ผู้เขียน หัวข้อ: “หัวใจพยาบาล” เดินทางไปชุบชีวิตถึงบ้าน นี่แหละ!! ต้นแบบคนวงการแพทย์ไทย  (อ่าน 863 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
                 “ถ้าเราทำงานแบบ เข้า 8 โมงเช้า ออก 4 โมงเย็น ผลมันก็จะออกมาอีกแบบนึง แต่นี่เราไม่ได้เอาเรื่องเวลามาเป็นตัวกำหนด ต่อให้มันจะเกินเวลาชีวิตเราไปเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้มานั่งคิด” เจาะเบื้องหลังความคิด “ข้าราชการดีเด่น” คนต้นแบบวิชาชีพพยาบาลและการแพทย์ ผู้ทุ่มทั้งเวลา พลังสมอง แรงกายและแรงใจ เพื่อฉุดชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นจากโคลนตม ผ่านบทบาท “นางพยาบาลชุมชนนักพัฒนา” ผู้เยียวยาบาดแผลทางสังคมด้วยใจศรัทธา จนใครๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เธอทำช่างน่ายกย่อง และเป็นยิ่งกว่าแค่คำว่า “หน้าที่” อย่างแท้จริงมั่นใจได้เลยว่า หลังจากได้ทำความรู้จักกับเจ้าของชื่อ “โย-อุบลวรรณา เรือนทองดี” โลกของ “พยาบาล” ที่หลายคนคุ้นชินจะเปลี่ยนไปตลอดกาล คือเปลี่ยนจากภาพการให้บริการในสถานพยาบาลตามกะเวลาที่ได้รับมอบหมาย กลายเป็นภาพของการลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ ไม่มีกรอบแม้แต่คำว่า “นางพยาบาล-คนไข้” เข้ามาครอบไว้ แต่กลับเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นระหว่างสถานะ “พี่-น้อง” “ลูกหลาน-ตายาย” อย่างที่หลายชีวิตในชุมชน อ.บางปลาม้า มีโอกาสได้รับรู้ถึงความรู้สึก จนถึงขั้นซึมลึกลงไปถึงหัวใจ เช่นเดียวกับเรื่องราวน่าประทับใจที่เกิดขึ้นกับ “ป้าแอ๊ด” หนึ่งในคนไข้ในความรับผิดชอบของ “นางพยาบาลผู้ให้” รายนี้ ที่ถูกฟื้นชีวิตให้กลับคืนมาใหม่ จาก “ผู้ป่วยติดเตียง” นอนแน่นิ่งด้วยโรคทางใจ ให้กลับมาลุกเดินสร้างประโยชน์ให้สังคม“ลักษณะอาการของเขาตามการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วก็คือ “โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง” ค่ะ ก่อนหน้านี้ที่มาพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ เขาก็จะมีอาการนอนนิ่งเฉย นิ่งชนิดที่เป็นผักเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม ใครจะพูดอะไรก็ไม่หือไม่อือ ไม่สบตา เหมือนสภาพทางสังคมของเขาถูกตัดขาดไป ถึงกับต้องคอยให้คนมาดูแล พลิกตะแคงป้อนข้าวให้สภาพที่เจอครั้งแรก พี่แกนอนตัวแบน ตัวราบไปกับพื้นเลย ไม่พูดไม่จา ไม่สบตา เอาแต่นอนและเอาแต่หลับตาอย่างเดียว ส่วนที่คอก็สวมลูกประคำ ไม่ว่าใครจะมาพูดมาคุยด้วยก็ไม่ตอบสนอง ไม่กระดุกกระดิกตัวเลย จนพลอยกระทบร่างกายของพี่เขาไปด้วย คือนอนนานจนมือเขาแข็งไปเลย เพราะเส้นยึด ข้อต่างๆ เลยติดไปด้วย แต่มาวันนี้พี่เขาก็ลุกขึ้นมานั่ง และทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้แล้วถามว่าอะไรทำให้แกเปลี่ยนไปได้ ถ้าให้ประเมินจากมุมมองของพยาบาล พี่ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างพี่กับพี่แอ๊ด ที่มันเกิดความไว้วางใจกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน และความสม่ำเสมอที่เราเข้ามาหาเขา ด้วยความที่เราไม่ได้เข้าไปอย่างเป็นทางการ หรือเข้าไปแบบพยาบาลเยี่ยมบ้าน แต่เราเข้าไปแบบเพื่อนบ้าน แบบน้องคนนึง แสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นห่วง ถ้ามีโอกาสไหนที่เรามาหาเขาได้ เราก็จะไป บางทีช่วงแรกๆ ที่ไปหา ถ้าแกไม่พูด เราก็ต้องอาศัยการเดาใจเอาไว้ก่อน ถ้าเอาของไปให้ ถ้าแกไม่ถูกใจ เช่น มะละกอ ที่เคยเอาไปให้ และเราก็ไม่รู้ว่าแกไม่กินด้วย แกก็จะบอกว่าเอามาทำไม (หัวเราะ) เลยบอกแกว่าเอามาแล้ว ยังไงก็ต้องกินแหละ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องตลกไปหลังจากนั้นเขาก็รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสนุกมากขึ้น เพราะรู้สึกเหมือนมีเพื่อนมาคุย ถ้าวัดจากการประเมินในฐานะพยาบาลก็อาจจะตีความไปได้ว่า มันคงเป็นเรื่องของการรู้สึกมีตัวตน ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง จากก่อนหน้านี้ที่เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่เคยมีตัวตนในสังคม”คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ปิดรับการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก หรือแม้แต่กับญาติๆ ภายในบ้านเองไปแล้ว ได้กลับมาเปิดหูเปิดตารับรู้โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง แต่นางพยาบาลหัวใจแกร่งรายนี้ก็ค่อยๆ ทุบทะลวงกำแพงใจเหล่านั้นเข้าไป ด้วยการคอยกระตุ้นผ่านวิธีสร้างกำลังใจในหลากหลายรูปแบบ
                หนึ่งในนั้นคือการสัมผัสแสดงความรักต่อกันผ่าน “ภาษากาย” อย่างที่มือเล็กๆ ของเธอกำลังเกาะกุมส่งผ่านพลังไปสู่อีกมือหนึ่ง ตลอดการพูดคุยอย่างเป็นกันเองในระหว่างที่นั่งอยู่ในตัวบ้าน ในฐานะ “น้องรัก” คนนึง “จากที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย และรู้สึกเป็นภาระของคนอื่น พี่ก็เริ่มทำความเข้าใจพี่เขาจากจุดนั้น แล้วค่อยๆ ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น จนกระทั่งเขาเริ่มลุกขึ้นนั่งได้ พี่ก็จะเริ่มกระตุ้นเขาเล็กๆ น้อยๆ ไปทีละเรื่อง เริ่มที่เรื่องบ้านไม่สะอาดก่อน (ยิ้ม) พอเขารับรู้ตามที่เราบอก วันต่อมาเขาก็เริ่มลุกขึ้นมาเก็บกวาด ซึ่งมันก็เป็นผลดีต่อเขาในเรื่องของการเคลื่อนไหว ทำให้ข้อต่อต่างๆ ของเขาไม่ยึดพอเราเห็นพัฒนาการหลายๆ อย่างที่ดีขึ้น อย่างเรื่องบ้านที่สะอาดสะอ้านเป็นระเบียบมากขึ้น เราก็เอ่ยชมเขา ตัวพี่เขาเองก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และพอเราได้เห็นเขารู้สึกดีกับตัวเองได้ในเรื่องนั้น พี่ก็อยากเห็นเขาภูมิใจในตัวเองมากขึ้น มากกว่าเรื่องการจัดการตัวเองภายในบ้าน  คือพี่อยากให้เขาได้มีตัวตนในสังคม อยากให้คนภายนอก คนที่อยู่ในสังคมคนอื่นๆ ได้รู้จักพี่แอ๊ด ได้เห็นคุณค่า ตัวตน และความสามารถของพี่เขา ก็เลยบอกพี่แอ๊ดว่าจะชวนไปสอนภาษาอังกฤษ เพราะก่อนหน้านี้ พี่เขาเคยทำงานที่สถาบันเทคนิคการแพทย์ รับเจาะเลือด ตรวจแล็บ ซึ่งเป็นแล็บที่ตั้งอยู่เมืองนอก ทำให้ไม่ได้ใช้ชีวิตที่ไทยมากนัก