศาลแขวงนครปฐมมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้วนั้น

นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ กรรมการสภาการพยาบาล กล่าวว่า การเจาะเลือดโดยพยาบาลมีมานานแล้วและเป็นที่ทราบกัน ซึ่งพยาบาลมี พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์รองรับการทำงานตั้งแต่ปี 2528 แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้บ้าง ขณะที่ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ออกมาภายหลัง กำหนดลักษณะงานของนักเทคนิคการแพทย์ที่ชัดเจน เช่น การเจาะเลือด การตรวจแลป เป็นต้น ที่ผ่านมาพยาบาลก็ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งการเจาะเลือดนอกจากในโรงพยาบาลรัฐแล้ว โรงพยาบาลเอกชนพยาบาลก็ทำหน้าที่เจาะเลือดให้คนไข้เช่นกัน แต่เมื่อมีกรณีพยาบาลจังหวัดนครปฐมถูกจับดำเนินคดีเนื่องจากทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมา เพราะไม่เข้าใจว่าการเจาะเลือดโดยพยาบาล ในโรงพยาบาล พยาบาลทำได้ แต่นอกโรงพยาบาลที่เป็นการหารายได้ พยาบาลกลับทำไม่ได้ ต้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์เท่านั้น
ด้วยผลการตัดสินที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ศาลจึงให้มีการไกล่เกลี่ย แม้แต่ผู้พิพากษาเองก็งงเหมือนกันว่าทำไมพยาบาลจึงเจาะเลือดนอกโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่พยาบาลก็ทำหน้าที่เจาะเลือดมาตลอด และจากที่สภาการพยาบาลและสภาเทคนิคการแพทย์ที่ได้หารือร่วมกันจึงสรุปว่าทั้ง 2 วิชาชีพต่างเจาะเลือดได้ แต่ด้วยที่น้องพยาบาลที่ทำงานต่างไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าจะมีใครนำกรณีนี้เป็นตัวอย่างและแจ้งจับพยาบาลอีกหรือไม่ สภาการพยาบาลจึงได้ออก “ข้อบังคับว่าด้วยการเก็บตัวอย่างเจาะเลือด” เพื่อรับรองว่าพยาบาลเจาะเลือดได้จริง โดยได้ผ่านเป็นมติสภาการพยาบาลและเสนอต่อ รมว.สาธารณสุขในฐานะนายกสภาการพยาบาลพิเศษแล้ว ในระหว่างนั้นสภาเทคนิคการแพทย์ได้มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งต่อมาได้ออกประกาศว่าการเจาะเลือดพยาบาลทำไม่ได้ ต้องเป็นการทำภายใต้การดูแลของนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยกรณีการทำภายใต้กำกับวิชาชีพ ที่ผ่านมาเคยมีการออกประกาศเพียงฉบับเดียวในปี 2539 ที่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถกระทำแทนหมอได้ ในการดูแลรักษาเบื้องต้น เนื่องจากที่ รพ.สต.มีเพียงพยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข ไม่มีหมอประจำ จึงต้องให้ทำหน้าที่แทน เป็นคนละกรณีกับการเจาะเลือด
ในการปฏิบัติงานภายใต้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ มีผู้ช่วยนักเทคนิคการแพทย์แล้ว แต่ไม่ใช่การกำกับพยาบาลในหอผู้ป่วยหรือพยาบาลที่เจาะเลือด การเขียนแบบนี้เรายอมรับไม่ได้ ทั้งยังมีการยื่นขอรื้อคดีโดย สสจ.อีก แต่ทางอัยการยังไม่ตอบว่าจะรื้อคดีหรือไม่ เชื่อว่าการยื่นขอรื้อคดีเป็นผลมาจากการออกข้อบังคับเจาะเลือดของสภาการพยาบาล นอกจากนี้กองนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ยังมีการตีความการทำหน้าที่เจาะเลือดของพยาบาลตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ส่งเรื่องไปว่า การเจาะเลือดเป็นหน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์ ส่วนพยาบาลทำได้ในฐานะผู้ช่วยแพทย์ แต่ก็ไม่ฟันธงว่าพยาบาลเจาะเลือดได้หรือไม่ บอกแค่ว่าการทำในโรงพยาบาลทำได้ภายใต้กำกับของแพทย์
