ผู้เขียน หัวข้อ: สบส.สั่งปิดอาคารผู้ป่วยนอก "รพ.พระราม 2"ผิดเรื่องโครงสร้าง ส่วนปมสาวถูกสาดน้ำกรด  (อ่าน 546 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
สบส. ชี้ รพ.พระราม 2 ผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล เหตุใช้อาคารจอดรถมาเป็นอาคารผู้ป่วยนอก โดยไม่ขออนุญาต สั่งปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. ส่วนมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน นำเข้ากรรมการพิจารณา 19 พ.ย. สพฉ.ยันเคสสาวถูกสาดน้ำกรดเป็นฉุกเฉินวิกฤต เหตุมีภาวะปอดบวมเฉียบพลัน ต้องรอผลการสอบสวน


วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบ รพ.พระราม 2 กรณีส่งสาวที่ถูกสาดน้ำกรดไปรักษาอีกแห่งจนเสียชีวิต ว่า ขณะนี้ความผิดของ รพ.พระราม 2 มีความชัดเจนมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ และมีการสั่งปิดไปเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา คือ 1.กรณีที่โรงพยาบาลนำเอาที่จอดรถมาปรับปรุงดัดแปลงเป็นอาคารผู้ป่วยนอก โดยไม่ขออนุญาต จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 2.มีการสั่งลงโทษปรับในฐานทำความผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่ไม่ร้ายแรงจึงดำเนินการปรับไปเรียบร้อยแล้ว


นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า 3.สบส.ได้สั่งให้โรงพยาบาลดังกล่าวทำการปรับปรุงโรงพยาบาลในส่วนที่ไม่ตรงมาตรฐาน พ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยได้ให้ระยะเวลาในการปรับปรุง 15 วัน หากยังไม่ดำเนินการ จะทำการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหากโดนเพิกถอนใบอนุญาตจะส่งผลให้โรงพยาบาลถูกปิด แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับการสั่งปิดโรงพยาบาลเลย และ 4.ประเด็นที่ถือเป็นความผิดร้ายแรงในพ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อทำการพิจารณาความผิดในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ สำหรับคดีของสาวที่ถูกสาดน้ำกรดจนเสียชีวิตนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป


นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ตนไม่มีข้อมูลจาก รพ. แต่จากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุตามข่าวว่า เมื่อมีการดูดสารน้ำจากปอดพบในปริมาณถึง 2 ลิตร ถือว่า มีภาวะปอดบวมเฉียบพลัน ซึ่งเป็นระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ดังนั้น กรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินแน่นอน เพราะเกิดปัจจุบันทันด่วน การถูกสารพิษก็ถือว่าทันด่วน แต่ฉุกเฉินสีแดง สีเขียว หรือสีเหลือง หากสีแดงก็ต้องวิกฤต ซึ่งกรณีนี้เป็นการรบกวนระบบทางเดินหายใจ ถือว่าเข้าข่ายวิกฤต สรุปคือ กรณีนี้เป็นฉุกเฉินวิกฤต ส่วนจะเอาผิดตามกฎหมายจะขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ซึ่งขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างการสอบสวนและลงโทษต่อไป ส่วนแพทย์หรือพยาบาลหากพบว่าเกี่ยวข้องมีความผิดด้วยนั้น ก็จะต้องส่งเรื่องต่อไปยังสภาวิชาชีพนั้นๆ เช่น แพทยสภา หรือสภาการพยาบาลต่อไป



เผยแพร่: 14 พ.ย. 2561 โดย: ผู้จัดการออนไลน์