ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดปัญหา "รพ.ศรีสังวาลย์" รพ.แห่งเดียวของสมเด็จย่า เป็นหนี้ค่ายากว่า 100 ล้าน  (อ่าน 577 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เปิดปัญหา "รพ.ศรีสังวาลย์" รพ.แห่งเดียวของสมเด็จย่า พบรายรับติดลบตั้งแต่เริ่ม เป็นหนี้ยากว่า 100 ล้านบาท ซ้ำเป็นพื้นที่ห่างไกลพ่วงค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม ต้องจ่ายค่าจัดซื้อต่างๆ ราคาแพงกว่าปกติ เสนอปรับเป็นพื้นที่พิเศษ ช่วยได้รับงบ คน และสิ่งของเพิ่มขึ้น พร้อมปรับแก้กฎหมายให้จัดซื้อและปับเกณฑ์ในรูปแบบพิเศษ พร้อมวอนคนร่วมริจาคซื้อยาดูแลผู้ป่วย

วันนี้ (14 ก.ย.) นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า รพ.ศรีสังวาลย์ เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับงบประมาณติดลบมาตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ซึ่งคิดตามรายหัวประชากร โดยได้รับงบประมาณ 85 ล้านบาท แต่ต้องหักเงินเดือนบุคลากรก่อนอยู่ที่ 87 ล้านบาท ขณะที่งบจากกองทุนประกันสังคม เรามีผู้ประกันตน 8,000 คน ได้รับงบ 14 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายไปทาง รพ.เชียงใหม่ 10 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่งต่อผู้ป่วย เหลือแค่ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ รพ.ศรีสังวาลย์ ยังติดหนี้บริษัทยารวมกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เวลาสั่งยามามักจะได้ยามาเพียงครึ่งเดียว และไม่ได้รับยาใหม่ๆ ขณะที่การจัดซื้อครุภัณฑ์ สิ่งของจำเป็นในการรักษาคนไข้ พบว่า ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนมีราคาสูงกว่าพื้นที่อื่นหลายเท่า เช่น ถังออกซิเจนแพงกว่า 3-4 เท่า โดยซื้อในราคา 19 บาทต่อลิตร ขณะที่พื้นที่อื่นราคาประมาณ 4 บาทต่อลิตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงกว่าพื้นที่อื่น เรียกว่า คนจนต้องใช้ของแพง และล่าสุด หลังจากรัฐบาลประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ บริษัทที่จัดส่งก็ทำหนังสือเพื่อขอเพิ่มราคาอีก

นพ.พงษ์พจน์ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหา เบื้องต้นทางโรงพยาบาลยึดหลักเพิ่มรายรับลดรายจ่าย อาทิ การลดราคาค่าห้องพิเศษ เพื่อดึงให้ผู้ป่วยใช้บริการมากขึ้น เพราะปกติผู้ป่วยจะไปพื้นที่เชียงใหม่มากกว่า เนื่องจากพื้นที่เราค่อนข้างห่างไกล การเพิ่มศักยภาพการบริการตามเงื่อนไขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกลุ่มรักษาโรคร่วม (ดีอาร์จี) เช่น ไตเทียม การผ่าตัดระดับสูง ซึ่งเมื่อทำได้มากก็จะได้งบมากขึ้น การรับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเงินบริจาคจะมุ่งเอามาใช้ซื้อยารักษาโรคให้กับคนไข้ เพราะส่วนตัวมองว่า พื้นที่นี้หากนำไปซื้อเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ความถี่ในการใช้งานอาจไม่ได้มาก แต่หากนำไปซื้อยารักษาคนไข้จะช่วยคนไข้ได้จำนวนมาก รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่พิเศษจะช่วยแก้ปัญหานี้หรือไม่ นพ.พงษ์พจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาต่างๆ ในแม่ฮ่องสอนจะแพงกว่า เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกล การจัดซื้อต่าง ก็มักได้ราคาพิเศษเพิ่มขึ้น ดังนั้น รายรับก็ต้องพิเศษตามด้วย มิเช่นนั้นทุกอย่างจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ หากแม่ฮ่องเป้นพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เฉพาะ เราก็จะได้คนเงินของเพิ่ม อย่างบุคลากรเรามีปัญหาการไหลออก จากการเป็นพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบันมีแพทย์ 18 คน มีกุมารแพทย์เพียง 1 คน จึงต้องขอความช่วยเหลือไปทางกระทรวงฯ โดยกรมการแพทย์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย 1 คน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ต่อเดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากมีหนทางเพิ่มบุคลากรได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งการพิจารณาไม่ใช่แค่จำนวนคนกับปริมาณเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงลักษณะของพื้นที่ด้วย อย่างการส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล หากส่งต่อคนไข้หลายคน บุคลากรก็แทบหมดโรงพยาบาล เพราะเมื่อเวลาส่งต่อไปเชียงใหม่ต้องใช้พยาบาล 2 คน คนขับ 1 คน ไปก็ต้องพักค้าง 1 วัน มิเช่นนั้นก็ขับไม่ไหว เสี่ยงอุบัติเหตุ ซึ่งขณะนี้กำลังทำยูนิตคอร์สเพื่อให้เห็นถึงสภาพความเป้นจริงด้วย ส่วนอุปกรณ์หรือของนั้นมองว่าเมื่อเป็นพื้นที่พิเศษแล้วก็ควรต้องมีการแก้ไขให้การจัดซื้อเป็นแบบพิเศษด้วย

"จากปัญหาเหล่านี้ได้มีการหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งอยากให้ปรับเปลี่ยนแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เฉพาะ เนื่องจากแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ที่มีความแตกต่าง การดำเนินการต่างๆ รวมทั้งเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินตามกฎเกณฑ์ของ สปสช.จึงทำได้ยาก จึงควรมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของพื้นที่จริงๆ มิเช่นนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ จะเป็นการเกลี่ยงบจากพื้นที่หรือโรงพยาบาลอื่นๆมาให้กับแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะการทำเช่นนี้ก็กระทบกับโรงพยาบาลอื่นที่ต้องขาดแคลนงบประมาณเช่นกัน" นพ.พงษ์พจน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นพื้นที่พิเศษ จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ นพ.พงาพจน์ กล่าวว่า จะช่วยได้ แต่ตัวกฎหมายต้องมีการระบุให้ชัด่าจะไม่ขัดต่อเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รวมทั้ง พ.ร.บ. ประกันสังคม ด้วย เนื่องจากสิทธิบัตรทองและประกันสังคมกำหนดการจ่ายเงินรายหัวเท่ากันทั่วประเทศและมีเงื่อนไขปลีกย่อยจำนวนมาก หากมีการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ก็ต้องมีการเขียนให้ชัดเจนเพื่อจะเบิกจ่ายได้ตามความเป็นจริง

นพ.พงษ์พจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.กำลังจะเปิดหอเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขของแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเปิดในวันที่ 21 ต.ค. นี้ ซึ่งตรงกับวันพยาบาลสากลและวันทันตสาธารณสุข เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในแม่ฮ่องสอนเพื่อให้ผู้มาใช้บริการทราบถึงประวัติของรพ. ซึ่งเป็นรพ.ของสมเด็จย่าเพียงแห่งเดียวของประเทศ

14 ก.ย. 2561 15:18   โดย: ผู้จัดการออนไลน์