ผู้เขียน หัวข้อ: หมออนามัย” บุกยืน รมว.สธ.ขอปฏิรูป รพ.สต.ปัญหาเพียบ ขาดคน-งบ-ความก้าวหน้า-บ้านพัก  (อ่าน 647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“หมออนามัย” บุกยื่นหนังสือ รมว.สธ. ขอเหลียวแลเจ้าหน้าที่ รพ.สต. เผย งานหนัก แต่ขาดคนและงบประมาณ ไม่มีความก้าวหน้าวิชาชีพ บ้านพักก็ทรุดโทรม ขอประกาศเป็นวาระปฏิรูป

วันนี้ (5 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหมออนามัยกว่า 100 คน นำโดย นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. (แห่งประเทศไทย) ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้สนับสนุนกำลังคน งบประมาณ และในการพัฒนา รพ.สต.ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ รองรับการดูแสสุขภาพประชาชนเชิงรุก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รพ.สต.เป็นด่านหน้าที่ให้การดูแลประชาชน ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ 9 พันกว่าแห่ง ที่ผ่านมา สธ.มีการประกาศพัฒนา รพ.สต. ตั้งเกณฑ์ประเมินคุณภาพเพื่อมอบเป็น รพ.สต.ติดดาว ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีไม่กี่ร้อยแห่ง ส่วนใหญ่ก็เป็น รพ.ที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่อยู่แบบทุรกันดาร คนทำงานไม่มี งบไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้ประกาศเป็นวาระของการปฏิรูป รพ.สต. เพราะหากประกาศเป็นแค่นโยบาย ก็จะไม่เกิดการพัฒนา และย่ำอยู่ที่เดิม โดยควรสนับสนุนให้มีกำลังคนประมาณ 7 คนต่อแห่ง โดยเฉพาะตำแหน่งธุรการ การเงิน เพื่อแยกส่วนการทำงานออกจากการบริหาร และงานดูแลสุขภาพประชาชน จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระ และความเสี่ยง และพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะปัจจุบันตำแหน่ง ผอ.รพ.สต. ซึ่งเป็นคนที่จบนักวิชาการสาธารณสุขอยู่แค่ระดับ ซี 6 ขณะที่พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ที่ระดับซี 7 ถือว่าไม่ถูกหลักการบริหาร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไปยื่นที่ก.พ.อีกครั้งหนึ่ง

“อยากให้สนับสนุนสิ่งที่จะทำให้เราทำงานได้ด้วย ไม่ใช่สั่งงาน สั่งนโยบายอย่างเดียว แต่ไม่มีการสนับสนุน รวมถึงเรื่องขวัญกำลังก็คือสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เรื่องบ้านพักซึ่งสร้างมาหลายสิบปี ทรุดโทรมมาก แม้ว่าส่วนตัวผมจะเห็นว่าสำรองเป็นอันดับรองลงมาจากการปรับปรุงอาคาร รพ.สต.ก็ตาม ซึ่งวันนี้มีจำนวนมากที่ทรุดโทรม ฝ้าเพดานพัง น้ำรั่ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวสั้นๆ ว่า กระทรวงรับทราบเรื่องนี้มาโดยตลอด และพยายามหาทางแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องหารือพิจารณากันในรายละเอียดต่อไป เพราะทราบดีว่า รพ.สต.เป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกัน


5 ต.ค. 2561 15:27   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
หมออนามัยห่วงจัดสรรงบ “บ้านพักหมอ” ลงมาไม่ถึง รพ.สต. เหตุไปเน้น รพ.ขนาดใหญ่ แนะแบ่งเกรด รพ.ควรซ่อมหรือควรสร้างแห่งใดก่อน ขอรถรับส่งบุคลากรต่างถิ่น ระหว่างรองบสร้างที่พัก ด้าน กก.ปฏิรูปประเทศ สธ.จ่อถกแก้ปัญหาคนไข้ล้น เงิน คนทำงานไม่พอ

