ผู้เขียน หัวข้อ: ฮีโร่ผู้น่าสงสาร การสื่อสารที่ล้มเหลว กับระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้  (อ่าน 2265 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


ระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้

ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณปี 2561เป็นเรื่องร้อนและแรงในวงการสาธารณสุขในช่วงนี้ (คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว)



ก่อนที่จะลงลึกในรายละเอียด ขอย้อนไปในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 14 หัวข้อ การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวในที่ประชุมว่า รัฐบาลชุดนี้ออกกฎหมายมา มากกว่ารัฐบาลชุดใดๆ  มี 151 ฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่กฎหมายเหล่านี้เกินครึ่งไม่สามารถบังคับใช้ได้ (ด้วยเหตุผลต่างๆกันไป)
ออกมาแล้วไม่สามารถบังคับได้จริง ออกมาแล้วปฏิบัติไม่ได้จริง แล้วจะออกมาทำไม ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่รู้จะรีบออกมาเพื่ออะไร จะเอาแค่มีเจตนาดีอย่างเดียวคงไม่ได้



เหมือนประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ห้ามนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์จไฟในที่ทำงาน ห้ามนำรถส่วนตัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ เจตนาดี แต่เป็นไปไม่ได้ในบริบทของงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สุดท้ายก็ต้องถอย เพราะมันทำไม่ได้ มันเป็นมาตรการที่ปฏิบัติไม่ได้จริงๆ(ในปัจจุบัน ขาดความพร้อมหลายๆอย่างทีเดียว)
มาตรการที่ปฏิบัติไม่ได้ ออกมาได้อย่างไร หรือเป็นเพียงแค่  หวังสร้างศรัทธา(ตามข่าว) (ป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม) โดยไม่ได้ลงไปสัมผัสกับลูกน้องตัวเป็นๆ โดยไม่ได้รับรู้ถึงสภาพการทำงานจริงๆของบุคลากร ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่เข้าใจบริบทที่เป็นอยู่ในหน่วยงานในสังกัด (หรือ...มีเหตุผลอื่นอีก)  ถึงได้เซ็นหนังสือออกมา



มาเรื่องระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว เจตนาเพื่อทำตามนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับกำลังคนภาครัฐ และการบริหารอัตรากำลังคน โดยให้หลีกเลี่ยงการจ้าง จะจ้างต้องขออนุญาตก่อน จ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ จ้างไม่เกินค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่ง/วุฒิ และไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง
เพื่อปฏิบัติแนวทางเดียวกันทุกกระทรวง แต่สำหรับงานของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระเบียบนี้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้  เพราะจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับการดูแลคนไข้ และการบริหารงานในโรงพยาบาล (กระทรวงหรือหน่วยงานอื่นไม่ขอวิจารณ์)

คนไข้มากขึ้น ความคาดหวังสูงขึ้น ฟ้องร้องได้ง่ายๆ กระทรวงออกนโยบายบริการเป็นเลิศ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มการเข้าถึง ในขณะที่บุคลากรเพิ่มได้ไม่ทัน ไม่เพียงพอกับภาระงาน หาคนมาทำงานยากขึ้นทุกวัน ลาออกกันเป็นทิวแถว คนที่เหลืออยู่ก็แบกรับกันจนหลังแอ่น หลายโรงพยาบาลมีสถานะการเงินเป็นลบ แต่ก็ต้องจ้างคนมาทำงานเพิ่มขึ้น (ไม่งั้นงานดูแลคนไข้ ไม่สามารถเดินต่อไปได้)

กระทรวงการคลังให้งบประมาณมาจ้างบุคลากรได้แค่ประมาณร้อยละ 60 ของบุคลากรทั้งหมดที่ปฏิบัติงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรที่เหลืออีกร้อยละ40 โรงพยาบาลต้องหาเงินมาจ้างกันเอง(เงินนอกงบประมาณ) ถ้าระเบียบแบบนี้บังคับใช้ บุคลากรร้อยละ 40 (ได้เงินเดือนแค่ขั้นต่ำ ไม่ขึ้นเงินเดือน จ้างเป็นปีๆไป) ใครจะอยู่ คงลาออกกันหมด แล้วจะหาคนที่ไหนมาทำงาน มันเป็นระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้จริงๆ

