ผู้เขียน หัวข้อ: อย.เปิดรับฟังความเห็นร่าง กม.นิรโทษครอบครอง “กัญชา” 3 ฉบับ ผ่านเว็บไซต์แล้ว  (อ่าน 1092 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
อย.นำร่าง กม.ลูกนิรโทษครอบครองกัญชา จำนวน 3 ฉบับ ทั้งกลุ่มองค์กร หน่วยงานวิจัย กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลทั่วไป ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 22 ก.พ. 2562

ความคืบหน้าการออกอนุบัญญัติรองรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 หลังบังคับใช้ ซึ่งมี 5 ฉบับที่ผ่านการเห็นชอบคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษแล้ว แต่จะต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการ โดยระหว่างนี้จะนำร่างอนุบัญญัติมารับฟังความคิดเห็น

วันนี้ (20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับการนิรโทษครอบครองกัญชา หากมาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน ไม่ต้องรับโทษ จำนวน 3 ฉบับ มาให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ประกอบด้วย 1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแจงการมีไว้ในครอบครองกัญชา สำหรับผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 และบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ป่วยตามมาตรา 22(2) ก่อนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ให้ไม่ต้องรับโทษ พ.ศ. .... โดยในร่างประกาศฉบับนี้ ยังมีแบบการแจ้งมีไว้ในครอบครอง ยาเสพติดประเภท 5 เฉพาะกัญชา และหนังสือแสดงการมีไว้ในครอบครองยาเสพติดประเภท 5 เฉพาะกัญชา

2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ก่อนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ให้ไม่ต้องรับโทษ พ.ศ. .... โดยในร่างประกาศได้แนบบันทึกแจ้งการมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของผู้ป่วย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และแบบบันทึกแจ้งการส่งมอบและรับมอบยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่มีไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่ใช้รักษาตัวเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

3. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการส่งมอบและการทำลายกัญชาที่ได้รับมอบจากบุคคล ซึ่งไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยในร่างประกาศนี้จะอยู่ในกลุ่มของบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 2 กลุ่มข้างต้น ซึ่งในร่างประกาศนี้ได้แนบแบบบันทึกแจ้งการมีไว้ในครอบครอง การส่งมอบและรับมอบยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นจะหมดเขตรับฟังประชาพิจารณ์วันที่ 22 ก.พ. 2562 โดยแสดงความคิดเห็นได้ผ่านทางเว็บไซต์ อย. http://www.fda.moph.go.th/sites/narcotics/Pages/Main.aspx

20 ก.พ. 2562  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
“หมอธีระวัฒน์” ชี้ กม.นิรโทษกรรมครอบครอง “กัญชา” ต้องไม่เป็นการปิดฝาโลง ห่วง 10 ผลลบเกิดขึ้นแน่หากไม่เข้าใจสถานการณ์หลังร่าง กม.ลูกออก กลุ่มใต้ดิน จิตอาสา กระทบหนัก ผู้ป่วยไม่มียาใช้ต่อ

ความคืบหน้าหลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 เผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกกษา และมีผลบังคับใช้วันที่ 19 ก.พ. 2562 โดยสาระสำคัญ คือ การคลายล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ และมีการนิรโทษหรือไม่เอาผิดผู้ครอบครองกัญชา แต่มาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมกัญชาต้องไม่เป็นการปิดฝาโลง รวมทั้งประมวลกฎหมายยาเสพติดควรต้องเป็นในทิศทางเดียวกัน กฎหมายลูกเมื่อมีพระราชบัญญัติยาเสพติดที่เกี่ยวกับกัญชาออกมาแล้ว จะถูกเขียนโดยสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องระวังไม่ให้เป็นการถดถอย ปิดประตูให้กับผู้ป่วยที่รักษากันเองอยู่แล้ว

ลักษณะของกฎหมายยาเสพติดประเภทที่ห้าฉบับกัญชาที่ว่าเป็นนิรโทษกรรม สามารถจะตีความและเกิดผลรวมในทางลบถ้าไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะกลายเป็นว่า

1. ชมรมใต้ดินที่ช่วยเกื้อกูลเกื้อหนุนทำการปลูกสกัด และใช้น้ำมันหรือตัวที่สกัดได้มาให้คนที่ป่วยด้วยโรคต่างๆ จะกลายเป็นผิดกฎหมายในทันที

2. เมื่อไปแจ้งต่อเลขาธิการสำนักอาหารและยาแล้ว โดยที่ตัวไม่ได้เป็นโรคเจ็บป่วยแต่เป็นคนช่วยคนอื่น จะไม่สามารถประกอบกิจกรรมจิตอาสาไปในทันที และกัญชาจะถูกทำลาย

3. จุดประสงค์สำคัญของการนำกัญชาขึ้นบกก็คือให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาถูกที่สุด และมีความปลอดภัยในตัวกัญชา

4. ลักษณะที่เรียกว่านิรโทษกรรม ถ้าเป็นการมองคนที่มีกัญชาทุกคนเป็นผู้ร้ายหมด จะเป็นการทำร้ายคนป่วยที่กำลังใช้กัญชาทันที และข้อสำคัญก็คือจะกลายเป็นการทำให้ผู้ป่วยไม่มีทางเลือกอีกต่อไปโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้แล้วจากทางการแพทย์ในปัจจุบัน

5. ต้องไม่ลืมว่ากัญชาในทางการแพทย์ที่จะทำการผลิตในลักษณะบนดินจากองค์การเภสัชกรรมหรือแม้กระทั่งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ปริมาณไม่เพียงพอแน่สำหรับจำนวนของผู้ป่วยทั่วประเทศ

