ผู้เขียน หัวข้อ: เครือข่ายบุคลากร สธ. ร้องบรรจุ ขรก.ให้เป็นธรรม ห้ามซิวตำแหน่งไปให้วิชาชีพอื่น  (อ่าน 502 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายบุคลากร สธ. ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องขอความเป็นธรรม ห้ามยุบตำแหน่งข้าราชการสายรอง-สายสนับสนุน ไปบรรจุให้วิชาชีพอื่นๆ บรรจุตามสายงานอย่างเป็นธรรม คืนตำแหน่งที่เคยนำไปปรับใช้ 5 ปีด้วย ห้ามเลือกปฏิบัติ จี้ สธ.เคลียร์เรื่องเรียกเงินเดือนคืน แก้ปัญหาค่าตอบแทนฉบับ 10 11 และ 12

ความคืบหน้ากรณีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุขออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องความยุติธรรม หลังมีข้อเสนอให้นำตำแหน่งสายงานสนับสนุนและสายงานรอง มาบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้เภสัชกร โดยมีการถ่ายภาพและแชร์ลงในเฟซบุ๊กเพื่อแสดงการคัดค้าน

วันนี้ (1 เม.ย.) เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปที่เป็นธรรม ได้ออกแถลงการร์ฉบับที่ 3 เรื่องการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพทุกสายงาน โดยระบุว่า เครือข่ายฯ ประกอบด้วย 22 องค์กร ถือว่าเป็นกลุ่มมดงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและนโยบายของ สธ. และเป็นฟันเฟืองในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ แต่จากการที่ สธ.มีบุคลากรจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน จึงพบว่า ยังมีปัญหาในเรื่องการดูแลสิทธิ ขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพและทุกสายงาน เช่น การเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง และความเหลื่อมล้ำในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน

เครือข่ายฯ จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ให้มีความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรทุกวิชาชีพทุกสายงานใน สธ. ดังนี้ 1.กรณีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ และความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง ควรมีมาตรการ คือ ห้ามยุบเลิกการบรรจุข้าราชการของสายงานสนับสนุนและสายงานรองทุกสายงาน และพิจารณาจัดสรรตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 10,830 ตำแหน่ง มาใช้ในการบรรจุ ปรับตำแหน่ง แต่ละสายงาน แต่ละวิชาชีพอย่างเป็นธรรม ห้ามนำตำแหน่งว่างของเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข นำไปปรับตำแหน่งให้เภสัชกร หรือสายงานอื่นๆ เว้นนำมาบรรจุในสายงานตนเอง

นอกจากนี้ ควรคืนตำแหน่งว่างที่เคยนำไปปรับให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อบรรจุให้ผู้ที่รอบรรจุมานานนับสิบปีในแต่ละสายงาน เรียกบรรจุผู้ที่สอบขึ้นบัญชี (ว.80) อีก 300 กว่าตำแหน่งในทุกเขต ก่อนจะหมดบัญชีใน ก.ย. 2562 ปรับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ ว.16 ชายแดนใต้ ควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องทุกปี ควรดำเนินการปรับตำแหน่งให้ได้ ปีละ 2 ครั้ง (ตามมติคณะทำงาน ว.16) โดยในปี 2562 ยังไม่มีความคืบหน้าในการปรับตำแหน่งแม้สักครั้งเดียว

ห้ามเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ขอให้บรรจุข้าราชการทุกวิชาชีพทุกสายงานอย่างเป็นธรรมทุกปี ในกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานานเกิน 5-10 ปี และจัดสรรบุคลากรให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในส่วนภูมิภาคให้มีอัตรากำลังครบถ้วนตามโครงสร้างใหม่ อย่าเลือกปฏิบัติบรรจุแค่บางสายงาน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขาดแคลนแต่มีปัญหาการกระจายตัว กระจุกในตัวเมือง และไหลออกไปเอกชน

