ผู้เขียน หัวข้อ: สตง.สอบ สปสช. เกมการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจองค์กรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ?  (อ่าน 1094 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นโยบายรื้อฟื้นเก็บเงิน 30 บาทรักษาทุกโรคของ รมว.สธ.ใหม่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 4 เดือนยังไม่ชัดเจน แต่เผือกร้อนสุดที่โดนโยนลง สปสช.หนีไม่พ้นการเข้ามาตรวจสอบของ สตง. ที่สั่นสะเทือนเก้าอี้เลขาฯ และช่างสอดรับกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ในองค์กรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 
คลุมเครือตั้งแต่หัวยันหาง สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่พรรคเพื่อไทยพยายามปลุกให้กลับมาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเพราะจนถึงนาทีนี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการ รวมถึงอัตราการร่วมจ่ายของประชาชน
 
 ย้อนกลับไปช่วงพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จนปรากฏชื่อนายวิทยา บุรณศิริ สส.อยุธยา ขึ้นมากุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สังคมรับรู้ว่ารัฐบาลจะรื้อฟื้น 30 บาท กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
 
“หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 24 ส.ค.54 จะมีความชัดเจนเรื่องนำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใช้ใหม่โดยเน้นคุณภาพ ซึ่งเปิดให้ประชาชนร่วมจ่ายบางส่วน เช่น ผู้ได้รับการรักษาด้วยวิธีนอกชุดสิทธิประโยชน์ของการรักษาฟรี ต้องร่วมจ่าย” นายวิทยากล่าวเรื่องนี้หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรี
 
หมายความว่าประชาชนยังคงได้รับการรักษาฟรี แต่ก็มีบางกรณีที่อาจต้องร่วมจ่ายบ้าง
 
ด้านนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข กล่าวเมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ เช่นเดียวกันว่าแม้ศักยภาพรัฐบาลจะสามารถให้บริการรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชน แต่จุดยืนการนำ 30 บาทกลับมาอีกครั้ง เพราะต้องการสอนให้พลเมืองตระหนักถึงการมีส่วนร่วมโดยการร่วมจ่าย ร่วมทำ ร่วมดูแลรักษา
 
ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็เด้งรับลูกทันทีว่า สปสช.พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล หากชัดเจนแล้วว่าจะให้ประชาชนร่วมจ่ายก็สามารถจัดเก็บได้ทันทีโดยไม่ต้องออก แบบระบบใหม่
 
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงื่อนไขเวลา ระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ 2 รัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งน่าจะเพียงพอต่อการสร้างความชัดเจน ทว่าปัจจุบันประชาชนกลับไม่รู้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม
 
แม้นายวิทยาประกาศกร้าวว่าสามารถเริ่มเก็บเงินได้ พ.ย.54 แต่ด้วยเงื่อนไขต่างๆ อาทิ บอร์ด สปสช.หมดวาระจำเป็นต้องสรรหาใหม่ เมื่อสรรหาได้ครบก็พบปัญหาขาดคุณสมบัติบางราย ท้ายที่สุดเพิ่งลงตัวเมื่อปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค.54 รวมถึงสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยที่หยุดชะงักทุกนโยบายรัฐบาล

ล่าสุดกลาง ธ.ค.54 นพ.วินัย ให้ความคืบหน้าโครงการเพียงสั้นๆ ว่าบอร์ด สปสช.ยังไม่ได้หารือเรื่องนี้ เพราะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ นายวิทยาจึงยังไม่ได้ชงเรื่องเข้าพิจารณา ต้องรอต่อไป
 
“การเก็บ 30 บาทจะไม่เก็บคนยากไร้ คาดว่าจะมีประชาชนครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิคือประมาณ 24 ล้านคนที่จะต้องร่วมจ่าย โดยอาจนำหลักเกณฑ์ที่เคยใช้ก่อนประกาศยกเลิกนโยบาย 30 บาทในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กลับมาใช้ใหม่”นพ.วินัย ระบุ
 
ด้านนายวิทยา ให้ความเชื่อมั่นว่าหากสถานการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่สภาวะปกติก็จะเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยก่อนที่จะเก็บเงินจะต้องรายงานรายละเอียดให้นายกรัฐมนตรี รับทราบก่อน
 