6. คนป่วยที่ใช้กัญชาอยู่ขณะนี้ล้วนแต่เป็นคนที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ เช่นจากที่มีอาการเจ็บปวดทรมานจากโรคทางที่เกิดจากโรคมะเร็งและจากสาเหตุอื่นๆ กินอาหารไม่ได้จากโรคเรื้อรัง เด็กที่เกิดมาพิการทางสมองและมีอาการชักไม่หยุดรวมทั้งมีอาการแข็งเกร็ง ตัวแขนขาบิด เด็กที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือมีอาการออทิสติก รวมทั้งภาวะอื่นๆที่กัญชามีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์และคนป่วยที่ยาปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ตั้งแต่โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน คนป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมอาการชักได้ไม่ดี และแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์แปรปรวน หดหู่ซึมเศร้า ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับกัญชาและสามารถควบคุมอาการทางอารมณ์เหล่านี้ได้ กฎหมายดังกล่าวต้องเอื้ออำนวยให้ชมรมจิตอาสา สามารถปฎิบัติต่อได้ไม่เช่นนั้นจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองและผลักคนป่วยได้ทนทุกข์ทรมานต่อไป หรือทำให้เป็นการขาดยา

7. คนที่ทำกัญชาให้คนป่วย ถ้าเมื่อแจ้งแล้ว ของถูกทำลายหรือถูกยึด และเท่ากับต่อจากนี้คนป่วยต้องได้รับกัญชาจากบุคคลที่กำหนดตามกฎหมายซึ่งไม่มีความรู้ที่จะแนะนำ ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์ไม่ใช่เป็นการให้แบบยาปัจจุบันซึ่งตรงไปตรงมาใช้ปริมาณเท่าใดวันละกี่ครั้ง ในโรคหรือภาวะใด แต่การใช้กัญชาจะขึ้นอยู่กับภาวะตอบสนองของแต่ละบุคคลด้วย ทั้งด้านปริมาณและส่วนประกอบที่สำคัญในการออกฤทธิ์ของกัญชา

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ในปัจจุบันพอสมควรที่จะตั้งต้นการรักษาด้วยสารออกฤทธิ์ชนิดใดก่อน รวมทั้งควรจะตั้งต้นด้วยปริมาณเท่าใดและสังเกตอาการข้างเคียงอย่างไร รวมกระทั่งถึงปริมาณสูงสุดที่ไม่ควรใช้เกิน แต่ต้องยอมรับว่าแพทย์แผนปัจจุบันเภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ และแม้แต่แพทย์แผนไทยยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ที่จะบริหารยากัญชาให้ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องโดยมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ลักษณะนี้จะไม่ใช่เป็นการช่วยคนป่วยใดๆ ทั้งสิ้น ผลักคนป่วยที่เคยได้รับยาอยู่แล้ว ไม่ให้ได้รับการเยียวยาต่อพระราชบัญญัติกัญชาที่ออกใหม่ถ้าไม่ระวัง กฎหมายลูกจะเป็นการปิดฝาโลงของคนป่วยที่ใช้กัญชาอยู่แล้วจากการสกัดกันเองหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

8. เวลา 90 วันที่เรียกว่านิรโทษกรรม ความหมายก็คือใครที่มีในครอบครองต้องจดแจ้งหมดและของถูกทำลายหรือถูกยึด ถ้าเกินกว่า 90 วันแล้วใครมีในครอบครองจะมีความผิดทางกฎหมาย ในข้อบังคับที่ตามมา ถึงแม้ว่าจะสามารถขออนุญาตเพื่อที่จะครอบครองในการเจ็บป่วยของตัวเองหรือครอบครองในกรณีที่ตนเองไม่ได้เจ็บป่วย จะต้องไม่มีกระบวนการที่ยุ่งยาก และถ้าจะมีการปลูก สกัด ครอบครอง หรือนำไปให้คนในชุมชนที่เป็นผู้ป่วยแล้วจำต้องมีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและต้องขึ้นทะเบียนอีกจะทำให้เรื่องการขออนุญาตเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างเหลือเชื่อ ต้องทำให้เป็นเรื่องง่ายต่อการปฎิบัติเราต้องไม่ผิดหวังกับข้อบังคับ เหล่านี้ และต้องมั่นใจว่าจะต้องไม่เลวร้ายกว่าและต้องดีกว่าของเดิมอีก

กฎหมายลูก อย. นิรโทษกรรม จะมีปัญหาทันทีถ้าไม่มีหน่วยงานกลางกัญชาจัดการระดับประเทศ ในการรับทราบการปลูก การใช้ สกัด วิจัย รักษา และควบคุม และจัดระบบให้คนป่วยได้ประโยชน์ การเข้าถึงเต็มที เนื่องจากธรรมชาติของ อย.เป็นคนจับ regulator เท่านั้น

9. เราหวังว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดที่จะออกมาในภายหลังจะเป็นลักษณะในทิศทางเดียวกันไม่เช่นนั้นพระราชบัญญัติที่มีการประกาศใช้แล้วในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 นี้จะสูญเปล่าไปในทันที ทั้งหมดนี้เพื่อคุณภาพชีวิตเพื่อการเข้าถึงกัญชาของผู้ป่วย และตั้งตระหนักว่าองค์การอนามัยโลกเองร่วมกับสหประชาชาติได้ประกาศแล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ให้กัญชาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ CBD ออกจากยาเสพติด และถือว่าใช้ในการรักษาโรคและในส่วนของ THC จะมีประโยชน์ในทางการแพทย์แต่เนื่องจากจะเกิดโทษถ้ามีการใช้ผิด ดังนั้นจะต้องมีการควบคุม

10. ประเทศไทยเองในขณะนี้มีความก้าวหน้าในเรื่องของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในชมรมจิตอาสาหรือเปรียบเทียบเทียบได้เท่ากับ ระดับเกือบ 4 ใน 5 ขั้นตอนของการใช้กัญชานั่นคือสามารถใช้ในการรักษาได้ด้วยตนเองโดยรวมกลุ่มกันเป็นชมรม และได้รับการช่วยเหลือกันเอง เทียบได้ว่าเป็น self remedy ดังนั้นเราต้องระวังมีให้ถดถอยกลับไปสู่ขั้นตอนที่ต้องเริ่มต้นใหม่