“พยาบาลทำหน้าที่เจาะเลือดให้กับผู้ป่วยที่เป็นประเด็นขณะนี้ หากสภาเทคนิคการแพทย์บอกว่าพยาบาลทำไม่ได้ คุณก็รับงานกลับไป ซึ่งน้องๆ พยาบาลก็มองว่าดี หากอยากเจาะเลือดผู้ป่วยเองก็รับไปเลย ไม่ใช่มาระบุว่ากรณีเป็นการเจาะในโรงพยาบาลให้พยาบาลทำ นักเทคนิคการแพทย์ไม่ทำ และพยาบาลต้องทำภายใต้กำกับของนักเทคนิคการแพทย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กรณีที่ออกไปเจาะเลือดนอกโรงพยาบาลแล้วมีรายได้ กลับมาบอกว่าคนอื่นทำไม่ได้ต้องเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งประกาศปี 2539 ก็ไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชน แต่ปัจจุบันในโรงพยาบาลเอกชนคนเจาะเลือดก็เป็นพยาบาล” กรรมการสภาการพยาบาล กล่าวและว่า ดังนั้นเรื่องนี้เราต้องทำให้ชัดเจน หากจะให้พยาบาลเจาะเลือดผู้ป่วยจะให้สภาการพยาบาลออกประกาศรับรอง ซึ่งเราเพียงแต่เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจ ไม่ได้วิเคราะห์ผล
นางกรรณิกา กล่าวว่า วันนี้ที่อยากเห็นคืออยากให้ฟันธงไปเลยว่าพยาบาลเจาะเลือดผู้ป่วยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้สภาเทคนิคการแพทย์ต้องตอบคำถามว่าจะรับงานเจาะเลือดนี้คืนไปหรือไม่ ถ้ารับคืนต้องคืนไปทั้งหมด พยาบาลเองก็ยินดีคืน ไม่ใช่มาบอกว่าพยาบาลเจาะเลือดในโรงพยาบาลรัฐได้ แต่เจาะเลือดกรณีที่เป็นการทำในเอกชนไม่ได้ ปัญหานี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น อยากให้มีการทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ซึ่งน้องนักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลก็อยากให้พยาบาลทำหน้าที่เจาะเลือด เพราะรู้ว่าด้วยนักเทคนิคการแพทย์ที่มีจำนวนน้อยคงไม่พอที่จะดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด ซึ่งในโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีนักเทคนิคการแพทย์คนเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจาะเลือดเท่านั้น แต่รวมถึงการเก็บสิ่งส่งตรวจทั้งหมด ทั้งอึ ฉี่ และเสมหะผู้ป่วย แต่หากให้พยาบาลเจาะเลือดได้ก็อย่ามากั๊กให้ทำแค่ในโรงพยาบาล ควรทำใจกว้าง
“ที่ผ่านมาพยาบาลกับนักเทคนิคการแพทย์ทำงานร่วมกันไม่เคยมีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากบริษัทแลปเอกชนที่เปิดเยอะขึ้น ซึ่งคดีที่นครปฐมคนที่ไปแจ้ง สสจ.ให้จับพยาบาลก็เป็นบริษัทที่เคยประมูลตรวจสุขภาพให้กับพนักงานในบริษัทดังกล่าว แต่พอปีนี้ไม่ได้ก็มาชี้เป้า และส่วนหนึ่งวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ก็อยากมีที่ยืน แต่ต้องไม่ใช่มากีดกันคนอื่น หากให้พยาบาลต้องทำงานภายใต้กำกับนักเทคนิคการแพทย์เราไม่เอาด้วยแน่ เพราะต่างก็มีเอกสิทธิ์ในวิชาชีพตนเอง” กรรมการสภาการพยาบาล กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามจากประเด็นที่บานปลายขณะนี้ ทาง สบส.ได้นัดนายกสภาการพยาบาลและสภาเทคนิคการแพทย์ และตัวแทน 2 วิชาชีพมาพูดคุยกันในวันที่ 29 เมษายน นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุป
ส่วนที่ สสจ.นครปฐมยื่นเรื่องอัยการเพื่อรื้อคดีนั้น นางสาวกรรณิกา กล่าวว่า เขามีความตั้งใจแต่แรกแล้ว มีจุดยืนไม่ไกล่เกลี่ย คงกลัวเสียเครดิตเพราะออกไปแจ้งจับแล้ว มุมมองส่วนตัวก็อยากให้รื้อคดีและให้ศาลตัดสินเลย หากผลออกมาพยาบาลเจาะเลือดไม่ได้ เรื่องจะได้จบไป แต่สงสารน้องพยาบาลที่ถูกจับ วันนี้ทุกวิชาชีพมีสิทธิในการออกประกาศว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แต่ต้องมองประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง คำนึงถึงคนไข้ ไม่ใช่คิดแต่ทำมาหากิน ขณะที่จำนวนพยาบาลออกไปรับงานเจาะเลือดนอกโรงพยาบาลเพื่อหารายได้เสริมก็มีไม่มาก เชื่อว่าไม่ถึง 0.05% ด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้น้องพยาบาลก็อยากมีอะไรรองรับเพื่อให้มั่นใจ
นางสาวกรรณิกา กล่าวต่อว่า ด้วยประเด็นการเจาะเลือดของพยาบาลว่าถูกกฎหมายหรือไม่ ในฐานะกรรมการสภาการพยาบาลจึงได้จัดทำแบบสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเจาะเลือดของพยาบาล เพื่อรวบรวมความเห็นของพยาบาลและนำเสนอต่อกรรมการสภาการพยาบาลเพื่อประกอบการพิจารณาและแก้ปัญหาต่อไป

Sun, 2019-04-07 08:41 -- hfocus