“ยืนยันว่าเมื่อเก็บเงินคุณภาพการให้บริการต้องเพิ่มขึ้น เช่น มีการเสริมบริการรักษาใกล้บ้านให้มากขึ้นโดยเฉพาะในชุมชนที่มีประชาชนอยู่มาก ขณะเดียวกันต้องนำประสบการณ์การให้บริการในอดีตหรือช่วงเกิดอุทกภัยมาดูจุดบกพร่อง เพื่อปรับปรุงให้บริการให้ดียิ่งขึ้น”เจ้ากระทรวงหมออธิบาย
 
คำถามคือนอกจากฝ่ายการเมืองที่เห็นดีเห็นงามแล้ว องคาพยพอื่นๆ สนับสนุนแนวทางดังกล่าวด้วยหรือไม่ คำถามต่อมาคือเก็บ 30 บาทแล้วคุณภาพบริการจะยกระดับจริงหรือ
 
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คัดค้านแนวคิดการเก็บเงิน 30 บาทว่าเป็นการเดินถอยหลัง เพราะได้เดินหน้าสวัสดิการรักษาฟรีให้ประชาชนแล้ว ที่สำคัญเงินที่ได้จากการเก็บก็ไม่มาก จึงไม่ใช่ประเด็นหลักต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ แต่เป็นการเบียดเบียนประชาชน
 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลที่สอดคล้องว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยนอกใช้บริการสถานพยาบาล 150 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เด็กเล็กและผู้ยากไร้ ซึ่ง สปสช.จะให้บริการฟรี ดังนั้นเหลือเพียง 40% ที่ต้องร่วมจ่าย จึงไม่ใช่เงินมากต่อระบบและไม่มีนัยสำคัญอะไร
 
และสอดคล้องกับ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ชมรมแพทย์ชนบท ที่มองว่าข้อถกเถียงเรื่องจะเก็บเงินหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก หัวใจสำคัญคือรัฐบาลควรสร้างระบบบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวมากกว่า อย่างไรก็ตามถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลวิชาการใดๆเป็นดัชนีชี้วัดว่าการเก็บเงิน 30 บาทจะส่งผลให้ปริมาณการใช้บริการทางการแพทย์ลดน้อยลง หรือทำให้บริการทางการแพทย์ดีขึ้น

สำหรับข้อดี-ข้อเสียของการเก็บ 30 บาท นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อธิบายว่า การร่วมจ่ายหรือการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการออก แบบระบบหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาคุณภาพบริการ
 
วัตถุประสงค์สำคัญของการร่วมจ่ายหรือเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทนั้นอยู่ที่การให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าบริการที่ตนเองได้รับ รองลงมาคือป้องกันการใช้บริการที่เกินจำเป็น ส่วนวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรายได้นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจัดเก็บ 30 บาทกับประชาชนที่มาใช้บริการนั้น สามารถเก็บได้เพียง 2,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่ใช้ต่อปีกว่า 1.5 แสนล้านบาท
 
และการเก็บค่าธรรมเนียมก็มีข้อพึงระวัง เช่น จะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าบริการที่จำเป็นได้ นอกจากนั้นยังมีต้นทุนในการจัดเก็บ อาจไม่คุ้มที่จะต้องเสียคนและเสียตรงนี้
 
นพ.พงศธร กล่าวอีกว่าการเก็บ 30 บาทหรือไม่ เงื่อนไขการตัดสินใจเป็นการเมืองล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการใดๆเลย อย่างไรก็ตามหากต้องการให้เกิดประโยชน์  อาจจะหันไปเก็บเฉพาะค่ายา เพื่อจูงใจให้เกิดการประหยัดงบประมาณ และการใช้ยาโดยไม่จำเป็น เช่น ประเทศ อังกฤษ แคนาดา
 
นอกเหนือจากความไม่ชัดเจนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว สปสช.กำลังถูกจับจ้องจากสังคม เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบความผิดปกติในการบริหารกองทุน 7 ประเด็น
 
