ผู้เขียน หัวข้อ: จ่อเริ่มคุมประพฤติ “เมาแล้วขับ” ส่งบำบัดรักษา รพ.ช่วงปีใหม่เป็นครั้งแรก  (อ่าน 641 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
สธ. พร้อมตรวจเลือดวัดแอลกอฮอล์ “เมาแล้วขับ” เกิดอุบัติเหตุทุกราย ตั้งแต่ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ ถึงตลอดปี 62 ยัน นมเปรี้ยว รางจืด ไม่ช่วยแอลกอฮอล์ลดลง เข้มห้ามขายเหล้าช่วงห้ามขาย เด็กต่ำกว่า 20 ปี สตช. ลุยจับฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามรถบรรทุกวิ่งช่วงปีใหม่ 5 เส้นทาง ลดอุบัติเหตุ เล็งคุมประพฤติคนเมาต้องรักษา


วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “สธ. ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว” ว่า ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ พบผู้บาดเจ็บจากการดื่มและขับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ดังนั้น ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2562 ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 2 ม.ค. 2562 สธ. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เจาะเลือดคนขับกรณีอุบัติเหตุมีคนเจ็บตายทุกราย ส่วนความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จะใช้ 3 เรื่อง คือ 1. เข้าเหตุเร็ว โดยเปิดคู่สายหมายเลข 1669 เพิ่มเป็น 300 สาย 2. เข้าพื้นที่เกิดเหตุเร็ว ไม่เกิน 10 นาที โดยมีชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ และ 3. ส่งทีมแพทย์เร็ว ซึ่งมีการเตรียมพร้อมทั้งสถานพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ เลือด ไว้รองรับตลอด 24 ชั่วโมง


“ย้ำว่า เมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิตสามารถเข้าได้รักษาได้ทุก รพ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ทั้งนี้ เราจะดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น เอาจริงและมีโทษแน่นอน เพราะสิ่งที่ทำขณะที่ท่านเมานั้น คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ อุบัติเหตุ เจ็บ ตาย ครอบครัวต้องสูญเสียเราจะไม่ปล่อย” นพ.ปิยะสกล กล่าว


นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. ได้มีตั้งศูนย์ EOC ติดตามดูแลเรื่องนี้ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด เตรียมทีมแพทย์คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง จากการวิเคราะห์ข้อมูลช่วง 7 วันอันตราย ปี 2561 พบว่า มีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา 27,158 ราย เฉลี่ยวันละ 3,880 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติร้อยละ 67 ซึ่งช่วงปกติมีอุบัติเหตุเข้า รพ. เฉลี่ยวันละ 2,320 อย่างไรก็ตาม จะเน้นการส่งเรื่องความปลอดภัยของรถพยาบาลด้วย โดยจัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ จุดบริการอยู่ห่างกันมาก โดยมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ 8,583 หน่วย รถฉุกเฉินทุกระดับ 20,741 คัน และผู้ปฏิบัติการทุกระดับ 166,441 คน


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลปีใหม่ 2561 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิด 3,841 ครั้ง บาดเจ็บรุนแรง 4,005 คน เสียชีวิต 423 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 60 สาเหตุมาจากเมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.23 กลุ่มที่บาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 15-19 ปี ส่วนใหญ่เกิดช่วงเวลา 16.00-21.00 น. วันที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ วันที่ 31 ธ.ค. ดังนั้น ปีนี้ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1-12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศคุมเข้มการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่อง การเจาะเลือดตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วง 7 วันอันตรายของปีใหม่ปี 2561 พบว่า ร้อยละ 60 ของคนขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นมาตรการที่ทำให้การบาดเจ็บลดลง ดังนั้น จะขยายมาตรการนี้ทั้งปี


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอออล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำชับให้เข้มงวด 1. การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายห้าม ซึ่งพบว่าขายกันตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ สะท้อนได้จากเมาจนเกิดอุบัติเหตุมากในช่วงเย็น 2. ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 3. การขายโดยไม่มีใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้คัดกรองบำบัดรักษา ควบคุมประพฤติคนเมาสุรา หากศาลมีคำสั่งจะต้องส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ใช้มีประสิทธิภาพมาก เพราะผ่านการตรวจทดสอบจากกรมฯ แล้ว โดยจะติดสติกเกอร์รับรองไว้ ทั้งนี้ การดื่มนมเปรี้ยว หรือ รางจืด ไม่สามารถรอดพ้นจากการเป่าวัดได้ ดังนั้น ทางที่ดี คือ ดื่มไม่ขับ และกรณีของผู้ใหญ่ขับรถจะยึดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนขับที่ไม่มีใบขับขี่หรือมีใบขับขี่ชั่วคราวต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมกับด่านชุมชนทั่วประเทศ และมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้นข้อหาขับเร็ว เมาแล้วขับ ขับย้อนศร ฝ่าสัญญาณจราจร ไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีใบขับขี่ และใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับ นอกจากนี้ จะห้ามรถบรรทุก 10 ล้อ วิ่งในเส้นทางที่ประชาชนเดินทางจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2561 - 3 ม.ค. 2562 คือ 1. ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่ อ.ทับกวาง จ.สระบุรี ถึง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 2. ถนนพหลโยธินช่วง อ.เมืองนครสวรรค์ 3. ถนนกบินทร์บุรี-ปักธงชัย 4. เส้นอรัญประเทศ-นางรอง และ 5. สายนครสวรรค์-พิษณุโลก เพื่อให้พื้นผิวจราจรมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเกิดความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรถบรรทุกมีความจำเป็นสามารถทำเรื่องขออนุญาตเดินทางกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามเส้นทางได้ที่ 1193


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การสื่อสารมีผลให้กระตุกความคิด ความรู้สึก และ พฤติกรรมได้ ซึ่งช่วงปีใหม่ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก จึงทำการสื่อสารรณรงค์ลดอุบัติเหตุภายใต้แคมเปญ “กลับบ้านปลอดภัย” ผ่านโฆษณาชุด “สูญเสียกันทุกฝ่าย” และบทเพลง “คิดถึง” เพื่อย้ำเตือนถึงความรักของคนในครอบครัวที่รอคอยการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พร้อมรณรงค์ย้ำเตือนให้เหล้า=แช่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ภาวินี ซุ่นสั้น ลูกสาว ดาบตำรวจ อนันต์ ซุ่นสั้น เหยื่อเมาแล้วขับ เสียชีวิต 5 ราย ที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2560 และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อมอบดอกไม้เป็นกำลังใจและสนับสนุนมาตรการตรวจเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรทุกราย




เผยแพร่: 24 ธ.ค. 2561  โดย: ผู้จัดการออนไลน์