ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.มอบโล่ผู้จัดละคร“ทองเอก หมอยาท่าโฉลง”อนุรักษ์หมอยาไทย เตรียมจัดมหกรรมสมุนไพร  (อ่าน 521 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.มอบโล่ให้ผู้จัดละคร “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ทั้งสมุนไพรและหมอยาไทย เตรียมจัดงานมหกรรมสมุนไพรไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 16 วันที่ 6-10 มี.ค.นี้ อภ.ชูการปลูกกัญชา อภัยภูเบศรเน้นการดูแลไตวายเรื้อรัง

วันนี้ (21 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “สมุนไพร นวดไทย อนาคตไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-10 มี.ค. 2562 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยภายในงานได้มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้จัดละคร “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” นำโดย ชุดาภา จันทเขตต์ ผู้จัดและผู้กำกับละครเรื่องดังกล่าว ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล ผู้จัดละคร และ รอง เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ที่แสดงเป็นพ่อหมอทองอิน ซึ่งได้สื่อสารให้คนไทยรับรู้การดูแลสุขภาพตามวิถีชีวิตคนไทยโบราณ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ความเป็นหมอยาไทย เป็นการร่วมอนุรักษ์และเชิดชูภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมเรื่องสมุนไพรและใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ทั้งยังจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิมให้เป็นสินค้านวัตกรรมสามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2562-2565 จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยร้อยละ 20 เพิ่มมูลค่าสมุนไพรให้ได้ 3.6 แสนล้านบาท โดยจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้ผลิตผู้บริโภค และผลักดันให้ภูมิปัญญานวดไทยเป็นมรดกของมนุษยชาติของยูเนสโก

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในงานมหกรรมฯ อภ.จะนำเสนอการปลูกต้นกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐานการเกษตรที่ดี (GAP) สายพันธุ์กัญชาต่างๆ รวมถึงมีการนำเสนอแผนการดำเนินงานการปลูกและผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระดับห้องปฏิบัติการ 2. ศึกษาวิจัยพัฒนา สายพันธุ์ การปลูก และสกัดกัญชาในระดับกึ่งอุตสาหกรรม และ 3. การปลูกและผลิตสารสกัดกัญชาในระดับอุตสาหกรรม

นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ในงาน อภัยภูเบศร ชูแนวคิด ดูแลไต ก่อนตายไว เนื่องจากคนไทยมีอัตราการเกิดโรคไตวายเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น และพบเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน สาเหตุสำคัญมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว มักจะหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรมาใช้ ดังนั้น จึงอยากให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยแยกเป็นการป้องกัน ส่งเสริมให้ไตทำงานได้ดี ส่วนผู้ป่วยโรคไตวาย ก็จะมีการแนะนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคและสาเหตุที่ถูกต้อง และแจกสมุนไพร 5 ชนิด คือ เจ็ดกำลังช้างสาร ที่มีสรรพคุณบำรุงไต กล้วยป่า ผักขมหิน หญ้าหนวดแมว และต้นเกล็ดปลา ชนิดละ 300 ต้น พร้อมแจกหนังสือ บันทึกของแผ่นดิน 11 สมุนไพรเพื่อไต จำนวน 1,000 เล่ม

ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีการสาธิตการเผายาบริเวรหน้าท้อง ซึ่งเป็นฉากหนึ่งที่มาริโอ้ เมาเร่อ พระเอกของเรื่องในบททองเอก ทำการรักษาให้หมอทองอิน ผู้เป็นปู่ ซึ่งการเผายา เป็นการใช้ไฟเพื่อก่อให้เกิดความร้อนแก่ร่างกายหรือบริเวณที่ต้องการจะรักษาโรค ซึ่งการเผายานั้นจะใช้ในบริเวณมีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น แผ่นหลัง ขา แต่จะมีการเผาที่เน้นการรักษาเฉพาะจุดบางส่วน เช่น การเผาบริเวณเข่า ใช้รักษาผู้ป่วยอาการปวดเข่าที่ไม่อักเสบ น้ำไขข้อแห้ง การเผาบริเวณหน้าท้อง หรือบริเวณรอบสะดือ เป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานสิบตามหลักของแพทย์แผนไทย เป็นต้น ประโยชน์เพื่อไล่ลมออกจากท้อง ไล่ลมในเส้นให้เดินสะดวก ไล่ลมที่ติดขัด คลายเส้นในจุดที่ตึง รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆ แก้เลือดลมเดือนไม่สะดวก ลมผิดเดือน

21 ก.พ. 2562โดย: ผู้จัดการออนไลน์