ผู้เขียน หัวข้อ: ส่ง “ผ้าไทย” เชื่อมวัฒนธรรมไทย-อาหรับ รุกตลาดแฟชั่นตะวันออกกลาง  (อ่าน 598 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
                     “ศิลปวัฒนธรรมจะส่งผลในเรื่องของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้” คำตอบสั้นๆ จากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดจึงต้องจัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศเป็นประจำ เพราะจะทำให้ประเทศที่เราต้องการสานสัมพันธ์เกิดความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คือ วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางหรือเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศให้บรรลุผลประโยชน์แห่งชาติได้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เส้นทางประเทศในตะวันออกกลาง 3 เส้นทางด้วยกัน คือ 1.รัฐคูเวต ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. 2562 ที่ Sadu House คูเวตซิตี 2.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค. 2562 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูดาบี และ 3.รัฐบาห์เรน ระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค. 2562 ที่ Gulf Convention Centre กรุงมานามา ซึ่งการมาเผยแพร่วัฒนธรรมในครั้งนี้ ได้เน้นใช้ “ผ้าไทย” เป็นตัวชูโรงหลักของงาน

                      โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรมของทั้ง 3 ประเทศจะใช้รูปแบบเดียวกัน คือ การจัดแสดงนิทรรศการผ้าไทย การแสดงดนตรี นาฏศิลป์ และแฟชั่นโชว์ผ้าไทย รวมถึงการขายอาหารไทย ภายใต้ชื่อ “THAI TextilesThe Touch of Thai”
นายวีระ กล่าวภายหลังเปิดงานเทศกาลไทย “THAI Textiles The Touch of Thai” ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า การจัดงานในส่วนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้รับจากกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตไทย ณ กรุงอาบูดาบี และทีมไทยแลนด์ที่ยูเออี ทั้งภาคการท่องเที่ยว พาณิชย์ แรงงาน และองค์กรภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจที่นี่ ซึ่งนอกจากเรื่องอาหารไทยแล้ว เรายังแสดงความโดดเด่นของ “ผ้าไทย” ด้วย โดยนำผ้าจากพิพิธภัณฑ์ผ้าไทย ในโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มาเผยแพร่พระเกียรติคุณด้วย มีการจำหน่ายผ้าไทย สาธิตผ้าไทย และมีการแสดงที่เกี่ยวกับชุดไทยพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทั้ง 8 ชุดด้วยกัน คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจมาก นายวีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ซึ่งเป็นชุดที่มาจากการประกวดชุดไทยร่วมสมัย จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งมีการจัดประกวดชุดไทยร่วมสมัยทุกปี ปีละหลายครั้ง เพื่อนำชุดที่ชนะเลิศและรับรางวัลชมเชย มาเผยแพร่ในต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย ซึ่งครั้งนี้เรามาที่คูเวต ยูเออี และบาห์เรน รวมถึงยังมีการแสดงสาธิตมวยไทย และการแสดง 4 ภาคด้วย