และต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอยู่ตลอด พี่เลยอยากให้พี่เขาได้ดึงความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ออกไปใช้ ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น ซึ่งพี่เขาก็รับปากแล้วนะคะว่าจะออกไปสอนให้ ต้องบอกว่าเคสของพี่แอ๊ด ถือว่าเป็นเคสที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จนเกินความคาดหมายของพี่อยู่เหมือนกัน เพราะจากที่เขาเป็นคนไม่สุงสิงกับใครเลย เราก็ทำให้เขาอยากลุกขึ้นมาช่วยคนอื่นได้แล้ว” ถ้าให้เดาบทบาทการทำงานจากตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี” คงไม่มีใครวาดภาพออกว่าขอบข่ายความรับผิดชอบ ที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนึงต้องแบกรับไว้ จะขยายวงกว้างออกไปขนาดไหน แต่เมื่อได้ตามรอยไปดูผลงานของ “หมอโย” ที่หลายๆ คนเรียกกัน จึงพอจะเข้าใจได้มากขึ้นว่า เหตุใด “นางพยาบาลชุมชนนักพัฒนา” รายนี้ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “ข้าราชการดีเด่น” ผู้อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เพราะไม่ใช่แค่เข้าไป “รักษา” อาการป่วยของชาวบ้านเท่านั้น แต่งานของเธอยังกินความหมายไปถึงการ “เยียวยา” ทุกช่องโหว่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วย เช่นเดียวกับครอบครัวของ “ยายฉวีวรรณ” ที่เหลือเพียง 2 ชีวิต ตา-ยาย อาศัยอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม ทั้งตัวบันไดขึ้นบ้านที่ไม่มีราว แถมยังสูงชัน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไปจนถึงตัวห้องส้วมที่ยังคงเป็นส้วมนั่งยอง แทนที่จะเป็นส้วมชักโครกตามสุขอนามัย “หลังจากที่พี่ได้ลงพื้นที่ไปดู พี่เลยเข้าไปคุยกับทางเทศบาลว่า สภาพความเป็นอยู่ของ 2 ตายายคู่นี้ มันไม่เหมาะสมเลย มันเสี่ยงต่อการหกล้ม วิธีการที่จะแก้ไขและป้องกันการหกล้มก็คือ การปรับสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นก่อน ก็คือราวบันไดกับส้วม เพราะถ้าคนแก่ล้ม เขาจะเสี่ยงต่อการข้อสะโพกหัก ซึ่งถ้าหักแล้ว โอกาสที่จะได้นอนติดเตียงก็มีสูงมาก แต่งานใหญ่ขนาดนี้ พี่ทำคนเดียวไม่ได้แน่นอนค่ะ พี่เลยต้องไปหาคนที่เขามีทรัพยากร มีความเชี่ยวชาญ มีความพร้อม เราเลยเกิดการรวมกลุ่มคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย นักธุรกิจก่อสร้างที่เราไปขอความช่วยเหลือ, คหบดีที่ช่วยสนับสนุนเรื่องเงิน ฯลฯ  พี่ก็เข้าไปบอกเขาตรงๆ เลยค่ะว่า เรามีโครงการแบบนี้อยู่นะ มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างลักษณะนี้ ต้องการงบประมาณเท่านี้ เพราะทางหลวงเขาไม่มีเงินสนับสนุนตรงนี้มาให้ จนตอนนี้ทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว” สิ่งที่เธอได้ตอบแทนกลับมาหลังเข้าไปเยียวยา ไม่ใช่เพชรนิลจินดา แต่มันคือ “ความอิ่มเอมใจ” จึงทำให้งานที่ต้องประสานงาน ต้องแลกกับหงาดเหงื่อในระยะยาวแบบนี้ ไม่เคยสร้างคำว่า “เหนื่อย” ให้เกิดขึ้นเลยในความรู้สึกของเธอ

