ผู้เขียน หัวข้อ: อนามัยโพล ชี้คนกรุง 95% รับรู้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพ เกือบ 50%  (อ่าน 669 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมอนามัย เผยผลสำรวจชาว กทม.และปริมณฑล 95% รับรู้ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 79% รับรู่เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ คนแก่ คนมีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยง พบ 45% ที่สวมหน้ากากป้องกัน 41% แนะนำบอกต่อข้อมูลการป้องกันสุขภาพ เกือบ 50% ยินดีร่วมมือด้วยการปลูกต้นไม้ ลดใช้รถยนต์

วันนี้ (19 ก.พ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ขณะนี้ยังคงมีอยู่ เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ประชาชนจึงต้องดูแลและป้องกันสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจอนามัยโพล เรื่องการรับรู้ พฤติกรรม การดูแล ป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของประชาชนในเขต กทม.และปริมณฑล จำนวน 2,021 หน่วยตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี พบว่า ประชาชน ร้อยละ 95.2 มีการรับรู้ฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลต่อสุขภาพในระดับดีมาก โดยรับรู้จากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 87.4 รองลงมาเป็นสื่อ Social Media ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ นอกจากนี้ ร้อยละ 79.4 ยังรับรู้ว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โดยประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองแบบเฉพาะเพียงร้อยละ 45.3 จึงจำเป็นต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องต่อไป

“สำหรับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พบว่า ร้อยละ 41.2 มีการแนะนำหรือบอกต่อข้อมูลให้คนใกล้ชิด คนรู้จัก ดูแลป้องกันสุขภาพ รวมถึงคอยสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 53.6 สามารถดูแลตนเองด้วยการเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นนำ ติดตัวไปด้วย พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 91.9 คิดเห็นว่าภาครัฐสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจนสามารถปฏิบัติตนและดูแลป้องกันตนเองได้ทันเหตุการณ์ และยังเห็นว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประชาชนเกือบร้อยละ 50 ยินดีให้ความร่วมมือช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็กและลดการใช้รถยนต์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ผู้จัดการออนไลน์
19 ก.พ. 2562

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หมอปอดจุฬาฯ เผยยังไม่มีข้อมูล ฝุ่น PM 2.5 จากเผาป่าและเครื่องยนต์ ส่งผลต่อสุขภาพต่างกันหรือไม่ แต่ทางทฤษฎีสาเหตุการเกิดฝุ่นต่าง ย่อมมีพิษต่อสุขภาพต่างกัน แนะคนพื้นที่ภาคเหนือเจอวิกฤตฝุ่นหนัก ไม่ว่าสาเหตุจากอะไร ควรสวมหน้ากากป้องกัน เลี่ยงออกนอกบ้าน

วันนี้ (1 เม.ย.) รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์โรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมาจากการเผาป่า แตกต่างจากปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหลายจังหวัดก่อนหน้านี้ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ อุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการแยกว่า แต่ละสาเหตุของการเกิดฝุ่นมีผลกระทบต่อสุขภาพแตกต่างกันอย่างไร แต่จะเป็นข้อมูลรวมของการเกิดฝุ่น PM 2.5 รวมกันเลยว่ามีผลต่อสุขภาพเหมือนกัน แต่ในทางวิทยาศาสตร์และทฤษฎีสาเหตุของการเกิดฝุ่นแตกต่างกันย่อมมีพิษต่อสุขภาพแตกต่างกัน ถ้าเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ เช่น เบนซิน อาจจะมีความกังวลว่า มีโอกาสเกิดมะเร็งในอนาคตหรือไม่

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า กรณีเผาไม้ เผาฟืนนั้น หากเป็นพื้นที่เผาจริงๆ นอกจากฝุ่นละอองแล้วยังมีสารอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ อาจจะทำให้ขาดออกซิเจน มีโอกาสทำให้เกิดภาวะมึน งง เวียนศีรษะได้ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ใกล้หรือไกลพื้นที่นั้น เมื่ออยู่ไกลออกมาฝุ่น ควันเหล่านั้นจะมีผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา ไอ มีเสมหะเยอะ ทำให้คนไข้ที่เป็นโรคปอดอยู่แล้วมีอาการกำเริบมากขึ้น ที่ภาคเหนือในช่วงที่มีฝุ่นควันเกิดขึ้น จะพบคนไข้หอบ ถุงลมโป่งพอง อาการกำเริบเฉียบพลันเยอะขึ้นชัดเจน คนไข้ที่ปอดไม่ดีก็มีโอกาสที่ปอดจะเสื่อมลงและเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนผลระยะยาวมีโอกาสจะเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น ต้องเทียบเคียงอย่างอื่นด้วย เช่น ควันบุหรี่มือสองเองก็เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งชัดเจนเช่นกัน สำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ไม่ว่าเกิดจากอะไรก็ให้ใช้หน้ากากอนามัย N95 ซึ่งในค่าฝุ่นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดสูงขนาดนี้ คิดว่าทุกคนที่ออกไปภายนอกบ้านก็ต้องใส่ทั้งหมด ต่อให้สภาพปอดจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ทางที่ดีควรเลี่ยงการออกไปนอกบ้านดีกว่า โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ

1 เม.ย. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
แพทย์ระบุ PM 2.5 แฝงในอากาศมา 20 ปี เผยผลวิจัยสตาร์ทเครื่องยนต์ดีเซลทิ้งไว้ 30 นาที ค่ามลพิษน้อยกว่าจุดบุหรี่ต่อเนื่อง 3 มวน ชี้คนไทยสูบบุหรี่วันละ 100 ล้านมวน สตรีมีครรภ์ได้รับมากถึงขั้นแท้งลูก ด้าน “อภัยภูเบศร” แนะกินใช้สมุนไพรสู้ฝุ่น ทั้งหญ้าดอกขาว ขมิ้นชัน มะขามป้อม

ในงานเสวนาวิชาการ “สมุนไพร ทางออกประเทศไทย คลี่คลายมลพิษ” จัดโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีมานานแล้วเพียงแต่มาส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงทำให้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้ปริมาณฝุ่นจะลดลงแต่ก็ไม่อาจวางใจได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการใช้เครื่องยนต์ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ตลอดจนถึงจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน

ทั้งนี้ มีผลวิจัยที่น่าตกใจของประเทศอิตาลีที่ระบุว่า มีการสตาร์ทรถเครื่องยนต์ดีเซลทิ้งไว้ 30 นาที ปริมาณฝุ่นพิษที่มาจากท่อไอเสีย เขม่ารถยนต์น้อยกว่าปริมาณควันที่มาจากการจุดบุหรี่ต่อเนื่องกัน 3 มวน ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 มวนต่อคนต่อวัน นั่นแสดงว่ามีจำนวนผู้สูบบุหรี่ต่อวันถึง 100 ล้านมวน ปริมาณมลพิษจึงกระจายไปทั่ว และหากส่งผลต่อเด็ก สตรี คนชา ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ หากได้รับมลพิษเป็นจำนวนมากอาจจะส่งผลเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ อาจถึงขั้นแท้งบุตร หรือเกิดมาในลักษณะผิดปกติ

“เคยมีการศึกษาประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หากวันใดมีการเดินเครื่อง แม้จะมีการแจ้งประชาชนล่วงหน้าเพื่อใส่หน้ากากป้องกันก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคภูมิแพ้ หืด หวัด ปอดบวม ปอดติดเชื้อ สูงกว่าช่วงที่ไม่เดินเครื่อง ถึง 3 เท่า” รศ.นพ.สุทัศน์กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่รัฐบาลประกาศให้ปัญหาฝุ่นพิษ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าแม้จะแก้ไขอย่างเต็มกำลังก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี เลวร้ายที่สุดอาจยาวนานถึง 20 ปี สำหรับมาตรการระยะสั้นที่อยากฝากไว้เป็นสูตร 4 ข้อคือ 1. รู้ไว คือ ตรวจเช็คปริมาณฝุ่นพิษจากแอพลิเคชันที่มีหลากหลายโดยตลอด เพื่อเตรียมรับมือหากค่าฝุ่นเกิน 100 2. ไม่เผา คือ ไม่เผาไร่ หญ้า ขยะ ตลอดจนถึงสูบบุหรี่ในที่ชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดมลภาวะต่อส่วนรวม 3. เอาหน้า หมายถึงใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ ในวันที่มีปริมาณสูงเกินปกติ และ 4. รักษาสุขภาพ ออกกำลังกายในบ้านแทนกลางแจ้ง รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขอแนะนำสมุนไพรเพื่อช่วยดูแลปอด ในตัวแรกคือ หญ้าดอกขาว เป็นยาล้างปอด ที่ใช้ต่อเนื่องกันมายาวนาน มีงานวิจัยระบุว่าสามารถลดการแพร่กระจายของมะเร็งปอด สอดคล้องกับหมอยาพื้นบ้านที่ใช้ล้างมลพิษที่ค้างในปอด สามารถชงดื่มครั้งละไม่เกิน 2 กรัม 3 เวลา ตัวที่ 2 ที่แนะนำคือ ขมิ้นชัน ช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้กับปอด และระบบทางเดินหายใจ โดยรับประทานครั้งละ 3 เม็ด 3 เวลา และควรรับประทานต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน และให้หยุดพัก 1 เดือน ก่อนที่จะมาใช้ใหม่อีกครั้ง ตัวที่ 3 รางจืด ที่ใช้ล้างสารพิษ ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกิน 5 วันในหนึ่งเดือน ตัวสุดท้ายคือมะขามป้อมสามารถรับประทานทั้งรักษาอาการไอและเพื่อดูแลสุขภาพ มะขามป้อมจะเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง

ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์ไทยฯ กล่าวว่า ในส่วนของกรมการแพทย์นแผนไทยฯ ก็มีทุนสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรอีกเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้สนใจสามารถเขียนโครงการเข้ามาขอได้ เราพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้สมุนไพรไทย มีงานวิจัยรองรับ สามารถอ้างอิงได้ในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลสมุนไพรต้านมลพิษเพิ่มเติม สามารถร่วมเรียนรู้ได้ที่ งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 16 ในวันที่ 6-10 มีนาคม 2562 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 10-12 หรือสอบถามเพิ่มเติม ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 0-3721-1289 ในวันเวลาราชการ หรือ เฟสบุ๊คสมุนไพรอภัยภูเบศร

22 ก.พ. 2562   โดย: ผู้จัดการออนไลน์