19 ก.พ. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
อย.คาดออก กม.ลูกนิรโทษครอบครอง “กัญชา” ได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมรับแจ้งการครอบครองทันทีหลังบังคับใช้ แม้เริ่มนับเวลาใน 90 วันไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา เผยส่วนกลางแจ้งที่ อย. ต่างจังหวัดแจ้งที่ สสจ. เตรียมประชุมทำความเข้าใจ 22 ก.พ. นี้ ระบุประชาชนเริ่มสอบถามแล้ว ยันกฎหมายทำให้ทุกอย่างเข้าระบบ มีคุณภาพ มาตรฐาน

ความคืบหน้ากรณี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2562 โดยจะต้องมีการทำกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติออกมารองรับ โดยเฉพาะประเด็นการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชาที่จะต้องดำเนินการใน 90 วัน แต่ร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการนิรโทษยังต้องนำกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาใหม่อีกครั้ง

วันนี้ (20 ก.พ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเตรียมมาตรการรองรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ว่า จริงๆ อย.มีการเตรียมการมาก่อน พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มีผลบังคับใช้ คือ การจัดทำร่างอนุบัญญัติ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ฉบับ โดยมี 5 ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษไปแล้ว แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ได้ให้เพิ่มองค์ประกอบกรรมการอีก 8 คน ทำหน้าที่พิจารณายาเสพติดประเภท 5 หรือกัญชาโดยเฉพาะ ดังนั้น ร่างอนุบัญญัติจึงต้องนำกลับมาเสนอคณะกรรมการยาเสพติดฯ พิจารณาใหม่ ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 22 ก.พ. 2562

“ระหว่างนี้จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นในส่วนของร่างอนุบัญญัติที่เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ เกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา โดยได้จัดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ อย. และเว็บไซต์ Lawamendment รวมถึงจัดรับฟังความคิดเห็นแบบเฉพาะกลุ่ม (โฟกัสกรุ๊ป) ในวันที่ 21 ก.พ. 2562 ที่ อย. โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ภาคเกษตรกรรม ภาคผู้ใช้ คณะทำงานกัญชาระดับกระทรวง ผู้เชี่ยวชาญภายนอกกระทรวง รวมถึง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้รอบด้าน โดยหลังจากรับฟังเสร็จจะปรับร่างแล้วนำเข้าคณะกรรมการยาเสพติดฯ ภายในวันที่ 22 ก.พ. 2562 คาดว่า จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในสัปดาห์หน้า” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับร่างอนุบัญญัติอีก 5 ฉบับที่เหลือนั้น ในส่วนของร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้ จะจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 26 ก.พ. 2562 จากนั้นจึงนำเข้าคณะกรรมการยาเสพติดฯ พิจารณา ก่อนประกาศใช้ แต่ในส่วนของร่างกฎกระทรวงฯ จะต้องส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาอีกถึงจะประกาศบังคับใช้ ขณะที่อีก 2 ฉบับ คือ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับคณะกรรมการบัญชีรับจ่าย และร่างประกาศฯ เรื่องการโฆษณากำหนดฉลากเอกสารกำกับ จะรับฟังความคิดเห็นใน มี.ค. 2562

เมื่อถามว่า การแจ้งครอบครองกัญชาภายใน 90 วัน สามารถมาแจ้งได้เลยหรือไม่ หรือต้องรอออกกฎหมายลูกก่อน นพ.ธเรศ กล่าวว่า การนับเวลา 90 วันให้มาแจ้งการครอบครอง เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ที่กฎหมายบังคับใช้ แต่เนื่องจากกฎหมายออกมาโดยไม่ให้เรามีเวลา จึงต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายลูกให้เร็วที่สุด ซึ่งจะประชุมคณะกรรมการยาเสพติดฯ ได้วันที่ 22 ก.พ. นี้ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้า จึงจะเปิดรับแจ้งการครอบครอง แม้เวลาจะเหลื่อมออกไปนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร และคิดว่าน่าจะพอดีกัน เพราะยังต้องมีการเตรียมความพร้อม เตรียมระบบต่างๆ ทั้งผู้รับแจ้งและผู้มาแจ้งด้วย ซึ่งคิดว่าแบบนี้เร็วที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าย้ำว่า การมาแจ้งการครอบครองต้องเตีรยมตีวอะไรมาบ้าง นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องแยกเป็นกลุ่ม คือ 1.ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา คือ ต้องป่วยจริง โดยมีใบรับรองแพทย์ ทั้งจากแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยก็ได้ ว่าป่วยเป็นโรคอะไร และแจ้งว่าใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาอยู่ ใช้อยู่เท่าไร จะใช้ไปอีกเท่าไร โดยปริมาณต้องมีความเหมาะสม โดยสามารถให้ครอบครองและใช้ยาต่อไปได้ จนกว่าเข้าสู่ระบบใหม่ ให้แพทย์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตรวจและสั่งใช้กัญชารักษา 2.กลุ่มอื่นตามมาตรา 26/5 คือ หน่วยงานภาครัฐ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน เอกชน ชุมชนสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้เดินทางระหว่างประเทศ ต้องมาแจ้งมียาเสพติดประเภท 5 ไว้เพื่ออะไร ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้แค่เรื่องของวิจัยทางการแพทย์ การรักษาทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วย ก็จะได้ใบครอบครอง โดยระหว่างนี้ก็ไปขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ใหม่ และ 3.กลุ่มที่ไม่อยู่ใน 2 กลุ่มแรก คือบุคคลอื่นทั้งหมด ต้องมาแจ้และไม่ต้องรับโทษ โดยยาเสพติดประเภท 5 หรือกัญชาจะตกเป็นของ สธ. หรือต้องทำลายทิ้ง โดย อย.เตรียมที่ไว้สำหรับต้องเก็บกรณีต้องมีการทำลายแล้ว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า การมาแข้งหากเป็นส่วนกลางให้แจ้งที่ อย. และต่างจังหวัดแจ้งที่สำนักงานสาะารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งวันที่ 22 ก.พ. 2562 ในช่วงบ่ายจะมีการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ สสจ.ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของการรับแจ้งครอบครองต่างๆ นอกจากนี้ การดำเนินงานเตรียมความพร้อมยังมีอีกหลายส่วน เช่น การจัดเตรียมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม และทำการฝึกอบรม โดยกรมการแพทย์รับจะเร่งดำเนินการภายใน 90 วัน รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รับไปดำเนินการภายใน 90 วันเช่นกัน ส่วนเรื่องของห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เตรียมไปดำเนินการ

