ผู้เขียน หัวข้อ: 10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ VS นายกรัฐมนตรีและครม.อย่าหลงกล สปสช.  (อ่าน 2148 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด


10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี

ชื่อบทความนี้ดูแล้วอาจแปลกๆ ไปนิด ว่ามันจะเกี่ยวอะไรกันกับ 10 ล้านคน หมอ 2 คน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กว่า 1 ปี ที่ได้ติดตามการทำงานด้านการแพทย์ของระบบประกันสังคม ก็พบว่าทั้ง 3 เรื่องนั้นมีความสัมพันธ์และเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน ดังนี้

10 ล้านคน คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นพลเมืองชั้นสองเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวจากคนไทย 65 ล้านคน ที่ยังต้องเสียสองต่อในการรักษาพยาบาล คือ เสียภาษีเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และยังต้องเสียค่ารักษาสุขภาพของตนเองผ่านระบบประกันสังคม จึงถือได้ว่า 10 ล้านคน เป็นพลเมืองชั้นสอง ในด้านการรักษาพยาบาล รองจาก ข้าราชการ ผู้ถือบัตรทอง และหากเปรียบเทียบกับท่าน ส.ส. ส.ว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ยิ่งต้องช้ำใจ เพราะท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ต่างกับ 10 ล้านคน ราวกับรถเฟอรารี่กับรถอีแต๋น ก็ว่าได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แม้มีความพยายามในการเรียกร้องสิทธิให้กับคน 10 ล้านคน มาเกือบ 1 ปี แต่ดูจะไม่เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ประกันตน 10 ล้านคนกลุ่มนี้ ยังต้องจ่ายเงินเอง เหมือนกับพวกเขาไม่ใช่คนไทย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว. ผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ที่อ้างตัวว่ามารับใช้พี่น้องประชาชน ต้องรับผิดชอบดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของคน 10 ล้านคน แต่กลับไม่ทำอะไรเลย แถมยังขึ้นค่ารักษาพยาบาล เพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ตัวเอง ทำให้คน 10 ล้านคน พลเมืองชั้นสอง เจ็บใจเล่น

หมอ 2 คน เชื่อไหมว่า บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์มีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบด้านการแพทย์ ในสำนักงานประกันสังคมของคน 10 ล้านคน ในปัจจุบันมีหมอเพียง 2 คน คนแรก คือ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นประธานบอร์ดประกันสังคม และคนที่สองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานก็มีแค่ 20 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่มีพื้นฐานด้านการแพทย์และประกันสุขภาพ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะต้องออกแบบ สิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงิน ตรวจสอบ ติดตาม คุณภาพ หน่วยบริการ เพื่อดูแลผู้ประกันตน จึงไม่มีทางที่จะทำให้ได้ดี เพราะแค่ตามจ่ายเงินให้หน่วยบริการทั่วประเทศให้ตรงเวลาก็แย่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าลำพังหมอ 2 คน กับเจ้าหน้าที่เพียง 20 คน ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ประกันตน 10 ล้านคนได้แน่นอน ประเด็นที่สำคัญที่ทราบมาก็คือ บรรดาเจ้าหน้าที่และผู้บริหารส่วนใหญ่ในสำนักงานประกันสังคมเองก็เบื่อเต็มที ไม่ได้อยากดูแลด้านการแพทย์ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ อยากจะยกภาระหน้าที่นี้ให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ แต่กลับไปติดอยู่ที่ผู้บริหารบางคนที่ยังมีความดันทุรังสูง อาจจะด้วยเหตุผลความอยากเอาชนะหรือไม่ก็ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เราๆ ท่านๆ อาจมองไม่เห็น

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีการแพทย์ของประกันสังคมก็ดูไม่ต่างจากกรณีน้ำท่วมเท่าไหร่ ที่คนในรัฐบาลต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของรัฐมนตรีแถวสาม เพราะการที่รัฐบาลปล่อยให้สำนักงานประกันสังคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาแถลงอย่างน่าชื่นตาบานเพราะคิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ว่าจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการ 1 RW = 15,000 บาท มากกว่า ข้าราชการและบัตรทองที่ 1 RW = 12,000 และ 9,000 บาท ตามลำดับ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลบัตรทองก็ไม่รู้เรื่องว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อบัตรทอง เพราะการจ่ายเงินแบบนี้จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อบัตรทองและเพิ่มภาระงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการทันที ดังนี้