                “ถ้าเราคิดว่ามันเหนื่อย งานทุกอย่างมันก็เหนื่อยค่ะ กินข้าวก็เหนื่อย นอนก็เหนื่อยได้ จริงๆ นะ (ยิ้ม) ที่เราได้ทำตรงนี้ มันคือความสุข คือความอิ่มเอมใจ พี่คิดจากตัวพี่เองว่า พี่อยากได้รับความสะดวก ความช่วยเหลือ จากคนอื่นยังไง ชาวบ้านเขาก็คงคิดไม่ต่างจากพี่เหมือนกัน พี่ก็เลยอยากจะทำมันต่อไป ทุกวันนี้พี่ทำอยู่ 2 อย่างคือ ทำเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ และทำเพื่อตัวเองด้วย เพราะเมื่อได้ทำ ตัวพี่เองก็มีความสุข หลังจากงานได้บรรลุเป้าหมาย” จากประสบการณ์จริงที่ได้แวะเวียนไปตามบ้านเรือนผู้ป่วย, ตามไปให้บริการในแหล่งชุมชน ทั้งวัดและโรงเรียน ทำให้เธอมองเห็นปัญหาให้สะท้อนภาพสังคมไทยทุกวันนี้ได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือปัญหา “ผู้สูงอายุ” ที่นับวันจะน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกที “ถือเป็นปัญหาระดับประเทศเลย เรื่องผู้สูงอายุ ตอนนี้ผู้สูงอายุเฉพาะแค่ใน จ.สุพรรณบุรี ก็มีกว่า 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะ และส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุในพื้นที่จะอยู่คนเดียว หรือไม่ก็อยู่ด้วยกัน 2 คน ตา-ยาย มีโรคประจำตัว รวมถึงสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างในบ้านก็ไม่เหมาะต่อสภาวะของเขาด้วย  ปัญหาหนักตอนนี้คือเรื่องอุบัติเหตุ ที่ต้องเฝ้าระวังในผู้สูงอายุ รวมถึงโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน, ความดัน ที่เป็นกันเยอะ จุดนี้แหละที่พี่มองว่าเป็นความน่ากังวล และต้องพยายามติดตามดูอย่างใกล้ชิด” และการจะแก้ปัญหาในชุมชนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในนั้น ทุกวันนี้เป้าหมายของหมอโยจึงคือการพยายาม “สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง” ซึ่งเป็นโจทย์เดียวกับที่ทางกระทรวงได้ตั้งเอาไว้ “ประเด็นที่ 1 คือ “การสร้างเครือข่าย” เพราะทางโรงพยาบาลหรือแม้แต่ตัวพี่เองคนเดียว ไม่สามารถทำอะไรให้มันสำเร็จได้หรอก เพราะพี่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ถ้ามีปัญหา พี่เลยต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็คือเครือข่ายเพื่อนในพื้นที่ประเด็นต่อมาคือเรื่อง “ชุมชนเข้มแข็ง” คือเขาสามารถดูแลและส่งเสริมสุขภาพของเขาเองได้ แม้แต่เพื่อนบ้าน คนในชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้มีความแข็งแรง เช่น ปลอดขยะ สัตว์ทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีน มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  ที่บ้านเขาเองก็ต้องปลอดภัย มีราวบันได มีส้วมที่ช่วยอำนวยความสะดวก มีราวจับ มีพื้นกันสะดุด ทั้งหมดคือสิ่งแวดล้อมที่ควรมีอยู่ในครอบครัว คือถ้าเขาสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ในชุมชน นั่นคือการตอบโจทย์คำว่า ชุมชนเข้มแข็ง ที่เราต้องการแล้วค่ะ”