“การตรวจสอบของ สตง.เป็นการสุ่มตรวจไปพบ สปสช.จ่ายเงินเดือนมาก เบี้ยประชุมแพงจึงตรวจสอบตามหน้าที่เหมือนทุกหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบ ไม่ได้พุ่งเป้าหน่วยงานใด” คือ คำยืนยันนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
 
สำหรับข้อพิรุธที่ สตง.พบ ได้แก่

1.การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด

2.การบริหารพัสดุไม่เป็นตามหลักเกณฑ์

3.การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาองค์การเภสัชกรรม โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการนั้นไม่เหมาะสม

4.การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
 
5.ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง

6.การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ และ

7.การบริหารงบกองทุนฯ รายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้บริหารระดับสูง สปสช.จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยประเด็นหลักที่ใช้หักล้างคือ สปสช.เป็นองค์กรมหาชนตั้งตามรัฐธรรมนูญจึงมีกฎระเบียบเฉพาะของตัวเอง แตกต่างกับองค์กรอื่นๆ ดังนั้นเมื่อ สตง.ใช้เกณฑ์ตรวจสอบเดียวกับองค์กรอื่นๆ จึงทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน
 
แม้ว่า นพ.วินัย จะระบุว่า สตง.ทำตามหน้าที่ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้พุ่งเป้าเขย่า สปสช. แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าองค์กรที่ถูกตรวจสอบและเก้าอี้เลขาฯสปสช.ได้ถูกสั่น สะเทือนจากแรงกระเพื่อมดังกล่าวแล้ว นั่นแม้ สตง.ยืนยันไม่ได้เจาะจงตรวจสอบ สปสช. แต่ผลการตรวจสอบก็ยังไม่สิ้นสุด
 
หากเชื่อมโยงปรากฏการณ์เปิดข้อพิรุธทั้ง 7 ของ สตง.เข้ากับความเคลื่อนไหวอื่นๆใน สปสช. ตั้งแต่ที่นายวิทยา เข้ารับตำแหน่ง รมว.สธ. จะพบว่าเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและสอดรับอย่างถูกเหลี่ยม
 
นายวิทยา เข้ารับตำแหน่งช่วงที่บอร์ด สปสช.กำลังหมดวาระและอยู่ในขั้นตอนสรรหาใหม่ โดยบอร์ดมี 30 คน ประกอบด้วยผู้แทนภาคประชาชน 5 คน ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 5 คน หน่วยงานราชการ 8 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน และ รมว.สธ. 1 คน
 
ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ในบอร์ด สปสช.ถูกกุมโดยภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบท และยังสามารถผนึกกับรัฐมนตรีได้ซึ่งทำให้ย่อมได้เสียงจากข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย แต่พลันที่นายวิทยาเข้ารับตำแหน่ง กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ-เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน-แพทยสภา สามารถแทรกตัวเข้ามา
 
    หมายความว่าขั้วอำนาจในสปสช.ถูกพลิกไปแล้ว!!!
 
สะท้อนจากปรากฏการณ์เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งตามหลักการเมื่อได้บอร์ดครบ 23 คนแล้วจะให้ทั้ง 23 คนโหวตเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน ซึ่งเดิมผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นเครือข่ายแพทย์ชนบททั้งหมด แต่ปัจจุบันทั้ง 7 คนไม่มีเครือข่ายแพทย์ชนบทซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มภาคประชาชนหลงเหลืออยู่
 
นำไปสู่ความอ่อนไหวของเก้าอี้เลขาธิการ สปสช. เนื่องด้วย นพ.วินัยมีสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบท และกำลังจะหมดวาระ มี.ค.2555 สำทับความไม่มั่นคงอีกด้วยกระแสข่าวที่ระบุว่าฝ่ายการเมืองไม่พอใจตัว นพ.วินัย และกำลังหาช่องที่จะเปลี่ยนตัว
 
น่าคิดว่าผลการตรวจสอบของ สตง.ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2546 และออกมาในช่วงก่อนจะมีการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีนัยสำคัญทางการเมืองหรือไม่
 
เพราะแน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือสังคมกำลังคลางแคลงใจในความโปร่งใสของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความชอบธรรมของหัวขบวนอย่างเลขาธิการ สปสช.

โดย ศูนย์่ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา
23 ธันวาคม 2011