ผู้เขียน หัวข้อ: บ้านพักแพทย์-พยาบาล ยังขาดอีกกว่า 7 พันแห่ง ซ่อมแซมไม่ได้ ปลัด สธ.สั่งสำรวจจัดทำ  (อ่าน 637 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สนช.ถกปัญหา “บ้านพัก” บุคลากรสาธารณสุข พบยังขาดอีกกว่า 7 พันแห่ง ซ่อมแซมไม่ได้ ปลัด สธ.เผยเป็นนโยบายหลัก เพิ่มขวัญกำลังใจ สั่งผู้ตรวจฯ ทุกเขตสำรวจ เตรียมจัดงบบ้านพักปี 2563 ด้านแพทยสภา ชี้ บางส่วนต้องออกเองกว่า 5 หมื่นบาท เพื่อให้อยู่บ้านพักได้

วันนี้ (2 ต.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า บ้านพักบุคลากรสาธารณสุขเป็นปัญหามานาน เนื่องจากคนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีจำนวนมาก ยากที่จะจัดงบให้ทุกคนได้รับที่อยู่อาศัย บางส่วนต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมง จึงต้องมีที่พักในโรงพยาบาล ยิ่งโรงพยาบาลห่างไกล ยิ่งจำเป็น ขณะที่การบริหารจัดการระเบียบต่างๆ ที่ไม่อำนวย กว่าจะได้เงินมาใช้ค่อนข้างนาน บุคลากรต้องจ่ายเงินเอง ทำให้ไม่อยากอยู่ในระบบ และ สธ.เน้นหอพักผู้ป่วยก่อน โดยที่พักบุคลากรถูกจัดความสำคัญท้ายสุด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา สนช.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และเสนอให้ สธ. จัดความสำคัญเรื่องที่พักมากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุน 3 ปีแรก และพยาบาล 5 ปีแรก ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณอาจใช้วิธีเป็นเขตสุขภาพ หรือกลุ่มเครือข่ายในการขอร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม สนช. กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลสำรวจที่พักอาศัยบุคลากรในโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทุกระดับ ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2561 เบื้องต้นพบว่า สถานพยาบาล 7,187 แห่ง จาก 11,710 แห่ง มีบุคลากรทั้งหมด 257,534 คน แบ่งเป็นบุคลากรที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัย 130,073 คน บุคลากรที่มีความจำเป็นต้องพักอาศัยและมีที่พักแล้ว 65,225 คน และบุคลากรที่มีความจำเป็นแต่ยังไม่มีที่พักอีก 64,848 คน จำนวนอาคารที่พักที่มีอยู่เดิม 29,476 หลัง แบ่งเป็นบ้านพัก 25,209 หลัง เป็นอาคารพัก 3,657 หลัง แฟลต 610 หลัง ทั้งนี้ ที่พักมีความทรุดโทรม หลายแห่งไม่สามารถซ่อมได้ ทำให้ต้องการที่พักเพิ่ม 7,631 หลัง แบ่งเป็น บ้านพัก 6,258 หลัง อาคารพัก 1,137 หลัง และแฟลต 236 หลัง โดยยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณหลายพันล้านบาท สนช.ได้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดถึงความจำเป็นในการให้สวัสดิการแก่บุคลากร และนำมาเสนอเพื่อหาทางในการจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ได้หารือกับ สนช.แล้ว อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายแรกๆ ที่ตนตั้งไว้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากร ซึ่งจากการประชุมการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ก็มีเรื่องบ้านพักบุคลากรด้วย ซึ่งตนได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการ สธ.แต่ละเขตไปสำรวจเพิ่มเติม และจัดทำงบประมาณมาอีกครั้ง เพราะบ้านพักบุคลากรถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาบ้านพักเหล่านี้ตั้งมานาน มีความทรุดโทรม ในอดีตก็จะมีการซ่อมแซมปรับปรุงมาตลอด แต่ด้วยงบประมาณจำกัดก็ต้องมุ่งเน้นบริการประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนเจ้าหน้าที่บุคลากรก็อดทนมาตลอด แต่ปัจจุบันหลายแห่งซ่อมแซมไม่ได้แล้ว หลายแห่งต้องสร้างใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ไปศึกษาและนำรายละเอียดกลับมาเร็วที่สุด ส่วนตัวเลขชัดๆ เท่าไรยังไม่ทราบ แต่มอบหมายให้แต่ละเขตไปดำเนินการแล้ว และให้ส่งกลับมาโดยเร็วที่สุด รวมทั้งในเรื่องของรั้วกั้นตาม รพ.สต. ได้สั่งการให้ดูแลเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน

พล.อ.ต.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้สำรวจเบื้องต้นถึงสถานการณ์บ้านพักแพทย์ภาครัฐ โดยสำรวจความคิดเห็นผ่านออนไลน์กว่า 300 คน พบว่า ร้อยละ 54 ระบุว่า สภาพที่พักอาศัยไม่พร้อม ต้องซ่อมแซม โดยที่ต้องซ่อมแซมส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างชำรุด เช่น ฝ้า เพดาน รองลงมาคือ ห้องน้ำไม่พร้อมใช้ ส่วนเรื่องความสะอาดก็ยังเป็นปัญหา นอกจากนี้ ร้อยละ 27 ระบุว่า ต้องซ่อมแซมบ้านพักก่อนเข้าอยู่ แต่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะ รพ.ออก ส่วนร้อยละ 27.6 ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองบริหารการสาธารณสุข เห็นว่า มีการขาดที่พักอยู่มากกว่า 7,000 แห่ง ข้อเท็จจริงคือ ใช้งบประมาณจำนวนมากในการสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วย แต่ยังขาดงบดูแลบ้านพักบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าไปดูแลผู้ป่วย ซึ่งการศึกษาพบว่า แพทย์หญิงที่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด ครอบครัวจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของที่พักมาก ทั้งเรื่องแสงสว่าง พนักงานรักษาความปลอดภัย เพราะมีข่าวเจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายโดยมิจฉาชีพเป็นระยะ