เมื่อถามว่า ถ้าบุคคลอื่นแจ้งแล้ว กัญชาถูกทำลายก็จะไม่มีของให้ผู้ป่วย ทำเข้าถึงไม่ได้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามมาตรา 22 กำหนดไว้เป็นเช่นนั้น การออกอนุบัญญัติจึงทำตามกฎหมายฉบับแม่ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. ซึ่งเจตนารมณ์คือให้ระบบต่างๆ เข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐาน เช่น ผู้จ่ายยาเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ที่มีองค์ความรู้ ผู้ผลิตผลิตยากัญชาจากแหล่งผลิตมีคุณภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มียาฆ่าแมลง จึงวางระบบขออนุญาตการผลิตไว้เป็นผู้ผลิตตามกฎหมาย มีขั้นตอนทำอะไรบ้าง เพื่อได้ผลผลิตมาตรฐานมีคุณภาพปลอดภัย เป็นการจัดระบบเข้าสู่ความปลอดภัยต่อประชาชน ส่วนหน่วยงานอื่นที่จะทำสารสกัดก็เร่งรีบที่จะทำ เช่น องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยต่างๆ คณะกรรมการก็คำนึงถึงประเด็นหลัก คือ คนไข้ที่ต้องการใช้ยา ช่วงเปลี่ยนผ่านก็ให้ใช้ยาต่อไปได้ เช่น แจ้งใช้ยาอยู่ และยังไมมีการผลิตทดแทนก็ใช้ยาไปก่อน คนผลิต กฎหมายต้องการให้เข้าสู่มาตรฐานและรับการขึ้นทะเบียน

เมื่อถามว่า สภาเกษตรกรบอกหารือ อย.แล้วเรื่องดึงชมรมใต้ดินมาร่วมด้วย นพ.ธเรศ กล่าวว่า คนที่จะมาขออนุญาตต้องเข้ามาตรา 26/5 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติด โดยต้องตรวจสอบคุณสมบัติกันก่อนว่า จะขออนุญาตได้หรือไม่ อย่างไร กฎกระทรวงจะมีรายละเอียดกำหนดไว้ จะมีกรอบการดำเนินการอย่างไร มีแผน มีการควบคุมอย่างไร ต้องเดินเข้าตามกฎระเบียบที่มีอยู่ จึงจะอนุญาตได้ตามกฎหมายที่มี

20 ก.พ. 2562   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
คกก.ยาเสพติดฯ เห็นชอบร่าง กม.ลูกนิรโทษครอบครอง “กัญชา” 3 ฉบับ ปรับเพิ่มใช้ประโยชน์จากของกลางที่ยึดได้แทนการทำลาย ส่วนผู้ป่วยแจ้งใช้ต้น ใบ ดอกกัญชารักษาได้ ชง รมว.สธ.ลงนาม คาดประกาศใช้สัปดาห์หน้า พร้อมไฟเขียวร่างกฎกระทรวงการปลูก-ผลิต ต้องร่วมภาครัฐ มีปริมาณชัดใช้ทำวิจัย-สารสกัดเท่าไร พ่วงประกาศฯ ตำรับยาและผู้ประกอบวิชาชีพ เผยอนุญาตให้ใช้ 16 ตำรับยาไทยมีกัญชาผสมก่อน จ่อรับฟังความเห็น 26 ก.พ.นี้

วันนี้ (22 ก.พ.) คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษชุดใหม่ ที่มีกรรมการเพิ่มเติมใหม่ 8 คน ได้ประชุมพิจารณาร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับกัญชาเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างอนุบัญญัติทั้งหมด 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา ในบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหน่วยงานวิจัยภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบวิชาชีพ กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลอื่น ที่จะต้องมาแจ้งภายใน 90 วัน ซึ่งได้มีการแก้ไขตามที่รับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2562 ดังนั้น วันนี้จะเสนอ รมว.สาธารณสุข ลงนามในร่างประกาศฯ และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ต่อไปได้

นพ.ธเรศกล่าวว่า ส่วนอีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้ และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน ซึ่งก็ได้เห็นชอบเช่นเดียวกัน และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 26 ก.พ. 2562 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่สืบค้นได้มีกว่า 20,000 ตำรับ ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าตำรับ ที่มี “กัญชา” เข้าสูตร จึงร่วมสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาก็พบว่า ทั้ง 200 กว่าตำรับก็มีความทับซ้อนกันบ้าง สูตรไม่ชัดเจน เหลือประมาณ 96 ตำรับ โดยนำมาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม ก. สูตรมีความชัดเจน มีวิธีการปรุงและผสมชัดเจน รวมถึงมีประสิทธิผลในการนำมาใช้ได้ มีจำนวน 16 ตำรับ ซึ่งจะให้นำมาใช้ก่อน โดยจะประกาศลงในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดตำรับยา ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้รักษากลุ่มอาการ ปวด นอนไม่หลับ เป็นต้น โดยแพทย์แผนไทยที่มีใบประกบวิชาชีพทั้งแผนไทยและแผนไทยประยุกต์สามารถนำ 16 ตำรับนี้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า กลุ่ม ข. เป็นกลุ่มที่สูตรชัดเจน แต่วิธีการปรุงผสมยังไม่ชัด ต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อน เพื่อนำมาพิจารณาใช้อีกทีภายหลัง กลุ่ม ค.คือสูตรยังไม่ชัดเจน ก็ต้องไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และกลุ่ม ง. กลุ่มที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ที่มีการสมุนไพรบางตัวหรือสัตว์วัตถุบางชนิดที่เข้าสูตรอยู่ ดังนั้น ที่ให้ใช้ได้คือ กลุ่ม ก. จำนวน 16 ตำรับ ตอนนี้ก็เตรียมการเรื่องการปลูกให้ได้มาตรฐานเพื่อนำไปผลิตให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล

เมื่อถามถึงร่างประกาศฯ นิรโทษมีการแก้ไขตามที่รับฟังความเห็นอย่างไรบ้าง นพ.ธเรศกล่าวว่า ในส่วนของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานวิจัยและผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ เดิมทีกำหนดให้ยึดของกลางและนำไปทำลายทิ้ง ก็มีความเห็นว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์กับประเทศ แทนที่จะทำลายก็เพิ่มบทบัญญัติว่า กรณีต้องการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถขอการใช้จากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เช่น นำไปวิจัยหาสารสำคัญ ศึกษาสารปนเปื้อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วยแจ้งการใช้ต้น ใบ ดอก เพิ่มจากที่เป็นตำรับสำเร็จแล้วหรือน้ำมันที่สำเร็จแล้ว เพื่อให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ ย้ำว่าผู้ป่วยที่มาแจ้งการครอบครองสามารถมาแจ้งปริมาณการใช้จำนวนเท่าไรได้ ไม่ได้กำหนดว่าปริมาณการใช้ต้องเป็น 90 วันตามเวลาที่ให้มาแจ้งการครอบครอง อาจแจ้งปริมาณการใช้ตามความจำเป็นมากกว่า 90 วันได้ก็สามารถครอบครองและใช้ต่อได้ เพื่อไม่ให้กระทบการดูแลสุขภาพ

เมื่อถามว่า แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ที่จะใช้กัญชาในการรักษาต้องผ่านการรับรองอะไรบ้าง นพ.ธเรศ กล่าวว่า แพทย์ที่สามารถใช้กัญชาได้ คือ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ รวมถึงกลุ่มหมอพื้นบ้าน ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอระเบียบใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาวิชาชีพแพทย์แผนไทย ถ้าเรียบร้อยจะเสนอ รมว.สาธารณสุขลงนาม โดยหมอพื้นบ้านที่ผ่านการรับรองจากรมการแพทย์แผนไทยฯ ไปแล้วจำนวน 3,000 คน ก็ต้องเข้าสู่ระเบียบใหม่นี้เช่นกัน แต่มีการทำกระบวนการเชื่อมต่อไว้แล้ว แต่ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน หลักการจะต้องมีความรู้ คือ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคจากกรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่สามารถใช้กัญชารักษาได้

เมื่อถามย้ำถึงกลุ่มจิตอาสาจะทำให้ถูกต้องได้อย่างไร นพ.ธเรศกล่าวว่า ในทางกฎหมายก็มีช่องที่จะเข้าคือ เป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งจริงๆ ก็ตรงกันเมื่อไปดูตามระเบียบหมอพื้นบ้านก็คือทำในพื้นที่ชุมชนได้รับการยอมรับมาเป็น 10 ปี ก็ใกล้เคียงกับความรู้สึกของคำว่าจิตอาสา ตรงนี้อาจเป้นอีกอันหนึ่งที่เข้าได้ แต่เรื่องของของ ถ้าแจ้งแล้ว สธ.ได้เก็บไว้ ถ้าสมมติคิดว่าเป็นของที่มีประโยชน์ ไม่มีอันตราย มีการตรวจวิเคราะห์ที่ดี มีส่วนไหน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือหน่วยวิจัยก็สามารถนำไปใช้ได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นประโยน์อยู่ กฎหมายต้องไปเช่นนี้จริงๆ

เมื่อถามถึงรายละเอียดของร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการปลูก การผลิต ต่างๆ นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างการผลิตจะกำหนดไว้ว่า ใครจะผลิตได้บ้าง เช่น หน่วยงานรัฐ แพทย์ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน จะต้องขออนุญาตการผลิตกัญชาจากคณะกรรมการยาเสพติดฯ และใน 5 ปีแรกจะต้องทำร่วมกับหน่วยงานรัฐเท่านั้น และหากเป็นภาคเอกชนจะต้องเป็นเอกชนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทย หากเป็นนิติบุคลลจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนที่ 2 ใน 3 ต้องเป็นคนไทยถือครอง เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะอยู่ในระบบการดูแล

เมื่อถามว่าขณะนี้มีหลายพรรคการเมืองหาเสียงโดยชูนโยบายปลูกกัญชาเสรี กฎหมายทำได้แค่ไหน นพ.ธเรศ กล่าวว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับอนุญาต เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน โดยหลักการไม่ได้อนุญาตให้ปลูกเสรี ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนก้ต้องไปร่วมกับหน่วยงานรัฐในการที่จะปลูก และกฎกระทรวงที่เขียน คือ กำหนดไว้ว่า การจะปลูกต้องมีวัตถุประสงค์ในการปลูก เพราะหลักใหญ่ คือ วิจัยทางการแพทย์ และใช้ในผู้ป่วย ผู้จะขออนุญาตการปลูก นอกจากคุณสมบัติตามหน่วยงานที่กำหนดแล้ว หากบอกว่าปลูกเพื่อทำการวิจัยก็ต้องบมีโครงการการวิจัยและไปร่วมกับใครที่ทำกรวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยอะไร ใช้วิจัยประมาณเท่าไร หรือปลูกเพื่อสกัดเป็นยา ส่งให้แพทย์แผนไทย ก้ต้องมีข้อตกลงจากบริษัทที่จะทำก่อน คล้ายๆ Contract Farming หลักการคือเพื่อให้ปริมาณของกัญชาที่ได้รับอนุญาตเหมาะสมกับทั้งประเทศ เพื่อให้ควบคุมระบบได้ ไม่ออกไปนอกระบบ และไทยยังอยู่ภายใต้สนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ จึงต้องแจ้งโควตาการผลิต การส่งออก การจำหน่าย ให้กับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