จากกรณีปัญหาบ้านพักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์มีสภาพทรุดโทรม ต้องสร้างใหม่ ยังขาดแคลนอีกกว่า 7 พันแห่ง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งให้ทำข้อมูลมาเพื่อเสนองบประมาณปี 2563

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายที่ดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศ จะมีปัญหาเรื่องบ้านพักหลายแห่งไม่มีรั้ว ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีความปลอดภัย ทั้งที่เป็นสวัสดิการพื้นฐาน ยิ่ง รพ.สต.ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร ยิ่งลำบาก ที่ผ่านมา งบประมาณก็ไม่ค่อยถูกจัดสรรลงมา จะไปที่ รพ.ขนาดใหญ่มากกว่า ส่วนงบที่ไป รพ.สต. ก็นำไปใช้ในเรื่องการประกวด รพ.สต.ติดดาว ที่กังวล คือ เมื่อได้รับงบประมาณมา กลัวจะถูกหั่นกลางทาง สุดท้าย รพ.สต.ก็แทบไม่ได้อะไร ทั้งที่บ้านพักใน รพ.สต.ใช้งบแค่แสนกว่าบาทก็อยู่ได้

“อยากให้ สธ.สำรวจและตรวจสอบว่า รพ.สต.มีกี่แห่งที่ต้องมีบ้านพัก และกี่แห่งบ้านพักสามารถซ่อมบำรุงได้ เพราะ รพ.สต.มีเกือบหมื่นแห่ง ไม่ใช่น้อยๆ กลัวแค่ว่าเมื่องบลงมาจะไปที่ รพ.ขนาดใหญ่ สร้างแฟลตที่อยู่อาศัยเป็นร้อยล้านบาท สุดท้าย รพ.สต.ก็จะไม่ได้รับงบประมาณอยู่ดี ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้แบ่งเป็นเกรด A B และ C โดยเกรด C ก็แบ่งระดับว่า แห่งไหนซ่อมแซมได้ก็ทำไปก่อน ส่วนแห่งไหนต้องจัดซื้อก็ทำไป” นายริซกี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างรองบประมาณมาสร้าง นายริซกี กล่าวว่า น่าจะมีรถรับส่งให้กับบุคลากร เพราะหลายคนเป็นคนต่างถิ่น บางคนก็อยู่คนละอำเภอ ที่ผ่านมา ก็ต้องเดินทางไปกลับเอง นั่งรถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์ ไม่มีรถ รพ.รับส่ง ซึ่งเมื่อเป็นคนต่างถิ่น และต้องมาพักบ้านพักที่ทรุดโทรม หรือไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ รวมทั้งหากใน รพ.สต. ชุมชนไม่เข้มแข็ง ก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา มีการบุกเข้าไปหวังปลุกปล้ำ ขโมยของ ตรงนี้ควรมีมาตรการระยะสั้นมาช่วยเหลือด้วย เพราะถ้ารองบประมาณน่าจะค่อนข้างลำบาก

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และรอง ผอ.รพ.ราชบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา งบประมาณจะมุ่งเน้นไปที่การบริการผู้ป่วย ซึ่งเมื่อ สธ.มีนโยบายดูแลสวัสดิการถือเป็นเรื่องดีมาก ปัญหา คือ กว่าจะได้รับงบประมาณอาจต้องใช้เวลา ทั้งการของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง อย่างต่ำน่าจะ 3 ปี ระหว่างนี้ต้องมีการบริหารจัดการ แต่ที่ดีที่สุด คือ อยากให้มีงบเช่นนี้ทุกปี เพราะแม้จะมีงบเรื่องที่พักบุคลากร แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกแห่ง ต้องพิจารณาตามความจำเป็น ซึ่งในส่วนของ รพ.ราชบุรี จะเป็นแฟลตที่พัก มีประมาณกว่า 100 ห้อง ซึ่งก็ยังไม่พอ หากมีเพิ่มอีก 100 ห้องคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหา ทำให้บุคลากรทำงานสะดวกมากขึ้น ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนที่ให้เขตสุขภาพละ 300-500 ล้านบาท ก็คงต้องอยู่ที่การพิจารณาการจัดสรรงบ

