ผู้เขียน หัวข้อ: WHO เปิดสาเหตุเสียชีวิต 10 อันดับแรกทั่วโลก ‘หลอดเลือดหัวใจตีบและสโตรก’ พุ่งสูง  (อ่าน 460 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก รายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกทั่วโลก โดยระบุว่า จากตัวเลขการเสียชีวิต 56.9 ล้านรายในปี 2559 นั้นกว่าครึ่ง (ร้อยละ 54) เชื่อมโยงกับสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและสโตรกเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดด้วยตัวเลขรวม 15.2 ล้านรายในปี 2559 และยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

ประเมินว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคร่าชีวิตผู้คนราว 3 ล้านในปี 2559 ขณะที่มะเร็งปอด (รวมถึงมะเร็งหลอดลมใหญ่และหลอดลม) อยู่ที่ราว 1.7 ล้านราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 1 ล้านรายในปี 2543 มาที่ราว 1.6 ล้านรายในปี 2559 การเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวระหว่างปี 2543-2559 และขึ้นมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 ในปี 2559 จากอันดับ 14 เดิมเมื่อปี 2543

การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างยังคงเป็นโรคระบาดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดด้วยตัวเลข 3.0 ล้านรายทั่วโลกในปี 2559 อัตราการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงลดลงเกือบ 1 ล้านรายระหว่างปี 2543-2559 แต่ก็ยังคงมีตัวเลขสูงถึง 1.4 ล้านราย เช่นเดียวกับการเสียชีวิตจากวัณโรคซึ่งลดลงในช่วงเดียวกันแต่ก็ยังติดกลุ่ม 10 สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลกด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 1.0 ล้านรายในปี 2559 เทียบกับ 1.5 ล้านรายเมื่อปี 2543

อุบัติเหตุจราจรเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.4 ล้านรายในปี 2559 โดย 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) เป็นผู้ชายและเด็กชาย



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกทั่วโลกปี 2559



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกทั่วโลกปี 2543

สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจำแนกตามเศรษฐกิจ

กว่าครึ่งของการเสียชีวิตทั้งหมดในกลุ่มประเทศรายได้น้อยในปี 2559 มีสาเหตุจากโรค “Group I” อันได้แก่ โรคติดต่อ การตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร และภาวะทุพโภชนาการ ขณะที่ตัวเลขการเสียชีวิตจากเหตุเดียวกันกลับอยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ในกลุ่มประเทศรายได้สูง อนึ่ง การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในทุกช่วงชั้นทางเศรษฐกิจ

กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (noncommunicable diseases, NCDs) เป็นสาเหตุร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ร้อยละ 37 ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยจนถึงร้อยละ 88 ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต 9 ใน 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้สูงล้วนแต่เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ อย่างไรก็ดีเมื่อมองในแง่ตัวเลขสัมบูรณ์พบว่าร้อยละ 78 ของการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

การบาดเจ็บทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 4.9 ล้านรายในปี 2559 โดยกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 29) มีสาเหตุจากอุบัติเหตุจราจร กลุ่มประเทศรายได้น้อยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงสุดด้วยอัตราส่วนการเสียชีวิต 28.4 รายต่อประชากร 100,000 รายขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยในระดับโลกอยู่ที่ 18.8 ราย นอกจากนี้การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรยังเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้น้อย รายได้น้อย-ปานกลาง และรายได้ปานกลางขั้นสูง

ที่มา: Global Health Estimates 2016: Deaths by Cause, Age, Sex, by Country and by Region, 2000-2016. Geneva, World Health Organization; 2018.



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้น้อยในปี 2559



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำในปี 2559



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงในปี 2559



สาเหตุการเสียชีวิต 10 อันดับแรกในกลุ่มประเทศรายได้สูงในปี 2559

เหตุใดจึงต้องศึกษาสาเหตุการเสียชีวิต

การติดตามตัวเลขการเสียชีวิตรายปีและสาเหตุการเสียชีวิตเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่สุด (เช่นเดียวกับการประเมินผลกระทบจากโรคและการบาดเจ็บ) สำหรับประเมินประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของประเทศ

สถิติสาเหตุการเสียชีวิตช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถกำหนดมาตรการสาธารณสุขเพื่อแก้ไขช่องว่างเร่งด่วน เช่น ประเทศที่การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคเบาหวานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปี จะทุ่มความสนใจไปที่แผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศที่พบว่าเด็กจำนวนมากเสียชีวิตจากปอดอักเสบแต่มีงบประมาณในการรักษาจำกัดก็สามารถหากทางแก้ไขโดยเพิ่มงบประมาณเพื่อรองรับผู้ป่วย

กลุ่มประเทศรายได้สูงมีระบบเก็บข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตพร้อมสรรพ ขณะที่หลายชาติในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางยังไม่มีระบบดังกล่าวทำให้การประเมินสาเหตุการเสียชีวิตอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เองการปรับปรุงข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตให้มีคุณภาพสูงจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยกระดับสุขภาพและลดการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ในกลุ่มประเทศดังกล่าว

ขอบคุณที่มา แปลและเรียบเรียงจาก The top 10 causes of death: www.who.int
Sat, 2018-08-18 11:56   -- hfocus