22 ก.พ. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
รมว.สธ.ลงนามร่าง กม.นิรโทษครอบครอง “กัญชา” แล้ว คาดออกประกาศในราชกิจจาฯ 26 ก.พ.นี้ อย.เตรียมพร้อมรับแจ้ง กลุ่มองค์กรวิจัย-ผู้ป่วย ไม่ต้องเอาของกลางมา เว้นบุคคลทั่วไป พร้อมเปิดสายด่วน 1556 ให้สอบถามรายละเอียด ประธาน คกก.ควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ชี้ไทยปลูกกัญชาเสรียาก เหตุร่วมอนุสัญญากับยูเอ็น เผยหลายประเทศปลูกเสรีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษสามารถทำได้

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เพื่อรองรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดใหโทษ พ.ศ. 2562 ในงานประชุมวิชาการแห่งชาติ “ผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย ปลอดภัย” ว่า ขณะนี้ไม่ว่าเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำงานในเชิงรุกทุกด้าน โดยเรื่องที่สำคัญ คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเรื่องร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับเกี่ยวกับนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา อย.ได้ส่งข้อมูลให้ฝ่ายกฎหมายดูแล้ว และตนได้ลงนามไปแล้วเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 25 ก.พ. คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 26 ก.พ. 2562 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษได้ผ่านการสอบถามความคิดเห็นต่างๆ มีการประชาพิจารณาแล้ว เพื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ส่วนเรื่องโรงงานยาสูบต้องคุยในรายละเอียดต่อไป

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า หลัง รมว.สาธารณสุข ลงนามในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา โดยจะละเว้นให้กับกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม คือ องค์กรวิจัย สถาบันการศึกษา แพทย์แผนไทยแพทย์แผนปัจจุบัน กลุ่มผู้ป่วย และบุคคลอื่นๆ หากมาแจ้งครอบครองภายใน 90 วันก็จะไม่ต้องรับโทษ ขั้นตอนต่อไป คือ รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าไม่น่าเกิน 1-2 วันนี้ ซึ่งในส่วนของการเตรียมพร้อมรองรับการมาแจ้งการครอบครอง ได้เตรียมพร้อมหมดแล้ว ทั้งในส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ อย. ส่วนภูมิภาค จะเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ โดยใครที่มีกัญชาในครอบครอง เมื่อมาแจ้งต้องนำของกลางมาด้วย แต่หากมีจำนวนมากเกินไปให้แจ้งทางหน่วยงานรัฐ จะมีคณะกรรมการตรวจรับในแต่ละจังหวัดพิจารณาเป็นรายๆ ไป

“การมาแจ้งการครอบครองที่ไม่ต้องนำกัญชามา จะเป็นกลุ่มที่ 1 และ 2 คือ กลุ่มองค์กรวิจัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เพราะจะต้องมีการแจ้งและแนบเอกสารหลักฐานโครงการวิจัย หรือการศึกษากัญชาทางการแพทย์ จำนวนปริมาณที่ใช้ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยก็จะต้องแนบใบรับรองการป่วยจากแพทย์ จะมีก็เพียงกลุ่มที่ 3 บุคคลอื่นที่ต้องนำกัญชามาส่งให้หน่วยงานรัฐเก็บไว้ และหากจะขออนุญาตครอบครองก็ต้องทำตามกฎระเบียบที่กำหนด” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า จะมีคนมาแจ้งการครอบครองมากหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องรอดูก่อน เนื่องจากช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่มาก เพราะอาจจะขอเวลาดูท่าที หรือเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเอกสารหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรากำลังเตรียมพร้อมเรื่องคำแนะนำต่างๆ อย่างสายด่วน อย. 1556 กด 3 เป็นการตอบคำถามประเด็นกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งจะเปิดบริการวันที่ 27 ก.พ. ในวันและเวลาราชการ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนการออกอนุบัญญัติฉบับอื่นๆ กำลังจะทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้เกิดระบบที่ดีที่สุด ในวันที่ 26 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ จะมีการรับฟังความคิดเห็นแบบเฉพาะกลุ่มในร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. ... และ 3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วย วิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่จะสามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ. ... โดยเริ่มรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์มาแล้วตั้งแต่วันที่ 23-25 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) กล่าวถึงนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งที่ชูการปลูกกัญชาเสรี ว่า เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากไทยเข้าร่วมภาคีเครือข่ายอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะสามารถใช้กัญชาได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และหากในอนาคตไทยต้องการที่จะปลูกกัญชาเสรี ต้องออกจากอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ในหลายๆ อย่าง ในการซื้อขาย นำเข้ายาต่างๆ ที่รักษาโรค โดยไทยเข้าร่วมอนุสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2504 โดยทั่วโลกมี 196 ประเทศ ที่เข้าร่วม

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในหลายประเทศที่ปลูกกัญชาเสรีนั้น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกาที่หลายรัฐมีการปลูกกัญชาเสรี ซึ่งทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับทุกรัฐที่ปลูกกัญชาหรือให้ประชาชนสูบกัญชาอย่างเสรี เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฎหมายของรัฐบาลกลางอย่างรุนแรง รัฐบาลกลางจึงมีการดำเนินนโยบายที่จะจัดการกับรัฐพวกนี้อยู่ ซึ่งทางสหประชาชาติจะไม่เจรจาโดยตรงกับแต่ละรัฐ หน่วยงานที่จะเจรจา คือรัฐบาลกลางเท่านั้น ส่วนกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ที่ รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอยู่นั้น สอดคล้องกับสนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ที่ให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ซึ่งทาง INCB ได้ติดตามการดำเนินงานของไทยในเรื่องกัญชามาโดยตลอด ส่วนกระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกัญชา ที่ไทยทำอยู่นั้น อยู่ในสนธิสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ ของสหประชาชาติ ที่ทำได้ และเห็นว่า ครอบคลุม ซึ่งในหลายประเทศก็มีการทำในลักษณะเช่นนี้