“ทุกวันนี้ รพ.ราชบุรี มีแพทย์ประมาณ 200 คน พยาบาลเป็นพันคน ที่ลำบากมาก คือ พยาบาล เพราะควงเวรนาน และเป็นผู้หญิง การจะให้เดินทางไปกลับบ้านตัวเองค่อนข้างลำบาก ที่ผ่านมา รพ.ราชบุรี ต้องจัดสรรงบเพื่อเช่าที่พักให้ แต่ใช่ว่าจะทำได้ตลอด เพราะ รพ.ก็มีปัญหาการเงิน การแก้ปัญหาก็จะมีห้องพักรวม เป็นแบบห้องให้นอนพักระหว่างเข้าเวร ซึ่งก็ต้องสลับกัน ไม่เพียงพออยู่ดี การที่มีนโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และจะสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง ข้อมูลไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ยังไม่ออก แต่ดูแล้วสถานการณ์ดีขึ้นมาก เพราะ สธ.ได้พยายามออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือ แต่มองว่ายังเป็นการพยุงตัวเองให้รอดเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ต้นเหตุของปัญหาไม่ได้มีการแก้ไข โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลต้นเหตุของปัญหาหลักๆ คือ จำนวนคนไข้ที่มา รพ.มากขึ้น เพราะขาดความรอบรู้เรื่องสุขภาพในการดูแลป้องกันตนเอง และละเลยที่จะดูแลตัวเอง เช่น รู้ว่าเหล้า บุหรี่ไม่ดีก็ยังบริโภค พาตัวเองไปเสี่ยง ทำให้เมื่อเจ็บป่วย ไม่รู้วิธีดูแลตัวเอง ไป รพ.มากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ทั้ง ที่การเจ็บป่วยหลายอย่างดูแลตัวเองได้

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า อีกสาเหตุคือ สธ.พยายามที่จะยกมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีการทำศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องดีทำให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ดี แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ขณะที่ความคาดหวังของผู้ป่วยก็ยิ่งมีมากขึ้นเช่นกัน ต่อมา คือ เรื่องการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันแม้จะปรับเปลี่ยนมาช่วยเหลือกันภายในจังหวัด ภายในเขต แต่ก็ยังเป็นไปตามรายหัวประชากร ซึ่งบาง รพ.ที่มีประชากรน้อย ได้เงินน้อย เมื่อหักเงินเดือนแพทย์ออกแล้วเหลืองบดูแลผู้ป่วยไม่มาก ถ้า 3 ข้อนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาก็จะยังวนเวียน ส่วนมาตรการลดความแออัด รพ.ด้วยการส่งต่อแบบไร้พรมแดน ส่งผู้ป่วยพักฟื้นไป รพ.ใกล้บ้าน มองว่าช่วยเรื่องของการลดความแออัด และทำให้มีเงินตามลงไปที่ รพ.ขนาดเล็กด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาผู้ป่วยล้นทะลัก ไม่มีแพทย์ ไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญเพียงพอไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็น 10 ปี แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด การแก้ไขต้องดูตัวหลักทั้งเรื่องประชาชนให้มีความรู้เรื่องสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขประกอบกับตัวอื่นๆ ที่มีความหมาย คือ กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนแพทย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องสารพิษต้องแก้ไข

“เรายังไม่พูดถึงตัวเลขงบประมาณ แต่ถ้าคนทำงานไม่พอมันกระทบกับการดูแคนไข้แน่นอน เพราะแพทย์มีเวลาวินิจฉัยโรคน้อย คนไข้ก็ขาดโอกาส เข้าใจว่าวันนี้เราพยายามแก้ไขอยู่ เราทำดีแล้วแต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องคุยกัน ซึ่งในวันอังคารหน้าทางคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะคุยกันเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

5 ต.ค. 2561 15:13   โดย: ผู้จัดการออนไลน์