ผู้เขียน หัวข้อ: 1 ม.ค.65 เตรียมพร้อมรับ ICD-11 บัญชีจำแนกโรคฉบับใหม่ ‘รหัสโรคและการเสียชีวิต’  (อ่าน 553 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่บทความเรื่อง ICD-11: Classifying disease to map the way we live and die เกี่ยวกับบัญชีการจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565

กำหนดรหัสโรคและการเสียชีวิต

สถิติสาธารณสุขเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สะท้อนสุขภาวะของประเทศได้ดีที่สุด แม้ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อาจบ่งชี้ถึงความร่ำรวย ทว่าข้อมูลการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตต่างหากที่สะท้อนความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน

บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Classification of Diseases: ICD) เป็นพื้นฐานสำคัญของการเก็บสถิติสาธารณสุข โดยใช้สำหรับกำหนดรหัสการบาดเจ็บหรือโรค รวมถึงสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งหมดลมหายใจ นอกจากนี้ยังได้บันทึกปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือสาเหตุภายนอกของการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตซึ่งทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทุกแง่มุม

สถิติสาธารณสุขเป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินทางคลินิก ดังนั้นการตระหนักว่าการเจ็บป่วยเกิดจากสาเหตุใดและอะไรเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจึงเป็นหัวใจของการประเมินแนวโน้มและการระบาดของโรค รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการสาธารณสุข จัดสรรงบประมาณการรักษาพยาบาล ตลอดจนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

รหัส ICD มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสม และในบางประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ยังเป็นพื้นฐานของระบบประกันสุขภาพและเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับงบประมาณการรักษาพยาบาล

บัญชี ICD ถือเป็นภาษากลางสำหรับบันทึก รายงาน และติดตามปัญหาสาธารณสุข ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าโรคจิตเภทสามารถวินิจฉัยด้วยแนวทางเดียวกันทั้งในญี่ปุ่น เคนยา และบราซิล แต่ปัจจุบันนี้หากแพทย์ในประเทศใดสักแห่งไม่สามารถอ่านประวัติของผู้ป่วยก็สามารถอ่านได้จากรหัส ICD

หากปราศจากบัญชี ICD ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานร่วมกันก็จะส่งผลให้แต่ละประเทศหรือภูมิภาคต่างมีระบบจำแนกโรคของตนเองซึ่งอาจใช้ได้จำเพาะประเทศหรือภูมิภาคนั้น ขณะที่การกำหนดมาตรฐานร่วมกันจะเปิดโอกาสไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณสุขในระดับโลก

เตรียมพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศบัญชี ICD-11 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาเพื่อให้ชาติสมาชิกเตรียมความพร้อมก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปีหน้า โดยใช้เวลาจัดทำกว่า 10 ปีเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากบัญชี ICD-10

ประการแรก...บัญชี ICD-11 ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยสะท้อนความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์และการแพทย์

ประการที่สอง...บัญชีใหม่สามารถใช้ร่วมกับฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อความสะดวกในการใช้งานแล้วในอีกทางหนึ่งยังลดข้อผิดพลาดและบันทึกข้อมูลได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเข้าถึงบัญชีที่แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในบริบทที่มีทรัพยากรจำกัด

ประการที่สามซึ่งเป็นข้อสำคัญ...บัญชี ICD-11 พัฒนาขึ้นด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและได้รับความร่วมมือท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ ความซับซ้อนของบัญชี ICD เดิมทำให้บัญชีจำแนกโรคกลายเป็นเครื่องมือพิศวงที่จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษานานหลายเดือนและนำไปสู่ข้อบกพร่องในการใช้งาน ด้วยเหตุนี้การปรับปรุงบัญชีฉบับใหม่จึงมีเป้าหมายเพื่อให้บัญชี ICD เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย

น้อยแต่ได้มาก

ความเกี่ยวข้องระหว่างรหัส ICD กับบริการสุขภาพ งบประมาณสาธารณสุข และการประกันสุขภาพส่งผลให้บัญชี ICD มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งแพทย์ องค์กรผู้ป่วย และโดยเฉพาะผู้ให้บริการประกันสุขภาพ

