ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์จุฬาฯลุยเฟสสอง"ยาต้านมะเร็ง"จากภูมิคุ้มกันพร้อมวิจัยเซลล์บำบัด-วัคซีน  (อ่าน 462 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
คณะแพทย์ จุฬาฯ พร้อมวิจัยเฟส 2 ทันที "ยาแอนติบอดี" ต้านมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน หลังคนบริจาคเกิน 10 ล้านบาทแล้ว วอนบริจาคต่อเนื่อง เหตุยังต้องใช้เงินอีกมาก หวังสำเร็จช่วยราคายาถูกลงจาก 8 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าวิจัยเซลล์บำบัด และวัคซีนรักษามะเร็ง


ความคืบหน้ากรณีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าวิจัยยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งขณะนี้สำเร็จในเฟส 1 แล้ว กำลังเข้าสู่เฟส 2 เพื่อปรับปรุงแอนติบอดีให้คล้ายมนุษย์ที่สุด เบื้องต้นต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท และตลอดทั้ง 5 เฟสต้องใช้งบ 1,500 ล้านบาท จนป้นที่มาของการชักชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคทำการวิจัยนั้น


วันนี้ (24 ต.ค.) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าวแพทย์จุฬาฯ ก้าวไกล... สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง ว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พบโรคมะเร็งมากขึ้น จุฬาฯ จึงมียุทธศาสตร์ในการวิจัย การเรียน การสอนเพื่อให้คนไทยได้รับการดูแลเรื่องโรคมะเร็งอย่างครบวงจร โดยจุฬาฯมีความพร้อมในทุกศาสตร์ของโรคมะเร็ง และเพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยเข้าถึงสิทธิในการรักษาอย่างเท่าเทียม โครงการรักษาด้วยแอนติบอดี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุฬาฯทำการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง


นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มะเร็งจะสร้างเซลล์พีดีแอล-1 ขึ้น เพื่อจับกับเซลล์พีดี-1 ของทีเซลล์หรือเซลล์ภูมิคุ้มกัน เพื่อหลอกว่า เป็นเซลล์ปกติ ทำให้ไม่เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยได้ค้นหาแอนติบอดีต้นแบบ 1 ตัว ที่สามารถหยุดการทำงานไม่ให้พีดี-1 และพีดี-แอล1 มาจับคู่กันได้ ให้ผลในหลอดทดลองใกล้เคียงกับยาแอนติบอดีของต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองให้ใช้รักษาในมะเร็ง 15 ชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น กำลังเข้าสู่เฟส 2 ในการปรับปรุงแอนติบอดีให้มีความคล้ายของมนุษย์ ซึ่งสามารถเริ่มได้เลย เพราะได้รับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทแล้ว แต่ยังสามารถบริจาคเข้ามาได้เรื่อยๆ เพราะต้องการงบ 200 ล้านบาท ในการพัฒนาผลิตเข้าโรงงาน อย่างไรก็ตาม จะมีการทำแอนติบอดี้ต้นแบบจากหนูเพิ่มอีก 10 ตัว เนื่องจากมีโอกาสเพียง 10% ที่ยาต้นแบบที่เราพัฒนาได้จะไม่ซ้ำกับของประเทศอื่น


"ตั้งเป้าว่าภายในปี 2566 จะมียาใช้ทดลองในผู้ป่วยได้ และหากได้ยาแอนติบอดีมาก็อยากให้เป็นสิทธิบัตรของสภากาชาดไทย รวมถึงให้สภากาชาดไทยเป็นผู้กระจายยาดังกล่าว ทั้งนี้ การที่เราทำการศึกษาวิจัยพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทย เพราะขณะนี้เราต้องนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศ 100% ยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษาการผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้เราสามารถควบคุมราคาค่ารักษาได้และสามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยด้วย" นพ.ไตรรักษ์ กล่าว


ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า แอนติบอดีไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน ใช้ได้เฉพาะบางคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรายใดใช้แอนติบอดีรักษาไม่ได้ก็จะต้องใช้วิธีอื่น ซึ่งจุฬาฯ กำลังทำการวิจัยพัฒนาต่อยอด เช่น การใส่เซลล์เม็ดเลือดขาวหรือที่เรียกว่าเซลล์บำบัด แต่วิธีนี้ต้องทำในที่ที่มีความสะอาดและปลอดภัยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีวิธีการผลิตวัคซีนรักษาโรคมะเร็ง โดยเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้ จุฬาฯ กำลังต่อยอดทำวิจัยอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยาแอนติบอดี้ยังมีราคาสูงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ป่วย 1 รายต้องจ่ายเงินในการรักษาเองประมาณ 8 ล้านบาท หากจุฬาฯ พัฒนาสำเร็จค่าใช้จ่ายจะถูกลง หวังว่าราคาน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือถูกลง 10 เท่า ถือว่ามีความคุ้มค่าในการรักษา และเชื่อว่ารัฐบาลอาจมีการนำยาเข้าสู่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง ดังนั้น เราต้องรีบทำการวิจัยและพัฒนาให้ได้ยามาใช้โดยเร็วที่สุดภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย


ผู้สนใจสามารถสมทบทุนได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขบัญชี 408-004443-4 ชื่อบัญชีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสภากาชาดไทย และบัญชีใหม่ที่เพิ่งเปิดเลขที่บัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ 045-304669-7 ชื่อบัญชีบัญชีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)




เผยแพร่: 24 ต.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์