                      ส่วนสาเหตุที่นำ “ผ้าไทย” มาเป็นจุดเด่นในการจัดงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง นายวีระ อธิบายว่า ประเทศตะวันออกกลางเป็นที่ร่ำรวย และให้ความสำคัญกับเรื่องของแฟชั่นการแต่งกาย ซึ่งไทยมีการศักยภาพในการผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าทอมือที่ วธ.สนับสนุน น่าจะสามารถมาตีตลาดที่นี่ได้ ขณะเดียวกันดีไซเนอร์ไทยเราก็คิดรูปแบบการแต่งกายชาวมุสลิมด้วย ก็ไปศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการใช้ผ้าไทยมาตัดชุดที่เหมาะกับชาวมุสลิมด้วย คิดว่าในอนาคตก็จะขยายตัวและมีดีไซเนอร์ที่ทำงานเน้นด้านนี้มากยิ่งขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาตีตลาดในกลุ่มประเทศที่ใส่ใจเรื่องแฟชั่นได้ โดยทางกระทรวงพาณิชย์อาจจะเข้ามาช่วยเรื่องของการวิเคราะห์ วิจัยตลาดในอนาคต จะได้เข้ามาถูกจุดในสิ่งที่เป็นรสนิยมของคนในตะวันออกกลางว่าชอบสิ่งใด
สำหรับการจัดนิทรรศการผ้าไทยในงาน THAI Textiles The Touch of Thai ใน 3 ประเทศตะวันออกกลางนี้ ออกแบบโดย ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษศิลปะการออกแบบดุษฎีบัณฑิต คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า การจัดแสดงผ้าไทยปกติจะใช้ผ้าไหมเป็นตัวนำ แต่การจัดนิทรรศการครั้งนี้ได้นำเสนอผ้าไทยรูปแบบใหม่ เนื่องจากหลังจากหารือกับทาง วธ.แล้ว ประเทศไทยมีผ้าแตกต่างหลากหลาย ทำอย่างไรให้คนรู้จัก จึงพยายามหาข้อมูลมา ก็นำผ้าไทยมาแสดงประมาณ 7-8 ชนิด โดยโจทย์ของรูปแบบการจัดนิทรรศการ คือ เคลื่อนย้ายไปแต่ละที่ได้ จึงทำรูปแบบการทักทอตัวผ้าที่มีการสานกัน เป็นจิกซอว์ที่เคลื่อนย้ายได้ ถอดประกอบไม่ยาก ซึ่งการจัดแสดงจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ว่าพระองค์ท่านให้ความสำคัญกับผ้าไทยและฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างไร ในการให้โอกาสและการสนับสนุน รวมถึงชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 ชุด
          2.ประเภทของผ้าต่างๆ ที่จัดแสดง โดยแบ่งตามชนิดของผ้าหรือลักษณะตามวิธีการทอผ้าขึ้นมา ซึ่งมีครบทุกภาค ทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าตีนจก ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมยกดอก ผ้าทอชาวเขา เป็นต้น และ
          3.การสาธิตการถักทอผ้า ซึ่งจะมีโซนของการจัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับการสร้างแพทเทิร์นสร้างลายผ้าขึ้นมา โดยจะมีกระดาษและตัวแสตมป์พิมพ์ในการสร้างลายผ้าแพรวา เพื่อเก็บไปเป็นที่ระลึก
                       “การจัดนิทรรศการให้คนต่างชาติสนใจ เริ่มจาก Mood add Tone ของสีก่อน ตัวสีงานนิทรรศการจะใช้สีขาว และตัวหนังสือสีเทาอ่อน โดยมีเส้นสีแดงนำสายตา เพื่อดึงให้ความเข้มความสดของผ้าไทยที่จัดแสดงให้ดูกลมกลืนกันไป ทั้งนี้ จากการมาจัดแสดงสิ่งที่ชอบกันคือการเวิร์กชอป ในการสร้างแพทเทิร์นลายผ้าของตัวเอง” ดร.ศราวุฒิ กล่าว ทั้งนี้ เจ้าหญิงเฮนด์ บินท์ ไฟซอล อัล กอซีมี แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพระองค์มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสื้อผ้าและการจัดแฟชั่นโชว์ โดยพระองค์เป็นผู้จัดงาน International Dubai Fashion Week 2018 ได้เสด็จมาเยี่ยมชมงานดังกล่าวด้วย พร้อมประทานสัมภาษณ์ ว่า ตนประทับใจในประเทศไทย และรู้สึกรักเมืองไทยมาก เนื่องจากเคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง ชอบนิสัยความโอบอ้อมอารีของคนไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตเชิงสัญลักษณ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย เป็นจึงถือว่าเป็นพันธมิตรของคนไทยอีกคน จึงเดินทางมาร่วมงานนี้ โดยผ้าไทยถือว่ามีเอกลักษณ์ ตนชอบรูปแบบของผ้า ซึ่งมีคุณภาพสูง จึงสนใจเป็นพิเศษ และมองว่าผ้าไทยมีโอกาสเติบโตสูงในตะวันออกกลางเพราะคนตะวันออกกลางมีรสนิยมแฟชั่น และรสนิยมในการแต่งตัวสูง หากสามารถนำผ้าไทยมาประยุกต์ออกแบบให้เหมาะสมกับการใส่ในท้องถิ่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก เพราะคุณภาพผ้าดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่คนตะวันออกกลางสนใจ ยังมีเรื่องของสปาไทย การนวดต่างๆ ด้วย
หากสามารถออกแบบผ้าไทยในสไตล์ที่เหมาะสมกับคนตะวันออกกลาง เพื่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และนำมาจัดแสดงผ่านโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นประจำ ย่อมทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจของคนตะวันออกกลางมากขึ้น ยิ่งโปรโมตและโฆษณาได้ดีเท่าไร ก็มีโอกาสที่“ผ้าไทย” จะรุกเข้าครองตลาดดินแดนอาหรับได้มากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งหนทางในการสร้างเศรษฐกิจและรายได้กลับเข้าประเทศไทย โดยอาศัยการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม



โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
เผยแพร่: 2 เม.ย. 2562 09:20   โดย: ผู้จัดการออนไลน์