ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทย์เผย บุคลากร รพ. ติดเชื้อวัณโรคแฝง 34%  (อ่าน 572 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
กรมวิทย์สำรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบอัตราติดเชื้อเฉลี่ยร้อยละ 31.41 อยู่ในอัตราเดียวกับคนทั่วไป ชี้หากร่างกายอ่อนแอสามารถกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคได้ แนะตรวจสุขภาพประจำ


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคระหว่างปฏิบัติงานจากการสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคหากร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดี จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วย เรียกว่า “วัณโรคแฝง” ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ แต่ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคแฝงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นผู้ป่วยวัณโรคได้ร้อยละ 5-10 เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วไปมีการติดเชื้อวัณโรคแฝง และในจำนวนนี้ มีประชากรบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวัณโรค โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ควรมีการตรวจคัดกรองหาวัณโรค ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และควรตรวจเป็นประจำ พร้อมทั้งแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคแฝงร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค โดยปัจจุบันนี้สามารถตรวจการติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วยที่เรียกว่าวัณโรคแฝงได้โดยการตรวจตัวอย่างเลือด



นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการสำรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝงในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ และในบุคลากรที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ ด้วยวิธี IGRA ตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาที่จำเพาะต่อเชื้อวัณโรค โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ที่โรงพยาบาล จำนวน 4 แห่ง พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคเฉลี่ยร้อยละ 31.41 ซึ่งอยู่ในอัตราเดียวกับบุคคลทั่วไปที่องค์การอนามัยโลกประมาณการ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไป ได้แก่ มีอายุมาก อายุงานนาน ลักษณะงานที่ปฏิบัติ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เหมาะสม ผลการตรวจช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการใส่ใจสุขภาพ ระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อและเฝ้าระวังโรค นอกจากนี้ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกยังได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตน หากตรวจแล้วยังไม่พบอาการป่วยเป็นวัณโรคแต่เป็นวัณโรคแฝง ก็อาจพิจารณาให้ยาป้องกันตามความเหมาะสมเฉพาะราย


“โรงพยาบาลจะต้องมีระบบป้องกันที่ดีและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานหรือการจัดการที่ดี บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและวิธีการป้องกันการติดต่อของโรค ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการติดเชื้อ รวมทั้งควรตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองวัณโรคเป็นประจำทุกปี สำหรับประชาชนทั่วไปก็ควรดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อวัณโรค โดยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีอาการไอจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก จมูก เวลาไอจาม หรือใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ทราบสาเหตุ ให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว



เผยแพร่: 7 พ.ย. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์