“ถามว่าเคยท้อไหมเวลาไม่ได้รับความร่วมมือจากคนอื่นๆ? ก็ต้องบอกว่าไม่เคยท้อเลยค่ะ (ยิ้ม) อาจจะเพราะพี่เป็นคนไม่ค่อยเก็บเอาอะไรมาคิดมาก แค่คิดว่าถ้าพี่ทำในหน้าที่ของพี่ โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร พี่ก็มั่นใจว่าพี่จะทำมันต่อ และถึงแม้ใครคนนั้นจะไม่ให้ความร่วมมือกับพี่ พี่ก็คิดว่ามันก็ยังเหลืออีกหลายคน ที่น่าจะพร้อมร่วมมือกับพี่ได้ และพี่ก็จะไปแสวงหาวิธี หาเพื่อนจากทางอื่น ยกตัวอย่าง สมัยก่อนที่พี่ทำโครงการออกกำลังกายในชุมชนใหม่ๆ ผู้ใหญ่บ้านบางชุมชน เขาจะไม่ยอมมาร่วมกับเราเลย เพราะเขามองว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของเขา เป็นหน้าที่ของหมอ แต่พอไปคุยกับอีกชุมชน เขากลับเห็นดีเห็นงาม เห็นความสำคัญไปกับเราได้ และเราก็โน้มน้าวชวนเขามาทำได้สำเร็จ หลังจากนั้น พอชุมชนนึงลงมือทำ และทำได้สำเร็จ ชุมชนที่เคยปฏิเสธเรา เขาก็เริ่มอยากทำตาม หลังจากนั้นเขาก็ไปเชิญชวนกันเอาเอง พอเห็นผลแบบนี้ มันเลยยิ่งทำให้เราไม่เคยท้อเลย” นี่แหละคือทัศนคติบวกๆ ของนางพยาบาลมืออาชีพคนนี้ ซึ่งส่งผลให้หลากนวัตกรรม-หลายโครงการ ที่เธอเป็นผู้ริเริ่ม ประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า เริ่มตั้งแต่ “โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในชุมชน” ที่มีจุดน่าสนใจตรงที่ นอกจากการชักชวนชาวบ้านให้มาเต้นแอโรบิกแล้ว ยังมีการสอนรำวงย้อนยุค, เต้นบาสโลบ (Paslop) รวมถึงการหยิบเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่าง “รำโทน” เข้ามาเป็นสีสันดึงดูดพ่อแม่พี่น้องในท้องที่ให้มาเข้าร่วมอีกด้วย “ตอนนี้ที่ทำกันอยู่ ก็จะมีลำวงย้อนยุค, ออกกำลังกาย แล้วก็เต้นบาสโลบ ส่วนตัว “รำโทน” มันเป็นศิลปะท้องถิ่นของที่นี่เลยค่ะ พอเราฟื้นฟูกลับขึ้นมา แน่นอนว่ามันได้เข้ามาช่วยในเรื่องการยืดเส้นยืดสาย การขยับร่างกาย ทำให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรง  พอสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็จะแข็งแรงตามไปด้วย เพราะได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน ได้เฮฮาร่วมกัน มันก็ช่วยลดความเครียด และเกิดความรู้สึกผูกพัน เกิดความรักต่อกันในระหว่างผู้คนในหมู่บ้าน จากเมื่อก่อนตอนเริ่มทำแรกๆ มีชาวบ้านมาร่วม 6 คู่เองค่ะ แล้วก็เข้าร่วมแบบ มาบ้าง-ไม่มาบ้าง แต่หลังจากนั้นมันก็ขยายไปในพื้นที่อื่น ทำให้เครือข่ายนี้เริ่มเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งก็ยังต้องพยายามต่อไปค่ะ เพราะเรื่องของการสร้างรากฐานด้านสุขภาพตรงนี้ บางทีเราอาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ ถึงจะทำให้วัดผลหลายๆ อย่างได้ชัดเจน” “กางเกงวิเศษ” ก็คืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่เกิดจากหัวคิดสร้างสรรค์ของเธอคนนี้อีกเช่นกัน เป็นกางเกงที่ถูกออกแบบตัดเย็บมาเพื่อรองรับ “การตรวจมะเร็งปาดมดลูก” โดยเฉพาะ ทำให้ชาวบ้านที่เคยเขินอายเพราะต้องสวมผ้าถุง แล้วถกให้แพทย์ตรวจ มีความกล้าที่จะก้าวขาเข้ามาใช้บริการกันมากขึ้น เพราะกางเกงที่ช่วยแก้ปัญหาตัวนี้ “สมัยก่อนผู้หญิงเวลาไปขึ้นขาหยั่ง เขาก็ต้องใส่ผ้าถุง และต้องถกขึ้นมาหมด ทำให้ต้องโป๊ และพี่ก็เห็นปัญหาตรงนั้น ในฐานะของผู้หญิงด้วยกัน เรารู้ว่าเราไม่อยากโป๊ ก็เลยทำกางเกงวิเศษขึ้นมา และตอนนั้นเป้า (จำนวนคนที่เข้ามาตรวจโรคมะเร็งปากมดลูก ตามกำหนดของกระทรวง) ของพี่ก็ต่ำมาก ต่ำถึงขนาดนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องตามเรียกตัวพี่ทุกเดือน คนรับผิดชอบพี่ก็เครียด พี่เองก็เครียดไปด้วยเพราะสงสารพี่เขา ก็เลยคิดว่าเราน่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างนึง แล้วพี่ก็คิดไปถึงเรื่องกางเกงระหว่างตรวจปากมดลูกขึ้นมา ตัวกางเกงก็เป็นกางเกงธรรมดานี่แหละค่ะ ที่เจาะตรงกลาง แล้วก็มีผ้าเตี่ยวปิดด้านหน้า ซึ่งพอนำมาใช้มันก็ได้ผลจริงๆ เพราะหลังจากนั้นคนก็มาตรวจมะเร็งปากมดลูกกับพี่เยอะขึ้น จนเป้าหมายหรือจำนวนคนที่ตั้งเอาไว้ก็ครบ ทำให้พี่ไม่ต้องถูกเรียกดูผลงานเพราะได้เป้าคนตรวจต่ำเหมือนเดิมอีก พอตรวจพบปุ๊บ เราก็ส่งตัวเขาไปตรวจรักษาต่อที่โรงพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น คนอื่นเขาเรียกว่ามันเป็นนวัตกรรมที่เราคิดค้นขึ้นมา แต่พี่เรียกว่ามันเป็น “เครื่องมือพิทักษ์สิทธิสตรี” ในการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว สำหรับพี่แล้ว การจะทำให้เกิดผลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลักๆ เลยก็ต้องขึ้นอยู่กับ “วิธีคิดของคนทำงาน” เป็นอย่างแรกเลยที่สำคัญที่สุด ต่อมาก็คือ “มุมมองของคนปฏิบัติที่มีต่อสิ่งที่เขาทำ” คือถ้าเขาบอกว่า เขาทำงานแค่ 8 ชั่วโมงตามเวลาราชการก็พอ คือเข้า 8 โมงเช้า แล้วไปสิ้นสุด 4 โมงเย็น ผลที่ออกมาก็จะได้อีกแบบนึง ในขณะเดียวกันที่เรามองว่า เราไม่ได้เอาตัวเวลามาเป็นตัวกำหนด แต่เรามองไปที่เป้าหมายเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ทำยังไงก็ได้ให้มันถึงเป้าหมาย เวลาที่ใช้จะเกินหรือจะกินเวลาชีวิตเราไปเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้มานั่งคิดตรงนั้น  หรือแม้แต่เรื่องของวิธีการ ทางกระทรวงไม่ได้มานั่งกำหนดว่า คุณต้องทำตามนี้นะ 1-2-3-4-5 ตามลำดับ คือเขาอาจจะมีการกำหนดคร่าวๆ มาไว้ให้บ้าง แต่พอลงพื้นที่ปฏิบัติจริง คนทำงานต้องตีโจทย์เองให้แตก และคิดวิธีให้ออกเองว่า ฉันจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ยังไง นี่คือวิธีการทำงานของพี่นะคะ พี่จะคิดว่าพี่จะทำยังไงให้ถึงเป้าหมาย ถ้าพี่ได้รับมอบหมายอะไร พี่จะพยายามทำมันอย่างเต็มที่ ถ้าทำวิธีแรกแล้วยังไม่ได้ ก็ต้องลองย้ายไปอีกวิธี หรือถ้าเปลี่ยนวิธีแล้ว ยังทำไม่สำเร็จอีก ก็ค่อยลองไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มมีอคติก่อนที่จะลงมือทำ ก็จะบอกตัวเองตลอดว่า ถ้าไม่ลองทำแล้วจะรู้เหรอว่า มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องลองทำ!!


เผยแพร่: 25 ม.ค. 2562 19:24   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 มกราคม 2019, 13:42:18 โดย patchanok3166 »