ระเบียบที่นำมาปฏิบัติไม่ได้ ออกมาได้อย่างไร กระทรวงการคลังอาจไม่เห็นการทำงานในโรงพยาบาล แต่ท่านไม่ได้รับรู้เลยหรือว่า สถานการณ์ของกำลังคนของโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ถ้าท่านรู้ ท่านเข้าใจ ก็ไม่น่าจะมีระเบียบแบบนี้ออกมา หรือว่าท่านเข้าใจเป็นอย่างอื่น หรือมีวัตถุประสงค์อื่นใด (หรือ...มีเหตุผลอื่นอีก)



ความจริงที่ทางกระทรวงการคลังออกมาชี้แจงว่า ระเบียบนี้ไม่กระทบกับการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้แล้ว โดยให้จ้างได้ตามระเบียบเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุข ก็จริงอยู่ เป็นการคลี่คลายความสงสัยและการคัดค้านระเบียบนี้ของหลายๆกลุ่มได้ระดับหนึ่ง แต่ประเด็นมันกลายเป็นว่า ระเบียบเงินบำรุงฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี(29มกราคม2561) ได้สร้างความอึดอัดใจกับผู้บริหารโรงพยาบาลในทุกระดับ เพราะทำให้ขาดความคล่องตัว แทนที่จะเกิดประโยชน์ กลับสร้างปัญหาใหม่ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการออกระเบียบเงินบำรุง

ในระเบียบเงินบำรุง ปี 2561(จำนวน 5 หน้า 19 ข้อ) มีเงื่อนไข(หรือกรณี)ที่ต้องให้กระทรวงการคลัง เห็นชอบ เห็นสมควร  ตกลง หรืออนุมัติ  รวม 10 เงื่อนไข(หรือกรณี) (เมื่อเทียบกับระเบียบเงินบำรุงปี 2536 ที่มีเพียง 6 ) เหมือนว่ากระทรวงการคลังต้องการเพิ่มมาตรการในการควบคุมมากขึ้น กระชับอำนาจ แทนที่จะลดขั้นตอน และกระจายอำนาจตามนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูประบบราชการ นี้คือปัญหาที่ผู้ปฏิบัติไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้




การสื่อสารที่ล้มเหลว

คำถามที่น่าหาคำตอบ ไม่ได้คุยกัน หรือคุยกันไม่รู้เรื่อง? เรื่องที่เป็นประเด็นในปีที่แล้ว(2560)จนพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาเรียกร้อง และขู่ว่าจะลาออกทั้งกระทรวง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

“ก.พ.แจงไม่อนุมัติข้าราชการพยาบาล ระบุ สธ.มีตำแหน่งว่าง 11,213 อัตรา ให้บริหารจัดการเอง”(11พ.ค.2560)

“ปลัด สธ.โต้ ก.พ. อัตราว่างกว่าหมื่นตำแหน่งจริง แต่ต้องดูแลทุกวิชาชีพ” (12 พ.ค. 2560)

“ไม่บรรจุพยาบาลเพิ่ม วิษณุ แจงเป็นผลจากปฏิรูปราชการตั้งแต่ รบ.ทักษิณ ตรึงอัตรากำลังได้ 4 แสน” (11พ.ค.2560)

“สธ.โต้ ก.พ.เข้าใจผิด สัดส่วนพยาบาล ไปดูตัวเลขรวม รพ.เอกชน” (12 พ.ค.2560)   

“บิ๊กตู่ ฉุน พยาบาล ไม่พอใจบรรจุไม่ครบ ชี้งบไม่พอ จะลด ขรก. วอนคิดถึงกระทรวงอื่น” (17 พ.ค.2560)

ถ้ามองในมุมของกระทรวงสาธารณสุข “รัฐบาลหรือ ก.พ. ไม่รู้ถึงสถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขหรือ? จะลดได้อย่างไร ยังขาดอยู่ตั้งเยอะ มันจำเป็น นี่ก็พยายามเพิ่มการดูแลประชาชน เพิ่มคุณภาพ เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนทุกๆปี (แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ service plan ปี 2554 มี 4 สาขา มาถึงปี 2561 มี 20 สาขาแล้ว) แน่นอนที่สุด เพิ่มงาน ก็ต้องเพิ่มคน เพิ่มงบ”

ถ้ามองในมุมของรัฐบาลหรือ ก.พ. “ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่รู้เรื่องนโยบายด้านกำลังคนภาครัฐ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และยุทธศาสตร์การปรับขนาดกำลังคนภาครัฐหรือ? ไม่ให้เพิ่มอัตราตั้งใหม่ในภาพรวม ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่เข้าใจ และไม่พยายามบริหารตำแหน่งให้มีประสิทธิภาพ จะขอตำแหน่งข้าราชการมากมายเพิ่มขึ้นทุกๆปี เป็นไปไม่ได้ นโยบาย คือ ลด ไม่ใช่เพิ่ม...”