    ผู้ป่วยภายใต้บัตรทองจะกลายเป็นผู้ป่วยอนาถาทันที ไม่มีโรงพยาบาลไหนทั้งรัฐบาลและเอกชนอยากดูแล เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมาก มีค่าใช้จ่ายสูง รัฐบาลกลับจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้น้อยกว่าสิทธิอื่นๆ
    ภาพรวมของระบบสุขภาพจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทันที และจะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ที่รัฐบาลเพิ่งตัดลง 10% อีกอย่างน้อย 30,000 ล้านบาท ต่อปี และยังต้องรวมของข้าราชการที่เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น กว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี
    โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเอกชนทั้งหลายที่สามารถเลือกได้ก็จะไม่ยอมเข้าร่วมบัตรทอง รอรับดูแลเฉพาะประกันสังคมและข้าราชการดีกว่า

ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์หวังจะเห็นโครงการบัตรทองมีคุณภาพมากขึ้นนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อประเมินจากสถานการณ์ข้างต้น รวมถึงความเคลื่อนไหวหลายประการในแวดวงบัตรทอง ณ เวลานี้ ก็สะท้อนถึงความรู้ไม่เท่าทันกลเกมต่างๆ ที่การเมืองมีต่อขั้วอำนาจทั้งหลายในแวดวงสาธารณสุข หากการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายกุมนโยบายไม่ทันเกม ทั้งยังไม่ตระหนักถึงความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่รัฐบาลไทยรักไทยเป็นผู้ทำคลอดจากข้อเสนอที่เคลื่อนไหวมายาวนานของภาคประชาชน ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีกลุ่มการเมืองใดกล้าพอที่จะยอมรับกับข้อเสนอนี้ ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ในที่สุดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคเพื่อไทยก็จะกลายเป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยเขียนด้วยมือและลบด้วยเท้าในไม่ช้า

ประชาไท
Fri, 2011-12-23
.................................................................................

นายกรัฐมนตรีและครม.อย่าหลงกล สปสช.
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

สำหรับประชาชนทั่วไป นักการเมือง นายกรัฐมนตรี ครม. ตลอดไปจนถึงนายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจไม่เข้าใจว่าหมอพงศธร ฯ คนนี้ เขาต้องการอะไรจากบทความนี้

  เนื่องจากผู้เขียนบทความวันนี้ ได้ติดตามการทำงานของสปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดมาจนจะครบ ๑๐ปีนี้ ผู้เขียนขอชี้ว่า นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี กำลังทำบทบาทที่ ๑ ของทฤษฎี ๓ เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของหัวหน้าแพทย์ตระกูลส(.คือนพ.ประเวศ วะสี) กล่าวคือให้นักวิชาการมาบอกสื่อ(เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ) ขั้นที่ ๒ ให้สื่อกระจายข่าวให้สังคมทราบ เพื่อจะไปถึงขั้นที่ ๓ คือให้ฝ่ายการเมืองทำตามที่เขาต้องการ

   แล้วบทความของนพ.พงศธรฯเรื่องนี้ เขาต้องการอะไร?อธิบายโดยย่อก็คือ เขาต้องการรวมกองทุนประกันสังคม เข้ามาอยู่ภายใต้การบริการของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งพวกเขาพยายามมายาวนานแต่ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จได้ เริ่มตั้งแต่ยุคแรกๆที่เริ่มมีกองทุนหลักประกันฯหรือสปสช. เขาก็พยายามรวมมาตลอด เพราะเขียนเอาไว้ในมาตรา๑๐ ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.ท ๒๕๔๕แล้ว  การที่พวกเขาไม่สามารถรวมกองทุนได้ก็เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตลอด แต่หมอตระกูลส.ได้แก่ประเวศ วะสี วิชัย โชควิวัฒน์ อำพล จินดาวัฒนะ พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข วินัย สวัสดิวร ฯลฯ ต่างก็มีความพยายามที่จะรวมกองทุนประกันสังคม เข้ามาให้สปสช.บริหารตลอดมา

