ผู้เขียน หัวข้อ: เพิ่ม 2 โรคใหม่ต้องเฝ้าระวัง"โรคติดเชื้อใน รพ.-พยาธิใบไม้ตับ"พร้อมถอด 4 โรคเดิม  (อ่าน 576 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่ม 2 โรคใหม่ต้องเฝ้าระวัง "โรคติดเชื้อใน รพ. - พยาธิใบไม้ตับ" เหตุเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ ต้องรู้ข้อมูลวางแผนแก้ปัญหา รายงานทุกสัปดาห์ พร้อมถอด 4 โรคเดิมออก ทั้งโรคบิดจากเชื้อชิเกลลา เหตุซ้ำซ้อนอุจจาระร่วง โลนที่อวัยวะเพศ หูดข้าวสุก และพยาธิทริโคโมแนส


วันนี้ (26 ธ.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 57 โรค ซึ่งปกติสำนักระบาดวิทยาจะมีการทบทวนปรับปรุงรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังทุก 2-3 ปี ในปีนี้จึงได้มีการเสนอทบทวนรายชื่อโรค เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยบางโรคที่มีความสำคัญมากขึ้นก็ต้องเพิ่มเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนบางโรคที่ไม่ค่อยเป็นปัญหาหรือมีความสำคัญน้อยลงมากก็ต้องนำรายชื่อออก มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นภาระที่ต้องรายงานทุกโรค และไม่รู้ว่าโรคอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ ซึ่งโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะมีการรายงานข้อมูลจากทุกโรงพยาบาลเข้ามาทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนรับมือแก้ปัญหา


นพ.โสภณ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นชอบการทบทวนรายชื่อโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งครั้งนี้มีทั้งการเพิ่มโรคและตัดบางโรคออก โดยเพิ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 2 โรค ได้แก่ 1.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการการป้องกัน การที่เรารู้สถานการณ์ว่ามีโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย และ 2.โรคพยาธิใบไม้ตับ เพราะเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน การที่เรามีข้อมูลของโรคนี้เข้ามาจากทุกโรงพยาบาล จะเป็นประโยชน์ในการทราบสถานการณ์และวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ


นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนที่นำออกจากรายชื่อโรคเฝ้าระวัง มี 4 โรค คือ 1.โรคบิด (Dysentery) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ซึ่งหากตรวจพบในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ก็จะได้รับการรายงานโรคอุจจาระร่วงโดยระบุเชื้อ ซึ่งอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทำให้รู้ว่ามีเชื้ออะไรบ้าง จึงไม่ต้องรายงานแยกเป็นโรคบิดต่างหาก ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการรายงานข้อมูล 2.โลนที่อวัยวะเพศ 3.หูดข้าวสุก และ 4.พยาธิทริโคโมแนสของระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากทั้ง 3 โรค เป็นโรคที่พบน้อยลงมากแล้ว ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในทางสาธารณสุข และหาข้อมูลได้จากฐานข้อมูลการรักษาพยาบาล


เมื่อถามถึงเกณฑ์ในการพิจารณาว่าโรคใดควรเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องเป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน เป็นปัญหาทางสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรคที่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์เฉพาะในการป้องกันและควบคุม อย่างกรณีโรคที่เพิ่มเข้ามาใหม่ทั้งโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และพยาธิใบไม้ในตับ ต่างก็มียุทธศาสตร์หรือแผนในระดับชาติเพื่อจัดการกับปัญหา ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีข้อมูลสถานการณ์โรคเข้ามา จึงต้องกำหนดให้เป็นโรคเฝ้าระวังที่ต้องมีการรายงานข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าโรคเกิดขึ้นพื้นที่ไหน ประชากรกลุ่มไหน ระยะเวลาใดมากน้อยเพียงใดและอย่างไร จึงจะสามารถวางแผนกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับให้บรรลุตามเป้าหมายภายในทศวรรษได้ เป็นต้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังล่าสุดจึงมีเพียง 55 โรค ประกอบด้วย 1.กามโรคของต่อมและท่อน้้าเหลือง 2.ไข้กาฬหลังแอ่น 3.ไข้ดำแดง 4.ไข้เด็งกีหรือโรคไข้เลือดออก 5.ไข้ปวดข้อยุงลาย 6.ไข้มาลาเรีย 7.ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 8.ไข้สมองอักเสบชนิดญี่ปุ่น 9.ไข้สมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 10.ไข้หวัดนก 11.ไข้หวัดใหญ่ 12.ไข้หัด 13.ไข้หัดเยอรมัน 14.ไข้เอนเทอริค 15.ไข้เอนเทอโรไวรัส 16.คอตีบ 17.คางทูม 18.ซิฟิลิส 19.บาดทะยัก 20.โปลิโอ


21.แผลริมอ่อน 22.พยาธิทริคิเนลล่า 23.เมลิออยโดซิส 24.เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ 25.เยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 26.เริมของอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนัก 27.โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ บี ซี ดี และ อี 28.โรคตาแดงจากไวรัส 29.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 30.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส 31.โรคเท้าช้าง 32.โรคบรูเซลโลสิส 33.โรคปอดอักเสบ 34.โรคพิษสุนัขบ้า 35.โรคมือเท้าปาก 36.โรคเรื้อน 37.โรคลิซมาเนีย 38.โรคเลปโตสไปโรสิส 39.โรคสครัปไทฟัส 40.โรคสุกใส หรือ อีสุกอีใส


41.โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน 42.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 43.โรคเอดส์ 44.โรคแอนแทรกซ์ 45.วัณโรค 46. ไวรัสตับอักเสบไม่ระบุเชื้อสาเหตุ 47.หนองใน 48.หนองในเทียม 49.หูดอวัยวะเพศและทวารหนัก 50.อหิวาตกโรค 51.อาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 52. อาหารเป็นพิษ 53.ไอกรน 54.โรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และ 55.พยาธิใบไม้ตับ



เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์