ผู้เขียน หัวข้อ: พยากรณ์อนาคตการศึกษาไทย เด็กไม่สนใจเรียน ‘แพทย์’ เหตุเงินไม่มากแต่งานเพียบ  (อ่าน 474 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา สกอ.วิเคราะห์อนาคตการศึกษาไทย ชี้มุ่งแต่ผลิตกำลังคนอาจไม่ตอบโจทย์ คาดเด็กอาจไม่เลือกเรียนแพทย์เพราะงานหนักแต่เงินน้อยกว่าขายของออนไลน์ เสนอคณะกรรมการกำลังคนฯ หาแนวทางธำรงค์รักษาผู้ที่อยู่ในระบบ

น.ส.วัฒนาพร สุขพรต ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อเร็วๆ นี้ ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการในการทำแผนการศึกษาระยะยาว ซึ่งจะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย สกอ.ได้วาดภาพอนาคตเอาไว้ และจากตัวเลขการสอบต่างๆ พบข้อเท็จจริงประการหนึ่งคืออย่าเพิ่งคิดว่าเด็กจะมาเรียนแพทย์มากเหมือนในอดีตอีกต่อไป

น.ส.วัฒนาพร กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างน่าเป็นห่วง สหรัฐอเมริกาพบการปิดมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องมีการยุบ ยก เลิก มหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน เพราะการลงทุนสูงมาก ขณะที่เงินในภาคการผลิตบัณฑิตไม่เข้าเป้า แต่จำนวนอาจารย์มากขึ้นเรื่อยๆ

“มหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องเหลือการผลิตเฉพาะที่ชำนาญเท่านั้น มิเช่นนั้นจะหาคนเรียนไม่ได้ นี่คือการปรับตัวครั้งใหญ่ การขอจัดตั้งคณะแพทย์ 1 คณะเพื่อเพิ่มการผลิต ก็จะถามทันทีว่าจะเอาคนที่ไหนมาเรียน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องตระหนัก” น.ส.วัฒนาพร กล่าว

น.ส.วัฒนาพร กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับบทบาท โดยขณะนี้เรากำลังจำแนกมหาวิทยาลัยตามบทบาท เช่น มหาวิทยาลัยที่ขนาดใหญ่ๆ อาจต้องเน้นการวิจัยมากกว่าการผลิตบัณฑิต และการวิจัยก็ต้องไม่ได้อยู่บนหิ้ง แต่ต้องลงมาอยู่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่สำคัญก็คือต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติจริงร่วมกับภาคเอกชน เพราะหากผลิตขึ้นมาโดยไม่สนใจเอกชน ก็เท่ากับผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตรงตามความต้องการของตลาด

“ทุกวันนี้ google เขาเปิดหลักสูตรเองแล้ว เขาไม่พึ่งมหาวิทยาลัยแล้ว แล้ว google จะรับรองให้ด้วยว่าเด็กจบจากเขา และเขาก็จะรับคนจากหลักสูตรที่เขาผลิตขึ้นมาเอง ประเด็นคือภาคเอกชนสามารถทำบางอย่างตามความต้องการของเขาได้” น.ส.วัฒนาพร กล่าว

น.ส.วัฒนาพร กล่าวอีกว่า ในอนาคตคือเด็กจะไม่มาเรียนในมหาวิทยาลัยหรือในห้องเรียนอีกแล้ว แต่เด็กจะทำงานไปเรียนไป คือเขาอยากรู้เรื่องอะไรเขาค่อยมาเรียน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการปรับกระบวนการสอน และทำให้มหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนจับมือกัน

สำหรับภาคสาธารณสุขก็คงไม่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะแพทย์เป็นรูปธรรมที่เห็นชัดว่าจำเป็นต้องลงไปในระดับปฏิบัติ แต่ในอนาคตก็ไม่มั่นใจว่าเด็กจะเลือกเรียนแพทย์เป็นอันดับหนึ่งอยู่หรือไม่ นั่นเพราะเริ่มมีเสียงบ่นว่าเรียนหนัก ทำงานหนัก เงินเดือนไม่ได้ดีไปกว่าวิชาชีพอื่นๆ ทุกวันนี้เด็กสนใจเรื่องผลประโยชน์กับค่าตอบแทน เขาค้าขายผ่านหน้าเว็บเขาก็ได้เดือนละเป็นแสนๆ แล้ว

“ฉะนั้นระบบสาธารณสุขไทยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าว่า ในอนาคตถ้ามีระบบ AI เข้ามาประมวลผลต่างๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือ ระบบดิจิตัล ถามว่าเราจำเป็นต้องมีกำลังคนด้านสุขภาพมากขนาดนี้หรือไม่ ในเรื่องกำลังคนนั้นพบว่าภาคใช้กับภาคการผลิตไม่เคยมาพูดคุยกันเลย ต่างคนต่างทำ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีข้อแม้เรื่องการผลิต ปัญหาจึงอยู่ที่อัตราการบรรจุที่กระทบต่องบประมาณภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดก็คือเมื่อบรรจุแล้วจะธำรงรักษาเขาเหล่านั้นให้อยู่ในระบบต่อไปได้อย่างไร” น.ส.วัฒนาพร กล่าว

Tue, 2018-08-21 17:01   -- hfocus