25 ก.พ. 2562 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
“หมอปิยะสกล” นำทีมปลูก “กัญชา” ทางการแพทย์ถูกกฎหมายต้นแรกของไทยและอาเซียน ด้วยระบบรากลอย ช่วยได้สารสกัดตามต้องการ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ย้ำต้องปลูกในระดับเมดิคัลเกรด ถึงทำเป็นยาและส่งออกได้ ช่วยเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต คาด ก.ค.ได้น้ำมัน 2,500 ขวด ผู้เชี่ยวชาญเผย ใช้สายพันธุ์ลูกผสมนำเข้า 3 รูปแบบ เหตุพันธุ์ไทยยังไม่มีการปรับปรุงให้มีความคงตัวของสารสำคัญ

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่โรงงานผลิตยารังสิต คลอง 10 จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พร้อมเปิดโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 และนำทีมผู้บริหารปลูกต้นอ่อนกัญชาล็อตแรกจำนวน 140 ต้น ซึ่งเป็นการปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายครั้งแรกของไทยและอาเซียน ซึ่ง นพ.ปิยะสกล เป็นผู้นำทีมปลูกต้นแรก ในเวลา 15.19 น. โดยนำต้นอ่อนกัญชาลงในจุดปลูก ซึ่งเป็นระบบรากลอย (Aeroponics) โดยมีการควบคุมแสง และอุณหภูมิ เพื่อให้ได้สารสกัดตามที่ต้องการและมีความคงตัว ไม่เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลง เพื่อนำมาผลิตยาจากกัญชา ชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องทำให้กัญชาของประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ที่ออกมา หลักการ คือ ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการวิจัยและทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ กัญชายังเป็นพืชเสพติด และไทยเข้าร่วมอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากเอาไปใช้โดยไม่ใช่ทางการแพทย์จะผิดอนุสัญญาตรงนี้ ซึ่งท่านประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ยังบอกว่า การที่ไทยออก พ.ร.บ.นี้ออกมา ถูกต้องครบถ้วนตามที่ยูเอ็นและนานาชาติให้ความเห็น ดังนั้น เราต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหลายชาตินำไปแล้วหลาย 10 ปี เช่น แคนาดา อิสราเอล แม้ พ.ร.บ.จะออกมาเพื่อกันต่างชาติ ให้คนไทยพัฒนาและใช้ประโยชน์ใน 5 ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งตนตั้งเป้าอยากให้พัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเฮเข้ามา เราต้องเตีรยมพร้อม

“เราจะเร่งพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ อภ.จะปลูกกัญชา ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ไหนก็ได้มาปลูก ต้องใช้คำว่าได้มาตรฐานระดับนานาชาตินำไปทำยาอย่างแท้จริง หรือเมดิคัลเกรด (Medical Grade)” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาต่างชาติใช้กัญชาทางการแพทย์มาก่อนเรา จึงต้องเร่งพัฒนาสารสกัดให้ได้คุณภาพระดับเมดิคัลเกรด เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง อภ.ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเยอะมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดด้วยการทุ่มงบประมาณ10 ล้านบาท เพื่อทำการปลูกกัญชาในรูปแบบระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล โดยต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิผล ใช้เป็นยาที่มีคุณภาพอย่างไร เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารสำคัญต่างกันใช้รักษาโรคต่างกัน จะปลูกพันธุ์ไหนรักษาโรคอะไร 2.เรื่องความปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ปนเปื้อนโลหะหนัก และ 3.คุณภาพจองแต่ละล็อต สารสำคัญต้องคงที่ โดยเฉพาะสารทีเอชซีและซีบีดี ทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็นเมดิคัลเกรดหรือเกรดใช้ทำยาได้ เพราะอยากให้คนไทยใช้ของมีคุณภาพและได้ผลจริง

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เหตุที่ต้องใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพราะเราเซตมาตรฐานไว้ การได้กัญชามาทำยา ต้องเป็นระดับความคงตัวสารตั้งต้น ดอกและสายพันธุ์ต้องคงตัว ทำให้เป็นต้นแบบ ลงทุนเรื่องโรงเรือน ระบบปลูกที่ใช้เทคโนโลยี อินดอร์ เร่งการผลิตได้คงตัว สม่ำเสมอ ระบบรัษาความปลอดภัย ให้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งจากแผนกำหนดการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ หลังจากปลูกในวันนี้ จะใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน และคาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วง ก.ค.นี้ จำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยจะนำมาใช้รักษาในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้ว 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โดยการใช้น้ำมันกัญชาจะเป็นโครงการความร่วมมือกับโครงการวิจัยต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ตั้งอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเตรียมสถานที่ เก็บรักษา ควบคุมการปลูก และข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานของเมดิคัลเกรด ซึ่งในส่วนของ อภ.ที่จะทำการปลูก ได้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด เช่น มาตรฐานโรงเรือน มีความมิดชิด มาตรฐานที่ตั้ง เป็นเอกเทศ โครงสร้างแข็งแรง เรื่องข้อกำหนดระบบความปลอดภัย การติดกล้องวงจรปิดรอบทิศทาง การเคลื่อนย้ายต้นกัญชา แผนรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล ผู้รับผิดชอบ ประตูเข้าออก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสำรองข้อมูล และต้องพร้อมให้ตรวจกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดการลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งเราหวังให้เป็นต้นแบบมาตรฐาน

ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช อภ.กล่าวว่า หลายคนบอกว่า ทำไมไม่ใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย นั่นเพราะกัญชาสายพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูง ก่ออาการเมามาก ส่วนซีบีดีต่ำ ซึ่งการทำเป็นยาต้องมีสาร 2 ตัวนี้ ขึ้นกับแต่ละโรคว่าต้องใช้สารตัวไหนมากน้อยย่างไร อย่างเช่น โรคลมชัก ต้องใช้สารซีบีดีมาก อาจไม่เหมาะกับพันธุ์ไทย แต่เรื่องผลข้างเคียงจากคีโมพันธุ์ไทยอาจเหมาะสม แต่ว่าพันธุ์ไทยยังไม่ได้รับปรับปรุง จึงนำพันธุ์ต่างประเทศที่ปรับปรุงแล้วเข้ามา คือ สายพันธุ์ลูกผสม โดยนำเข้ามา 3 ส่วน คือ กลุ่มที่สารซีบีดีสูง กลุ่มสารทีเอชซีสูง และกลุ่มที่สารทีเอชซีและซีบีดีเป็น 1 ต่อ 1 ทั้งนี้ การปลูกในระดับเมดิคัลเกรดนั้น ทุกต้นที่ปลูกต้องเหมือนกัน หรือโคลนนิงออกมาให้สารสำคัญเท่ากัน เพราะหากเอาเมล็ดมาปลูกแต่ละต้นจะได้สารสำคัญไม่เท่ากัน ทั้งนี้ การปลูกระดับเมดิคัลเกรด อภ.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมาร่วมกันทำเมดิคัลเกรด เนื่องจากการส่งออกจะส่งออกได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ถ้าไม่ได้เมดิคัลเกรดจะส่งออกไม่ได้ สำหรับการปลูกระบบรากลอยจะช่วยให้ได้สารสำคัญตามที่ต้องการ ทั้งนี้ การลงทุน 10 ล้านบาทในการปลูกระบบรากลอยด้วยมาตรฐานเมดิคัลเกรดถือว่าคุ้มค่า เพราะหากนำเข้ากัญชาถูกที่สุดกิโลกรัมละ 1.5 แสนบาท ปีหนึ่งใช้ 100 กิโลกรัมก็ 15 ล้านบาทแล้ว

27 ก.พ. 2562  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9704
    • ดูรายละเอียด
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ นิรโทษผู้ครอบครอง “กัญชา” 3 กลุ่ม เผยกลุ่มหน่วยงาน-บุคคลด้านวิจัยและรักษามี 7 ประเภท แจ้งครอบครองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ กลุ่มผู้ป่วยต้องมีใบรับรองยืนยันป่วยจริง ทั้งจากแพทย์ หมอฟัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน จำนวนต้องเหมาะสมกับโรค ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นต้องส่งมอบกัญชา โดยตั้งคณะทำงานรับมอบ และคณะทำงานทำลายกัญชา คณะละ 3 คน หากจะขอใช้ประโยชน์ให้แจ้ง อย.-สสจ.

วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงนามโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย

1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแจ้งการมีไว้ในครอบครองกัญชา สำหรับผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 และบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ป่วย ตามมาตรา 22(2) ก่อนพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ให้ไม่ต้องรับโทษ พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานหรือบุคคลผู้ครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย ต้องแจ้งลักษณะและปริมาณกัญชาที่มีไว้ในครอบครองภายใน 90 วัน นับแต่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษ มีดังนี้

1.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 2.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย

3.สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย และจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ 4.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ 5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 6.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว และ 7.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ขออนุญาตในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องมีสัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และกรรมการของนิติบุคคลหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีสำนักงานในประเทศไทย ทั้งนี้ สามารถดำเนินการแจ้งการครอบครองด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาประกาศ และหากคุณสมบัติผ่านจะได้รับหนังสือแสดงการครอบครองกัญชา

2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ก่อนพระราชบญัญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับให้ไม่ต้องรับโทษ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และมีไว้ในครอบครองก่อน พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้แสดงเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงอาการความเจ็บป่วยจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ภายใน 90 วัน ให้ใช้กัญชาดังกล่าวรักษาโรคเฉพาะตัวต่อไปได้

ปริมาณของกัญชาที่มีไว้ในครอบครองในการรักษาโรคเฉพาะตัว ต้องเหมาะสมกับลักษณะของโรค โดยพิจารณาจากเอกสารหรือหลักฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ ปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ ต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะได้รับการรักษาและได้รับกัญชาที่สั่งจ่ายจากหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีใบอนุญาต กรณีมีกัญชาไว้ในครอบครองปริมาณเกินตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งและส่งมอบกัญชาปริมาณที่เกินดังกล่าว แจ้งการครอบครองได้โดย กทม.แจ้งที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จังหวัดอื่นแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่เลขาธิการ อย.ประกาศ

และ 3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้ทำลายกัญชาที่ได้รับมอบจากบุคคล ซึ่งไม่ต้องรับโทษ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้กัญชาที่ได้รับมอบจากผู้มีไว้ในครอบครองก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ คือ ผู้ไม่ได้รับหนังสือแสดงการมีไว้ในครอบครองกัญชาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับแรก ให้ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้แจ้งและส่งมอบกัญชาในท้องที่ของสถานที่ที่มีไว้ในครอบครอง โดย กทม.ให้แจ้งและส่งมอบที่ อย. จังหวัดอื่นให้แจ้งและส่งมอบที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ให้มีคณะทำงานตรวจรับกัญชา จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อตรวจรับกัญชาและส่งมอบให้กับคณะทำงานทำลายกัญชา ส่วนคณะทำงานทำลายกัญชา กำหนดให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยเขต กทม.ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้แต่งตั้ง มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และ อย. จังหวัดอื่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง มีผู้แทนจาก ปปส. ตำรวจภูธรจังหวัด และ สสจ. โดยให้เสนอปลัด สธ.หรือผู้ว่าฯ ขออนุมัติทำลาย กรณีมีผู้ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์กัญชาที่มีผู้ส่งมอบ ให้แจ้งต่อ อย.หรือ สสจ. เพื่อเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา จากนั้น อย.หรือ สสจ.จึงส่งมอบกัญชาให้ผู้ประสงค์ขอใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 ฉบับ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


26 ก.พ. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์