 ครั้งสุดท้ายในรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชชาชีวะ ความพยายามของพวกเขาก็สำเร็จในขั้นต้น คือรัฐบาลนั้นได้ตั้งสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (สพคส.) มีวัตถุประสงค์ที่จะรวม ๓ กองทุนสุขภาพ คือประกันสังคมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กองทุนหลักประกันสุขภาพของ สปสช. และกองทุนสวัสดิการการรักษาของข้าราชการและมีการแต่งตั้งให้นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ของสปสช. มาเป็นประธานในการพิจารณารวม ๓ กองทุน

 แต่ผู้ประกันตนรู้เท่าทันความคิดที่จะรวมกองทุน จึงพยายามต่อต้านไม่ให้สปส.ตกหลุมพรางยอมไปรวมกองทุนนี้ได้จนปัจจุบันนี้

 ทั้งนี้ สปสช.ให้ข้อมูลมาตลอดว่าสปส.ให้สิทธิประโยชน์การดูแลรักษาสุขภาพของผู้ประกันตน “ด้อย” กว่าบัตรทอง ทั้งๆที่สปส.ก็ได้อธิบายมาตลอดว่า สิทธิของผู้ประกันตนในการไปรับการดูแลรักษาสุขภาพไม่ได้ด้อยกว่าสิทธิของสปสช.เลย กลับจะดีกว่าหลายประการ เช่น ได้รับยาไม่ด้อยคุณภาพไปกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้รับสิทธินอนพักรักษาตัวในห้องพิเศษ  สามารถเลือกโรงพยาบาลเอกชนหรือเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ และได้รับของขวัญเยี่ยมไข้เวลาต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

และเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการบริหารสปส.ได้เพิ่ม สิทธิประโยชน์ในการให้ค่ารักษาผู้ป่วย(นอน)ใน(รพ.)เพิ่มขึ้นมากกว่าสวัสดิการข้าราชการและสปสช. โดย 1 RW ของสปสช.เท่ากับ9,000 บาท สวัสดิการข้าราชการ เท่ากับ 12,000 บาท และของสปส. เท่ากับ 15,000 บาท  ซึ่งทำให้นพ.พงศธรฯ ออกมาเขียนบทความเรื่อง “ 10 ล้านคน หมอ 2 คนและรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ดังกล่าว

ทั้งนี้การเพิ่มค่า RW นี้ จะทำให้ผู้ป่วย (ที่นอนรักษา)ใน(รพ.)ของสปส.ได้รับงบประมาณในการดูแลรักษามากขึ้นพอสมควรกับค่ารักษาค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ทำให้รพ.ต่างๆก็ยินดีจะรับผู้ป่วยประกันสังคมไว้รักษา เพราะรักษาแล้วไม่ขาดทุนในการทำงาน

  การปรับเพิ่มค่า RW ของสปส.คราวนี้  แทนที่นพ.พงศธร ฯ จะบอกว่า ผู้ประกันตนจะได้รับบริการดูแลรักษาอย่างดี รพ.สามารถจัดยาและเวชภัณฑ์ได้เต็มที่ดีกว่าสปสช. เขากลับออกมา “ด่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่าการขึ้นค่า RW จะทำให้ผู้ป่วยบัตรทองกลายเป็นคนอนาถา จะทำให้งบประมาณสวัสดิการรักษาข้าราชการเพิ่มขึ้นตามอัตราค่า RW ของประกันสังคม  และเขียนให้ผู้ประกันตน “เจ็บใจ” ว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง เนื่องจากต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จึงจะได้สิทธิค่ารักษา แถมยังด่าว่าไปถึงนายกรัฐมนตรี และครม.อีกว่า ครม.ต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ด่าสำนักงานประกันสังคมอีกว่ามีหมอแค่ 2 คน จะไปดูแลคน 10 ล้านคนได้อย่างไร?   และคาดหวังว่า โรงพยาบาลต่างๆจะไม่รับรักษาผู้ป่วยบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการเนื่องจากจ่ายเงินให้โรงพยาบาลน้อยกว่า สปส.

 แถมนพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ยังเขียนอีกว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่พรรคไทยรักไทยทำมานั้นจะล่มสลาย ด้วยการทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเองเหมือน “เขียนด้วยมือและลบด้วยเท้า”เนื่องจากการที่สปส.เพิ่มเงินค่ารักษาผู้ป่วย(นอน)ในโรงพยาบาลของสปส.เท่านั้น

 ผู้เขียนบทความนี้ได้อ่านบทความที่นพ.พงศธรเขียนทั้งหมดแล้ว ก็อยากจะเตือนนายกรัฐมนตรี ครม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขว่า ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่าสปส.หรือสปสช.กันแน่ ที่ทำให้งบประมาณรักษาผู้ป่วยบานปลาย ทำให้โรงพยาบาลขาด (ต้น)ทุนในการดำเนินการดูแลรักษาประชาชนจนแทบล้มละลาย  ทำไมโรงพยาบาลเอกชนไม่อยากรักษาผู้ป่วยบัตรทอง เพราะอะไร? เพราะให้เงินโรงพยาบาลไม่คุ้ม (ต้น)ทุนในการรักษาผู้ป่วยหรือเพราะรังเกียจว่าเป็นคนอนาถาอย่างที่นพ.พงศธรอ้าง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่ามัววิตกว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับงบประมาณอีก 2 กองทุน อย่างที่นพ.พงศธรฯอ้าง เพราะเงินไม่พอแล้วจะหวังการรักษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร เพราะความจริงก็คือ “ของถูกๆแต่ดีๆนั้นไม่อาจหาได้ในโลกทุนนิยมนี้”

และผู้ประกันตนอย่าหลงเชื่อว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องจ่ายเงินจึงจะได้สิทธิในการรักษา ควรจะภูมิใจที่มีความสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง พร้อมกับได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากกองทุนประกันสังคม

  แต่รัฐบาลควรจะพิจารณาให้ผู้ป่วยบัตรทองที่หลายคนมีฐานะดีกว่าผู้ประกันตนเสียอีก ควรต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพเหมือนผู้ประกันตน จะทำให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ สร้างสุขภาพและป้องกันโรคจะได้ลดอัตราการป่วยลง ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ จะช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาได้มากขึ้น

นพ.พงศธรฯ เป็นนักวิชาการฯที่มีความใกล้ชิดและเคยเป็นเจ้าพนักงานหรือบุคลากรของกลุ่มแพทย์ตระกูลส. อ้างความเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขให้คนที่ไม่รู้ทันเชื่อถือ แต่สิ่งที่เขาเขียนนี้อ้างความจริงแค่ไม่ถึงครึ่งของความจริงทั้งหมด และบางอย่างก็เป็นความคิดเห็นที่บิดเบือนจากหลักการของเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและผิดจากความเป็นจริง ซึ่งจะขออธิบายให้เห็นดังนี้คือ

1.การบอกว่าพรรคไทยรักไทยโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขียนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และพรรคเพื่อไทยจะลบด้วยเท้า นั้นไม่เป็นความจริง ผู้ที่ลบชื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็คือกลุ่มแพทย์ตระกูลส.ได้แก่ นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ได้มาเป็นรมว.สธ.ในยุดปฏิวัติ และสั่งให้เลิกเก็บเงิน 30 บาท เพื่อลบคำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และพรรคประชาธิปัตย์ก็เอาไปโฆษณาต่อว่า “รักษาฟรีทุกโรค”

