ผู้เขียน หัวข้อ: เปิด 5 แนวทาง ลดความแออัด “โรงพยาบาล” ของปลัด สธ.คนใหม่  (อ่าน 506 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปลัด สธ.แถลง 5 แนวทางลดความแออัด รพ. เน้นส่งต่อไร้รอยต่อ ไร้พรมแดน พักฟื้น รพ.ใกล้บ้าน สร้างความรู้สุขภาพ สร้างความไว้วางใจ “ทีมหมอครอบครัว” หวังลดการมา รพ. พร้อมพัฒนาระบบคิว ลดการมา รพ.พร้อมๆ กัน เผย อัตราครองเตียงเฉลี่ยทั่วประเทศ 72% ยิ่ง รพ.ใหญ่ยิ่งแน่น พุ่งถึง 104%

วันนี้ (3 ต.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลแออัดและการพัฒนาบุคลากร ว่า ยอมรับว่าปัญหา รพ.แออัดมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ต้องนอนตามระเบียง ทางเดิน ไม่มีมุ้ง ไม่มีผ้าห่ม ซึ่งไม่อยากให้ผู้ป่วยมารับการรักษาด้วยโรคหนึ่งแล้ว ติดอีกโรคหนึ่งกลับไป อย่างโรคไข้เลือดออก เพราะไม่มีมุ้งลวด โดยที่ผ่านมาพยายามแก้ไข อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลแออัดหลักๆ มี 5 แนวทาง คือ
1. การส่งต่อข้ามพื้นที่แบบไร้รอยต่อและไร้พรมแดน โดยการส่งผู้ป่วยตามระบบในพื้นที่จังหวัด และส่งข้ามจังหวัดกรณีที่โรงพยาบาลอีกจังหวัดนั้นอยู่ใกล้กว่าโรงพยาบาลในจังหวัด
2. จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยอาการคงที่และอยู่ระหว่างพักฟื้นกลับไปรักษาที่ รพ.ใกล้บ้านแทน จะช่วยลดความแออัดใน รพ.ใหญ่ได้
3. การสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพให้แก่ประชาชน (Health Literacy) อย่างที่ลดอัตราการป่วยมะเร็งปากมดลูกได้ ไม่ใช่แค่เพราะมีวัคซีนป้องกัน แต่เพราะคนตระหนักรอบรู้และตรวจคัดกรองมากขึ้น ซึ่งการที่ประชาชนมีความรู้ดูแลสุขภาพตนเอง ก็จะลดการมาโรงพยาบาลได้เช่นกัน
4.การเดินหน้าทีมหมอครอบครัว โดยการสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา และความไว้วางใจให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนจะวางใจไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลชื่อดัง เพราะไว้วางใจมากกว่า ดังนั้น หากสามารถสร้างให้ประชาชนไว้วางใจทีมหมอครอบครัว โดยรู้ชื่อแพทย์และเบอร์ของทีมหมอครอบครัว ที่สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ตลอดเวลา มีเครื่องมือการตรวจอย่างง่ายมาไว้ที่อาคารคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ก็จะช่วยลดการไปโรงพยาบาล ลดความแออัดลงได้ โดยเฉพาะในเขตเมือง ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
5.การพัฒนาระบบคิวก็จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลพร้อมๆ กันได้ ลดความแออัดลง รวมถึงพัฒนาระบบคิวออนไลน์ในการนัดผู้ป่วยมา รวมถึงการเชื่อมต่อข้ามโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีต้นแบบแล้วที่ รพ.ราชบุรี และ รพ.ปทุมธานี ทั้งนี้ จากมาตรการเหล่านี้ แม้จะอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี แต่เราคงไม่ได้รอถึงขนาดนั้นจึงจะประสบความสำเร็จ แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด บางเรื่องอาจจะเห็นผลใน 2-4 ปีก็ได้

ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รักษาราชการรองปลัด สธ. กล่าวว่า จากข้อมูลทั่วประเทศพบว่า โรงพยาบาลแต่ละระดับมีอัตราการครองเตียงมากน้อยแตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) มีอัตราการครองเตียงเฉลี่ยสูง 104% โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) อัตราครองเตียงเฉลี่ย 91% รพ.ทั่วไปและ รพ.ชุมชนขนาดใหญ่หรือระดับแม่ข่าย อัตราการครองเตียงเฉลี่ย 79% ขณะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อัตราครองเตียงเฉลี่ย 68% โดยรวมแล้วอัตราครองเตียงเฉลี่ยของโรงพยาบาลทุกระดับอยู่ที่ 72% ดังนั้น ถ้าส่งกลับผู้ป่วยระยะฟื้นตัวกลับมาที่ รพ.ใกล้บ้านก็จะลดปริมาณผู้ป่วย รพ.ใหญ่ไม่ให้ล้นได้ รพ.ขนาดเล็กก็ดูแลได้เต็มศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีการทดลองที่ จ.อุบลราชธานี โดย รพ.สรรพสิทธิประสงค์มีอัตราครองเตียง 110% เมื่อส่งกลับมา รพ.วารินชำราบ และ รพ.ใกล้เคียง ทำมา 6 เดือนพบว่า สามารถลดความแออัดใน รพ.สรรพสิทธิประสงค์ลงได้ถึง 10%

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยนอก ยอมรับว่ามีจำนวนมาก เช่น รพ.สรรพสิทธิประสงค์ มีผู้ป่วยเข้ามาวันละประมาณ 3.5 พันคน ซึ่งถ้าจะอนุมานว่าเกือบครึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นต้องมา รพ. ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริมความรู้ทางด้านสุขภาพให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครคิดว่า ที่ผู้ป่วยเข้า รพ.เยอะ เพราะการรักษาฟรีตามสิทธิบัตรทอง เพราะการเจ็บป่วยเป็นความทุกข์ การมานอน รพ.ไม่ใช่ความสุข

ด้าน นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค รักษาราชการ ผอ.กองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยไม่ได้ดูตามระยะเวลามากการพบแพทย์ว่ามากน้อยแค่ไหน แต่ดูแลตามมาตรฐานของแต่ละโรคมากกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเอาตามหลักแล้วอยากให้แพทย์ได้มีเวลาตรวจผู้ป่วยไม่น้อยกว่ารายละ 5 นาที แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยความที่ผู้ป่วยเยอะ ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ถึง 5 นาที อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการลดความแออัดที่กระทรวงกำลังทำก็หวังว่าจะทำให้แพทย์มีเวลาดูแลคนไข้ได้มากขึ้น

3 ต.ค. 2561 18:00   โดย: ผู้จัดการออนไลน์