ที่เป็นข่าวล่าสุด “ก.พ.ไม่อนุมัติ สป.สธ.คัดเลือกบรรจุ นวก.สธ./จพ.สธ.เป็นกรณีพิเศษ เหตุไม่เป็นธรรม-เลือกปฏิบัติ” (15มีค.2561) อีกแล้วครับท่าน

คนสองคนคุยกัน แล้วไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจกัน ก็อาจถูกถามว่า คุยกันภาษาอะไร? แต่จากเหตุการณ์ที่เป็นอยู่และข่าวคราวที่ออกมา สรุปได้ว่า มีความล้มเหลวในการสื่อสาร แล้วปัญหาความทุกข์ยากก็ไปตกอยู่กับบุคลากรและประชาชน ระบบราชการจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างยิ่ง แต่ดูเหมือนต้องปฏิรูปการสื่อสารระหว่างหน่วยงานของรัฐเสียก่อน




ฮีโร่ผู้น่าสงสาร

เราได้ยินเสมอว่า “โรงพยาบาลของรัฐ คนไม่พอ” คำถามที่ตามมาคือ คนส่วนไหนที่ไม่พอ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารพอไหม? เกี่ยวกับธุรการพอไหม? หมอพอไหม? พยาบาลพอไหม? อื่นๆอีกพอไหม? มีส่วนที่เกินไหม? ส่วนไหนเกิน? ส่วนกลางเกินหรือเปล่า?  .........ตอบยากหรือตอบง่ายก็ไม่รู้ได้

แต่ที่แน่ๆ คือ มีหมอ-พยาบาลที่ทำงาน จนเกินที่คนธรรมดาเค้าทำกัน เกินกว่าบุคลากรกระทรวงอื่นๆเค้าทำกัน แต่ก็ยังทำกันอยู่ ค่าตอบแทนก็ไม่ได้มาก บางทีก็ได้มั่งไม่ได้มั่ง(พีฟอร์พี) สวัสดิการก็ดูจะน้อยลงไปเรื่อยๆ  ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ทำงานจนเจ็บป่วย ป่วยก็ต้องทำงาน ทำงานจนตายก็เคยมีข่าว วันดีคืนดีก็ถูกผู้ป่วย/ญาติทำร้ายเอาได้ง่ายๆ ทำงานโดยอาศัยคำว่า “เสียสละ” เป็นที่หล่อเลี้ยงจิตใจ อยากได้อะไรก็ต้องออกมาเรียกร้องเอง มาแสดงพลังกันเอง คนพวกนี้ไม่ว่าเรียก ฮีโร่ แล้วจะเรียกอะไร




ฮีโร่เหล่านี้ทำงานท่ามกลางความขาดแคลน คนก็น้อย เครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่ค่อยพอ ซ้ำโรงพยาบาลก็มีสถานการณ์การเงินง่อนแง่น ผู้บริหารกระทรวงกล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีงบประมาณเพียงพอ ให้โรงพยาบาลพยายามช่วยตัวเองด้วยการหารายได้ให้มากขึ้น

เงินบริจาคและทอดผ้าป่าจึงเป็นที่พึ่งที่สำคัญของโรงพยาบาลที่ทำให้เหล่าฮีโร่ทำงานต่อไปได้ ก็มีคนตั้งคำถามว่าแล้วงบประมาณของประเทศจำนวนหลายล้านล้านบาทในแต่ละปีไหลไปอยู่ที่ไหนกัน เราจะอยู่กันด้วยเงินบริจาคกับเงินทอดผ้าป่าไปอีกนานแค่ไหน? มีบุคลากรกระทรวงไหนบ้างที่ทำงานเหมือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข?

ดูท่าทางแล้ว ฮีโร่ ของเรา คงต้องเป็น ฮีโร่แบบ “ถาวร” คงไม่เป็นแบบ “ชั่วคราว” เป็นแน่ (ถ้ายังมีการบริหารกันแบบเดิมๆ) เพราะ ท่านบอกว่า ต้องจำกัดกำลังคนภาครัฐ(Downsizing)  งบประมาณมีจำกัด ให้ช่วยกันหารายได้เข้าโรงพยาบาล และที่สำคัญ พวกท่านยังคุยกันไม่รู้เรื่อง

ฮีโร่ก็คงต้องทำงานโดยการปลอบใจตัวเองว่า... ”ทำบุญ” ไปพลางๆก่อน

สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ
12 มิถุนายน 2561
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 มิถุนายน 2018, 03:09:43 โดย pradit »