“ปีนี้เป็นโอกาสดีที่ปัญหานี้ถูกวางเป็นนโยบายหลักของปลัด สธ. นอกจากนี้ แพทยสภาขอเสนอเรื่องการผลิตแพทย์ ซึ่งปีละเกือบ 3 พันคน สธ.รับไป บรรจุมากกว่า 2,000 คน ข้อเท็จจริงของสถานพยาบาลปัจจุบัน ยังมีที่พักขาดแคลนกว่า 7 พันหลัง ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีแพทย์บรรจุ ใน สธ.เพิ่มอีกราว 10,000 คนพร้อมกับ อัตราการเพิ่มของพยาบาลซึ่งคงต้องเป็นเงาตามตัว แผนการอนาคตเป็นเรื่องสำคัญที่จะบรรจุคู่ขนาน ทั้งอัตรา กำลังพล และบ้านพักไปพร้อมกัน เพื่อมิให้เกิดปัญหาในอนาคต” พล.อ.ต.อิทธพร กล่าว

2 ต.ค. 2561 16:40   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปลัด สธ.เร่งผู้ตรวจฯ จัดทำงบบ้านพัก “หมอ-พยาบาล” ส่งกลับมาภายใน 5 ต.ค. นี้ เตรียมทำข้อเสนองบประมาณปี 63 ต่อไป ย้ำเรื่องบ้านพักเริ่มแก้มานานแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องรอ พยายามดูแลสวัสดิการพื้นฐานเต็มที่ พ่วงบรรจุภูมิลำเนาเดิม

จากกรณีปัญหาบ้านพักบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งจากข้อมูลยังขาดอีกกว่า 7 พันแห่ง โดยจะต้องสร้างใหม่ เพราะบ้านพักเดิมไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขเร่งให้ผู้ตรวจราชการ จัดทำงบที่พักบุคลากรทางการแพทย์ปี 2563

วันนี้ (3 ต.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ ว่า จริงๆ แล้วเรื่องบ้านพักที่อยู่อาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ มีการดำเนินการมา 1-2 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งทำ จึงเป็นที่มาของการสำรวจจนได้ข้อมูลว่า ยังขาดอีกกว่า 7 พันแห่งที่ต้องสร้างใหม่ เนื่องจากไม่สามารถซ่อมแซมได้ โดยหากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะเน้นทำเป็นแฟลตที่พัก ส่วนบ้านพักก็จะเป็นในส่วนโรงพยาบาลห่างไกล ซึ่งจากการมอบให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทั้ง 12 เขตสุขภาพไปจัดทำข้อมูลว่า แต่ละพื้นที่มีความต้องการอย่างไร โดยหลักจะมีงบประมาณอยู่แล้วเขตสุขภาพละประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นงบรวม เป็นงบที่พัก 300-500 ล้านบาท ก็ให้ไปจัดลำดับตามความสำคัญ ความเร่งด่วน และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่มา โดยใหส่งข้อมูลกลับมาภายในวันที่ 5 ต.ค. นี้ เพื่อจัดทำของบประมาณต่อไป

“เราจะเน้นให้บุคลากรที่จำเป็นมากๆ อย่างบุคลากรที่ต้องทำงานใน รพ. แทบ 24 ชั่วโมง หรือแพทย์ใช้ทุน พยาบาล วิชาชีพต่างๆ กลุ่มนี้ไม่ใช่คนในพื้นที่ก็อาจไม่มีบ้าน หรือครอบครัวในพื้นที่นั้นๆ เราต้องหาที่พักให้พวกเขา ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐาน” ปลัด สธ. กล่าว

เมื่อถามถึงบุคลากรอีกกว่า 6 หมื่นคน ยังขาดที่พัก ระหว่างรอที่พักใหม่จะช่วยเหลืออย่างไร นพ.สุขุม กล่าวว่า เรื่องบ้านพักที่อยู่อาศัยต้องใช้เวลา ที่ผ่านมา จะให้ตามความจำเป็น อย่างบุคลากรที่อยู่เวรในรพ. คนที่อยู่ในสถานพยาบาลห่างไกล ไม่สามารถหาที่อยู่ใกล้ๆ ได้ หรือที่พักไหนซ่อมแซมได้ก็ต้องพยายามทำต่อ แต่ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องรอ เมื่อได้งบมาใหม่ก็จะสร้างใหม่ นอกจากนี้ ก็มีนโยบายที่จะพยายามให้บรรจุในภูมิลำเนาตัวเอง เพื่อไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องห่างกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม สธ.ก็ต้องทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานตรงนี้ จึงมอบนโยบายไปแล้ว ซึ่งในการจัดสรรงบประมาณก็เห็นชัดว่า การจัดสรรงบประมาณรายการใหม่ อาคารที่พักอันดับ 1 รองลงมาให้เป็นอาคารผู้ป่วยนอก เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มารับบริการ รองลงมาก็ครุภัณฑ์ แต่ก็ดูตามความจำเป็นเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับระดับโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลใหญ่ อย่างโรงพยาบาลศูนย์เป็นโรงพยาบาลที่มีระดับความเชี่ยวชาญสูง รองลงมาคือ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เรายิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะจะมีเรื่องความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องมีรั้วมีแสงสว่าง ได้มอบให้ผู้ตรวจฯไปดำเนินการแล้ว

3 ต.ค. 2561 17:58   โดย: ผู้จัดการออนไลน์