 การรักษาฟรีนี้เอง ได้ทำให้ประชาชนมาใช้บริการที่รพ.มากขึ้นอีก 2- 3 เท่าตัว โดยโรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินครั้งละ 30 บาทได้ ในแต่ละรอบ 1 ปีมีประชาชนมาใช้บริการในรพ. ประมาณ 200 ล้านครั้ง ทำให้รพ.สูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป ถึง 6,000 ล้านบาท  รพ.ขาดเงินในการดำเนินงานดูแลรักษาประชาชน และต้องเพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวจากเดิมต้นปีแรกที่1,200บาทต่อหัวมาเป็น 2,895   บาทต่อหัวในปีนี้ (ซึ่งรัฐบาลได้ตัดงบประมาณที่สปสช.ขอไปลง 10%)  ซึ่งค่าหัวของสปสช.นี้ ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นมากเท่าใดก็ตามสปสช.ก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้รพ.ในอัตราเพิ่มขึ้นตามอัตรางบเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด รพ.กระทรวงสาธารณสุขถูกมัดมือชกจากสปสช.มาตลอด 10ปีที่ผ่านมา แต่สปสช.เองมีเงินมากมายไปทำโครงการพิเศษต่างๆที่ไม่ใช่ภารกิจของสปสช.ตามกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.ทำงานบริหารกองทุน ผิดมติครม. ผิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผิดประกาศสตง. และผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลายประการ เช่นตั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนของเลขาธิการสปสช. กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่สูงเกินมติครม. บริหารงบกองทุนผิดๆอีกหลายประเด็น ตามที่สตง.ได้ชี้ประเด็นความผิดมาแล้ว

  นายวิทยา บุรณศิริควรเร่งตรวจสอบเพื่อลงโทษคนผิด ป้องกันการคอรัปชั่นและจ่ายเงินผิดกม.ของสปสช.โดยด่วน

2.  การที่นพ.พงศธรอ้างว่า รพ.มหาวิทยาลัยไม่อยากรับผู้ป่วยบัตรทอง นั้นสาเหตุที่แท้จริง คือ สปสช.ชอบ”ชักดาบ” คือไม่จ่ายหนี้ค่ารักษามากมายหลายสิบล้านให้แก่รพ.มหาวิทยาลัย  แต่รพ.สธ.ไม่มีทางเลือกถึงแม้จะเป็นเจ้าหนี้ของสปสช.มากมายแค่ไหนก็ต้องรักษาประชาชนไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดตัว/ล้มละลาย ส่วนรพ.เอกชนต่างก็พากันทยอยลาออกจากการเป็นหน่วยบริการของสปสช.เพราะได้เงินจากสปสช.ไม่คุ้มต้นทุนการดำเนินการรักษาผู้ป่วย

3. การที่นพ.พงศธรอ้างว่าการเมืองไม่รู้เท่ากลเกมของแวดวงสาธารณสุขนั้น ผู้เขียนบทความนี้ ก็อยากจะบอกนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ผู้ที่วางกลเกมให้ท่าน “ตามไม่ทัน” และเป็นผู้ลบโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจากสาระบบนั้นเกิดจากพฤติกรรมของพวกที่กุมอำนาจเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพมาหลายปีดังกล่าว หาใช่จากกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขอื่นไม่ นอกจากลบภาพ 30 บาทยังไม่พอ ยังยกยอปอปั้นพวกลุ่มตน คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็น “บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพไทย” ด้วย ทั้งๆที่ผู้ที่ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพไทย คือ พรรคไทยรักไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่การบริหารสปสช.ที่อ้างว่ามีหมอเยอะแยะกว่าหมอ 2 คนของประกันสังคมนี่แหละ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่น และความเสี่ยงต่ออันตรายของประชาชนที่ไปโรงพยาบาล เนื่องจากรพ.สธ. ขาดเงิน ขาดบุคลากร ขาดเตียง ขาดทุกๆอย่าง มีแต่ผู้ป่วยเท่านั้นที่มีมากมายจนล้นโรงพยาบาล ดังที่เป็นจริงอยู่ในขณะนี้

  ฉะนั้นแทนที่รัฐบาลจะ “ลดค่าหัว”ประชาชนบัตรทอง ควรพิจารณาให้ประชาชนร่วมจ่าย จะทำให้รพ.สธ.มีเงินต้นทุนดูแลรักษาประชาชนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน แต่ต้องตัดคนกลาง คือ สปสช.ที่คอยกินหัวคิว(อย่าฉ้อฉล)ก่อนส่งเงินให้รพ.ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔
..........................................................................
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ธันวาคม 2011, 00:12:03 โดย seeat »