หลายองค์กรพยายามผลักดันว่าภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งควรบรรจุอยู่ในบัญชีหรือไม่ หรือควรบรรจุอยู่ในหมวดหมู่ใด​ตัวอย่างเช่น องค์กรด้านโรคหลอดเลือดสมองคอยผลักดันให้ปรับโรคหลอดเลือดสมองออกจากโรคระบบไหลเวียนเลือดไปสู่โรคทางระบบประสาทอันเป็นหมวดหมู่ปัจจุบันของโรคหลอดเลือดสมองในบัญชี ICD-11 โดยย้ำถึงนัยสำคัญต่อการรักษาและการเสียชีวิตของผู้ป่วย

การรวมหรือแยกออกจากบัญชี ICD ไม่ได้เป็นตัวตัดสินความเหมาะสมของโรคหรือประสิทธิภาพการรักษา การรวมการแพทย์แผนโบราณเป็นครั้งแรกในบัญชี ICD-11 มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บดังที่พรรณาไว้ในการแพทย์แผนจีนซึ่งแพร่หลายในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ตลอดจนภูมิภาคอื่น

อีกด้านหนึ่งการทบทวนการรวมความผิดปกติด้านสุขภาพทางเพศอาจจำเป็นในกรณีที่หลักฐานทางการแพทย์ไม่สนับสนุนฐานคติทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น บัญชี ICD-6 ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2491 จำแนกรักร่วมเพศเป็นความผิดปกติทางจิตภายใต้ฐานคติว่าความเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานเป็นภาพสะท้อนจากความผิดปกติของบุคลิกภาพ ซึ่งรักร่วมเพศหลุดจากบัญชี ICD และระบบจำแนกโรคอื่นในช่วงคริสตทศวรรษที่ 70 หรือราว 30 ปีให้หลัง นอกจากนี้บัญชี ICD ได้ปรับความไม่สอดคล้องทางเพศ (gender incongruence) ออกจากความผิดปกติทางจิตไปไว้ในหมวดภาวะสุขภาพทางเพศ ดังที่ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยชี้ชัดว่าความไม่สอดคล้องทางเพศไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต อีกทั้งการบรรจุไว้ในหมวดความผิดปกติทางจิตอาจสร้างตราบาปแก่บุคคลข้ามเพศ

รหัส ICD ซึ่งเป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรคยังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อปัญหาสุขภาพจิต บัญชี ICD-11 ได้บรรจุภาวะติดเกมซึ่งมีหลักฐานชี้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพและจำเป็นต้องติดตาม รวมถึงพฤติกรรมเสพติดอื่น เช่น พฤติกรรมสะสมสิ่งของ และภาวะผิดปกติอื่น เช่น ‘แรงขับทางเพศมากผิดปกติ’ ซึ่งปรับให้อยู่ในหมวด ‘พฤติกรรมทางเพศผิดปกติแบบย้ำทำ’

การพลิกโฉมหมวดความผิดปกติทางจิตในบัญชี ICD-11 เป็นผลจากความพยายามลดความซับซ้อนของรหัสเพื่อเอื้อให้ผู้ให้บริการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิสามารถกำหนดรหัสภาวะผิดปกติทางจิตแทนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อันถือเป็นก้าวสำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งพบปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการรักษา

ประวัติบัญชี ICD

ประวัติของบัญชี ICD ย้อนกลับไปถึงอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งแต่ละสัปดาห์บัญชีการตายของกรุงลอนดอนจะประกาศการเสียชีวิตจากสาเหตุที่พบบ่อยในยุคกลาง เช่น ลักปิดลักเปิด เรื้อน และกาฬโรค จนเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ซึ่งเพิ่งกลับจากสงครามไครเมียได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมสถิติสาเหตุของโรคและการเสียชีวิตอย่างเป็นระบบ และในช่วงเดียวกันนั้นเอง ฌาคส์ เบอร์ติลลอน นักสถิติชาวฝรั่งเศสได้เสนอบัญชีเบอร์ติลลอนสำหรับจำแนกสาเหตุการเสียชีวิตซึ่งใช้กันในหลายประเทศ