2.ปัญหาความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน แบ่งเป็น 2.1 กรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิ์คืน ห้ามมิให้หน่วยงานมีการเรียกคืนเงินเดือนเกินสิทธิ์ในระยะเวลาจำกัด และให้ สธ.ชี้แจงมาตรการที่ได้หารือกับกระทรวงการคลังให้ชัดเจนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรที่ต้องคืนเงิน ที่มาจากการทำงานไม่รอบคอบของผู้เกี่ยวข้องด้วย

2.2 กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทน ห้ามมิให้มีการเรียกคืนค่าตอบแทนฉบับ 11 หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจ แล้วตีความการจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นคุณ ทั้งนี้ให้ สธ.ชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์ของค่าตอบแทนให้ สตง.เข้าใจและตีความระเบียบให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการจ่ายค่าตอบแทนฉบับดังกล่าวด้วย 2.3 กรณีจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน (เฉลี่ย 4,500-6,000 บาท) ห้ามมิให้หน่วยงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ซึ่งถือว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลและ สธ.สนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานใน สธ. ให้สามารถจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าขั้นต่ำของกฎหมายแรงงาน และควรมีการดูแลสิทธิ สวัสดิการ ลูกจ้าง พนักงานกระทรวง พนักงานราชการด้วย

3.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ให้รัฐบาล และสธ.ประกาศยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ใช้งบประมาณเงินบำรุงที่ทุกวิชาชีพช่วยกันทำงาน แต่เบิกจ่ายได้แค่ 4 วิชาชีพแล้วนำมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัยหรือค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ) ให้ไม่น้อยกว่าข้าราชการอื่นแทน (3,500-5,000 บาท) รวมทั้งควรปรับปรุงระเบียบเพิ่มในค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ให้ครอบคลุมในกลุ่มลูกจ้างประเภทต่างๆ ด้วย(1,000-2,000 บาท) จะเหมาะสมกว่า

4.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 และ 12 ให้ สธ.ยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ใหม่ ให้ชัดเจน เป็นธรรม อธิบายได้ ไม่ต้องตีความมาก ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในปัจจุบัน เพราะบางสายงาน ได้ 0 บาท ขณะที่บางวิชาชีพ ได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ที่ยกร่าง ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน รวม back office ทุกวิชาชีพ รวมเวชสถิติ และโสตทัศนศึกษา :เวชสาธิต ทุกหน่วยงานใน สธ. นอกจากนี้ หากยกเลิกค่าตอบแทนฉบับ 10 และยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ขึ้นมาใหม่แล้ว ควรหันมาปรับเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนค่าเวร ค่าหัตถการ ค่า พตส. ต่างๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมแทน เพราะเป็นค่าตอบแทนจากภาระงานจริงๆ ซึ่งอธิบายได้ง่ายกว่า ค่าตอบแทนฉบับ 10-11-12

5.กรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ของทุกกลุ่มที่ถูกลดเงินเดือน หรืออายุราชการหายให้รอบด้าน และดำเนินการเยียวยาให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2562

เครือข่ายฯ ประกอบด้วย 22 องค์กร ดังนี้ 1.สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย 2.ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) 3.สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ 4.สหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข 5.ชมรมว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน 6.ชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ รพศ./รพท./รพช. 7. ชมรมทันตาภิบาล 77 จังหวัด 8. ชมรมลูกจ้างแพทย์แผนไทย(ประเทศไทย) 9. ชมรม ผอ.รพ.สต.ชำนาญงาน (แห่งประเทศไทย) 10. ชมรมแลป-รังสีสามัคคี เพื่อความเป็นธรรม 11. สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต 1) 12. ชมรมกายภาพบำบัดชุมชน 13. ชมรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แห่งประเทศไทย 14. ชมรมเจ้าพนักงานเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย 15. สมาคมเวชสถิติแห่งประเทศไทย 16. ชมรมนายช่างสาธารณสุข 17. ชมรมโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์(เวชสาธิต) 18.เครือข่ายพยาบาลอนามัย 19. เครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุ 20. ชมรมพนักงานราชการ กระทรวงสาธารณสุข 21. ชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และ 22. ชมรมสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ รพศ. รพท.

1 เม.ย. 2562   โดย: ผู้จัดการออนไลน์