ผู้เขียน หัวข้อ: สบส.ยัน “รพ.มงกุฎวัฒนะ” ไม่ได้ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ทั้งตัว แต่เกินขีดศักยภาพ  (อ่าน 574 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
สบส. ยัน รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ได้ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยไฟไหม้ทั้งตัว ชี้ เป็นการส่งต่อตามระบบ ที่ต้องวิเคราะห์ศักยภาพก่อนว่ารักษาผู้ป่วยได้หรือไม่ เผย ผู้ป่วยไฟไหม้เกิน 98% มากกว่าขีดสามารถ รพ.มงกุฎวัฒนะ รักษา ด้านญาติไม่ติดใจ มีกองทุนเงินทดแทนช่วยค่ารักษา สูงสุด 2 ล้านบาท ส่วนต่างนายจ้างเซ็นรับผิดชอบแล้ว


วันนี้ (11 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวหนุ่มถูกไฟไหม้ทั้งตัวถูก รพ.มงกุฎวัฒนะ ปฏิเสธการรักษาทั้งที่มีสิทธิประกันสังคม ว่า สบส. ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 4 โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง คือ รพ.เซนต์คาร์ลอส จ.ปทุมธานี รพ.มงกุฎวัฒนะ รพ.รามาธิบดี และ รพ.กรุงเทพ พบว่า จากเดิมที่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากไฟไหม้ แต่สอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า เป็นแก๊สระเบิดจากโรงงาน ซึ่งตามกฎหมายถือว่า เป็นการเจ็บป่วยในการทำงาน มีกองทุนเงินทดแทนดูแล ซึ่งรัฐบาลและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุน ต่างจากประกันสังคมที่ลูกจ้างต้องร่วมจ่ายด้วยเป็น 3 ส่วน ดังนั้น กรณีนี้ถือเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนในสัดส่วนที่ว่าไปตามกฎหมาย ส่วยต่างนายจ้างเป็นผู้ดูแล ไม่เกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมที่จะดูแลการเจ็บป่วยที่นอกเหนือจากการทำงาน



นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้บาดเจ็บถูกส่งเข้า รพ.เซนต์คาร์ลอส เป็น รพ. แห่งแรก ซึ่งทำได้ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ศักยภาพไม่เพียงพอเพราะผู้ป่วยมีแผลไฟไหม้รุนแรงระดับ 3 คือ มากถึง 98% ของร่างกาย ถือเป็นวิกฤตฉุกเฉินต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และใช้ห้องดูแลเฉพาะ เมื่อถามญาติ ญาติบอกว่ามีประกันสังคมที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่เมื่อประสานไผ รพ.มงกุฎวัฒนะ แจ้งว่า ไม่มีห้องดูแลเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยไฟไหม้รุนแรงระดับนี้ และไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงแนะนำไปโรงเรียนแพทย์ คือ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี หรือ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งจากการสอบถามญาติก็ประสงค์ไป รพ.กรุงเทพ ซึ่งทาง รพ.กรุงเทพ ก็พร้อมรับ หลังจากนั้น รพ.กรุงเทพ ก็ติดต่อไปที่นายจ้างว่าใครจะเป็นคนรับดูแลค่ารักษาที่นอกเหนือจากกองทุนเงินทดแทน ก็มีการตกลงกันได้ดี โดยนายจ้างส่งคนมาเซ็นรับทราบการรับภาระค่ารักษาดังกล่าว รายนี้เป็นตัวอย่างการประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่ดี มากกว่าการตระเวนส่งผู้ป่วย



“ยืนยันว่า กรณีนี้ไม่มี รพ. ใด ปฏิเสธการรักษา แต่เป็นการประสานส่งต่อผู้ป่วยตามระบบ ตามศักยภาพ มีการวิเคราะห์ผู้ป่วยก่อนส่งต่อว่า จะไปที่ รพ. ไหนดีที่สุดกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไฟไหม้รุนแรงมากถึง 98% มีโอกาสแทรกซ้อนเยอะ ทั้ง 1. ขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ 2. การติดเชื้อสูงมาก 3. กระทบอวัยวะภายในหลายระบบ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา การส่งไป รพ. ที่มีศักยภาพถือว่าถูกต้อง ตอนนี้ทราบว่าผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดหลายครั้งแล้ว เพราะหลังมีการอักเสบรุนแรง เกิดการคั่งของของเสีย ไตทำงานไม่ทัน จำเป็นต้องฟอกเลือด ขณะนี้ญาติผู้ป่วยมีความเข้าใจดีแล้ว ว่า เป็นหน้าที่ของกองทุนเงินทดแทนไม่ใช่ประกันสังคม แต่ส่วนถ้ามีประเด็นอื่นเกี่ยวกับมาตรฐาน ทางกรมก็ยินดีตรวจสอบ แต่เท่าที่ดูตอนนี้ถือว่ามีมาตรฐานดี” อธิบดี สบส. กล่าว


ด้าน นายมนัส โกศล เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดเหตุก่อน พ.ร.บ. กองทุนเงินทดแทน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561 ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา จึงได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายฉบับเก่า โดยค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยจากการทำงาน ไม่เกิน 2 ล้านบาท ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาจนจบกระบวนการรักษาตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้ รวมถึงค่าทดแทนการขาดรายได้ต่างๆ ก็ได้ 60% ของค่าจ้างตามกฎหมายเดิม




เผยแพร่: 11 ธ.ค. 2561 โดย: ผู้จัดการออนไลน์