ในช่วงคริสตทศวรรษ 1940 องค์การอนามัยโลกได้นำระบบเบอร์ติลลอนมาปรับปรุงโดยรวมสถิติด้านสาเหตุการบาดเจ็บและการเกิดโรคจนเกิดเป็นบัญชี ICD ชุดแรก ซึ่งนับเป็นการรวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเพื่อติดตามแนวโน้มของโรคและการเสียชีวิตเป็นครั้งแรก

แนวโน้มของโรคและสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

ข้อมูลที่รวบรวมด้วยรหัส ICD ช่วยให้สามารถติดตามแนวโน้มของโรคและสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลกอันเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของสุขภาพประชากร รวมถึงปัจจัยกำหนดทางสังคมที่สัมพันธ์แนบแน่นกับสุขภาพ เช่น การศึกษา โภชนาการ และระบบสาธารณูปโภค หรือกล่าวอย่างย่อได้ว่ารหัส ICD ช่วยชี้ให้เห็นจุดเปราะบางของประเทศ ดังเช่นอุบัติการณ์ของโรคท้องร่วมมักพบมากกว่าในประเทศที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างเบียดเสียดและขาดแคลนน้ำสะอาด

รายงานการสังเกตการณ์สุขภาพโลก (Global Health Observatory) โดยองค์การอนามัยโลกเป็นการรวบรวมสถิติสุขภาพจากตัวบ่งชี้กว่า 1,000 รายการ อนามัยโลกจะนำข้อมูลที่รวบรวมผ่านระบบ ICD มารายงานเป็นประจำทุกปีซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญต่อการประเมินความคืบหน้าตามเป้าหมายสำคัญ เช่น เป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

ข้อมูลการเสียชีวิตในรายงานการสังเกตการณ์สุขภาพโลกชี้ว่าแม้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลกด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตราว 15 ล้านคนเมื่อปี 2558 แต่เมื่อพินิจสถิติจำแนกตามทวีปกลับพบภาพที่ต่างไปคนละขั้ว ดังที่การเสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและเอชไอวี/เอดส์เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในแอฟริกา ขณะที่ความรุนแรงเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตในภูมิภาคอเมริกาและตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ข้อมูลยังชี้ความต่างอย่างเห็นได้ชัดด้านการจัดสรรพลังงานและทรัพยากรในระบบสุขภาพโดยปราศจากอิทธิพลของอคติหรือสมติฐาน เช่น สถิติการเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมและความรุนแรงในปี 2561 ของอนามัยโลกสะท้อนว่าสถิติอาจไม่สอดคล้องเสมอไปกับข้อมูลการเสียชีวิตที่รายงานผ่านสื่อ (ดู Why data is important)

Why data is important

บัญชี ICD-11 จะใช้ได้นานเพียงใด

การปรับปรุงรหัสทุกรอบทศวรรษก็มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถปรับรหัสของตนเอง แม้แต่ละประเทศไม่สามารถเปลี่ยนรหัสพื้นฐานได้แต่ก็สามารถเพิ่มเติมรายละเอียดให้มีความสอดคล้องกับระบบสุขภาพและบริบทของตนเองมากยิ่งขึ้น

ประเทศที่ปรับปรุงรหัสได้เป็นผลสำเร็จอาจเผยแพร่และฝึกอบรมการใช้รหัสที่ปรับปรุงแล้วแก่ประเทศอื่น ขณะที่ผู้ปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมเฉพาะทาง เช่น ทันตกรรมหรือสุขภาพจิตก็สามารถปรับรหัสในแบบของตนได้เช่นกัน

แม้องค์การอนามัยโลกทุ่มเทเวลาเพื่อปรับบัญชี ICD ให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์ แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะต้องยอมรับบัญชี ICD โดยดุษฎี ทำให้ที่ผ่านมาบัญชีจำแนกโรคที่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อยผุดขึ้นทั่วโลกและจำเป็นต้องมีบัญชีใหม่เพื่อตั้งระบบใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดีบัญชี ICD-11 พัฒนาขึ้นบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะเอกสารมีชีวิตที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นที่คาดหมายว่าบัญชี ICD-11 น่าจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

ขอบคุณที่มา แปลจาก ICD-11: Classifying disease to map the way we live and die : www.who.int

Mon, 2018-08-06 21:42   -- hfocus