ผู้เขียน หัวข้อ: แพทยสภาเร่งทำอัตราค่าธรรมเนียมหมอใหม่ คิดแพงเกินกำหนด เอาโทษจริยธรรม  (อ่าน 642 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
แพทยสภา เร่งทำอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับใหม่ ครอบคลุมหมอทุกสาขาเชี่ยวชาญ แบ่งเป็นช่วงสูงสุดต่ำสุด รวมถึงครอบคลุม รพ.เอกชน หากคิดแพงกว่าที่กำหนดจะพิจารณาจริยธรรม "หมอสมศักดิ์" เชื่อคุมค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา แต่ค่าใช้จ่ายจะไปโป่งส่วนอื่น แนะใบเสร็จค่ารักษาควรแจงค่าใช้จ่ายตามจริง ไม่ควรบวกในค่ายา


ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ว่า ค่ายาของ รพ.เอกชน ปัจจุบันอาจจะมีการขายในราคาที่บวกกำไรขึ้นไปอย่างมาก อาจจะ 200-300% ส่วนหนึ่งเพราะมีค่าอย่างอื่นแฝง โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะนำไปไว้ในค่าอะไรของใบเสร็จ ก็เพิ่มไว้ในค่ายา เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นว่า รพ.เอกชนควรที่จะแสดงใบเสร็จแจกแจงรายละเอียดจริงๆ ตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ควรนำมาแฝงไว้ในค่ายาแทน เพราะจะทำให้เหมือนว่า คิดค่ายาที่แพงกว่า รพ.รัฐที่ปัจจุบันมีการบวกกำไรเพิ่มราว 10-20% ส่วน รพ.เอกชนอาจจะบวกกำไรเพิ่มมากขึ้นในส่วนของยาที่ราคาไม่แพง และบวกกำไรเพิ่มเล็กน้อยสำหรับยาที่มีราคาแพง เพื่อไม่ให้ยาราคาแพงอยู่แล้วแพงมากเกินไป แต่จะต้องนำปริมาณการใช้ยาชนิดนั้นและต้นทุนการซื้อยาของ รพ.แต่ละแห่งมาพิจารณาด้วย


“หากเห็นว่า ซื้อยาใน รพ.แพงก็สามารถขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาไปซื้อจากข้างนอกที่ถูกกว่าได้ แต่ปัญหา คือ คนไทยส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ก็จะยอมรับยาจาก รพ. เพราะประกันจ่าย ไม่ขอใบเสร็จมาซื้อยาข้างนอก เพราะต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากดูค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศจะแพงกว่าไทยมาก ทำให้คนต่างชาติเดินทางมารักษาในไทยแต่ละปีค่อนข้างสูง และเชื่อว่าแม้จะคุมค่ายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ บริการรักษาพยาบาล ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาก็จะไปโป่งในส่วนอื่นอยู่ดี” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์ แพทยสภามีการกำหนดโดยประกาศค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขาเฉพาะทางที่มีความแตกต่างกัน ฉบับปัจจุบันใช้มาเป็น 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงค่าธรรมเนียมแพทย์ เนื่องจากบริบทแตกต่างจากในอดีตมาก และพบว่า ค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมแพทย์ในปัจจุบันเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดของฉบับเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขา แพทยสภาจะกำหนดขึ้นจากการหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นช่วงๆ ต่ำสุด-สูงสุด เพราะหากกำหนดอัตราเดียวทั้งหมดหรือเป็นเพดาน จะทำให้สถานพยาบาลที่มีขนาดเล็กคิดอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ในระดับสูงสุดเกรดเอทั้งสิ้น ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาจะครอบคลุมแพทย์ในรพ.เอกชนด้วย หากแพทย์ใน รพ.เอกชนมีการคิดค่าธรรรมเนียมแพทย์ในการตรวจรักษามากกว่าที่แพทยสภากำหนดไว้ ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์ด้วย
 

"การที่จะเข้ามาควบคุมค่าต่างๆ ใน รพ.เอกชน จริงๆไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่ทำก็จะทำให้ค่ารักษาอาจจะแพงขึ้นๆ ไปอีก หากจะดำเนินการก็ต้องดูข้อกำหนด ผลกระทบให้รอบด้านด้วย เพราะการรักษารพ.เอกชนเป็นทางเลือกของประชาชน ถ้ามองว่าแพงก็ไม่ต้องเข้าในรพ.เอกชนแห่งนั้น ไปแห่งอื่นแทน เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี หากไปบีบ รพ.มากๆอาจจะทำให้เขาเจ๊งได้" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว



เผยแพร่: 11 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์