ผู้เขียน หัวข้อ: จวก "ประกันสังคม" ออกเกณฑ์จ่ายเงินเพิ่มให้ รพ. รวม 8-9 พันล. ชี้ซ้ำซ้อน  (อ่าน 550 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
จวก "ประกันสังคม" ออกเกณฑ์จ่ายเงินเพิ่มให้ รพ. รวม 8-9 พันล. ชี้ซ้ำซ้อน ไม่เกี่ยวการรักษา จี้คืนเงินผู้ประกันตน



คสรท.จวก "ประกันสังคม" ออกหลักเกณฑ์จ่ายเงินเพิ่มให้ รพ.ตามคุณภาพ ชี้ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา จ่ายซ้ำซ้อนกับงบเหมาจ่ายรายหัว และจ่ายโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เล็งฟ้อง สตง. ป.ป.ช. ตรวจสอบ เผยส่วนใหญ่เป็น รพ.เอกชน จ่ายไปแล้วกว่า 8-9 พันล้านบาท จี้หาคนรับผิดชอบคืนเงินผู้ประกันตนเข้ากองทุน


วันนี้ (28 พ.ย.) ที่โรงแรมนารา แจ้งวัฒนะ นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าว “จากการจ่ายตามค่า HA สู่การจ่ายตามคุณภาพของสถานพยาบาล ใครได้ใครเสีย” ว่า คณะกรรมการการแพทย์ ออกประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2546 กำหนดให้มีการจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมแก่โรงพยาบาลในข้อตกลงของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มขึ้น ตามค่า HA ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสถานพยาบาล หากได้มาตรฐาน HA ก็จะได้รับเงินเพิ่ม ซึ่งมีจ่ายมาตั้งแต่ปี 2552 โดย คสรท.มองว่าไม่สามารถทำได้ เป็นการเอาเงินผู้ประกันตนไปให้โรงพยาบาลทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา จึงคัดค้านมาตลอดและได้ฟ้องร้องเมื่อปี 2557 แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายหลัก จึงยื่นอุทธรณ์จนศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณา


นายชาลี กล่าวว่า ปรากฏว่าหลังศาลรับพิจารณาคดี สปส.ยกเลิกประกาศเก่า และออกประกาศใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 แต่ประกาศใหม่ก็ยังคงจ่ายเงินในส่วนนี้เหมือนเดิม เพราะกำหนดให้มีการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นแก่โรงพยาบาลในข้อตกลงของ สปส. โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินใหม่ 3 ลักษณะ คือ 1.เหมาจ่ายตามจำนวนผู้ประกันตนที่มีชื่อลงทะเบียนตามสถานพยาบาลแห่งนั้นๆ ในอัตรา 1,500 บาทต่อคนต่อปี 2.จ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 447 บาท สำหรับสถานพยาบาลที่ต้องรับภาระกรณีโรคที่มีภาระเสี่ยงตามอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ และ 3.สถานพยาบาลที่การให้บริการมีคุณภาพและผลลัพธ์คุณภาพตรงตามตัวชี้วัดที่กำหนดในอัตราไม่เกิน 60 บาทต่อคนต่อปี เห็นชัดว่า เป็นการจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ไม่เกี่ยวกับการรักษา แบบนี้เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์โรงพยาบาลหรือไม่อย่างไร การออกหลักเกณฑ์ก็ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน


“การให้เงินโรงพยาบาลเพิ่มเติม อ้างว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา 63 ที่ระบุว่า ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่จากการทำงาน ได้แก่ ค่าวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่นที่จำเป็น โดยจ่ายเพิ่มขึ้นอีก 80 บาท จริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้ เพราะหากตีความตามกฎหมาย ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกันตนได้ใช้บริการรักษาและต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน เพราะ สปส.มีระบบเหมาจ่ายให้แก่โรงพยาบาลหัวละ 1,500 บาทต่อคนต่อปีอยู่แล้ว และจ่ายโดยไม่มีอำนาจ เพราะกฎหมายระบุชัดว่า ต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินกองทุน" นายชาลี กล่าว


นายชาลี กล่าวว่า คสรท.มองว่า การยกเลิกประกาศเก่าแล้วออกใหม่ สปส.มีความผิดชัดเจน เพราะเท่ากับแสดงว่ารับผิดใช่หรือไม่ ทั้งนี้ งบประมาณที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ให้แก่ รพ.เอกชน 8-9 พันล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ ซึ่ง คสรท. จะทวงถามไปยัง สปส. และจะยื่นหนังสือต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือว่า สปส.ใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน จำเป็นต้องหาผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องคืนเงินทั้งหมดเข้ากองทุน เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตนทุกคน เนื่องจากอย่าลืมว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาและกังวลว่า งบในส่วนกองทุนบำนาญชราภาพจะหมดลงในปี 2586 หาก สปส.ยังใช้จ่ายเงินแบบที่ผู้ประกันตนไม่ทราบเรื่อง ขาดการมีส่วนร่วม ยิ่งกรณีนี้ก็ชัดเจนว่า เงินที่ไม่ควรหายไปก็กลับต้องให้ รพ.เอกชนอีก


นายชาลี กล่าวอีกว่า ประกาศฉบับนี้จึงทำให้สปส. ต้องจ่ายเงินให้กับรพ.ในความตกลงปีละหลายร้อยล้านบาท เป็นการจ่ายซ้ำซ้อน แม้จะเป็นประกาศใหม่แต่ก็ไม่ต่างจากประกาศเดิม แบบนี้ถือว่าเป็นการออกประกาศที่มิชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บประกันสังคมฯ จึงต้องเพิกถอนประกาศนี้เสีย และต้องหาผู้รับผิดชอบกรณีเงินที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ปี 2552 ด้วย





เผยแพร่: 28 พ.ย. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์