ผู้เขียน หัวข้อ: หมอจิน-หมอเฟลมลิ่ง กับการค้นพบเพนนิซิลิน  (อ่าน 1040 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 ช่วงนี้ TPBS เอาละครเก่าของญี่ปุ่นอย่าง หมอจิน หมอทะลุศตวรรษภาค 1 กลับมาฉายใหม่อีกรอบให้คนที่พลาดชมเมื่อครั้งแรกได้ดูกัน
       
        สำหรับคอละครทุกๆ ชนิด หมอจินเป็นหนึ่งในเรื่องสุดโปรดที่ขอเชียร์ให้ไปดูกัน เรื่องราวของหมอแผนปัจจุบันจากยุค 2000 ที่เกิดเจออุบัติเหตุในชีวิตจนทำให้ต้องพลัดหลงเข้าไปอยู่ในยุคเอโดะ หมอจินก็เลยต้องอาศัยวิชาแพทย์จากตะวันตกที่ตัวเองร่ำเรียนมาเอามาใช้รักษาคนในอดีต ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือไปจนกระทั่งยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อก็ไม่มี คนดูก็ลุ้นกันอย่างยิงเลยว่าหมอจินจะประยุกต์ใช้อะไรมาช่วยรักษาคนกันนะครับ
       
        ในญี่ปุ่นนั้นหมอจินจบภาคสองไปแล้วด้วยความเกรียงไกร ทั้งจากตัวเลขของผู้ชมที่มากมาย เฉลี่ยแล้วได้เรตติ้งตั้ง 20.6 แถมค้ารางวัลละครยอดเยี่ยมประจำซีซั่นไปอีก ตามรอยภาคแรกที่กวาดรางวัลกระจุยกระจาย ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะ เรื่องราวยังสนุกเร้าใจและแสดงให้เห็นปัญหาในสังคมอย่างมากมายเหมือนเดิม
       
        แต่ผมจะพูดถึงเฉพาะภาคแรกที่ทาง TPBS เขาเอามารีรันนะครับ เนื่องจากว่ามันมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่า หมอจินแกได้เอาความรู้ของคนยุค 2000 ไปสร้างและสกัดเอาเพนนิซิลินซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อที่ปฏิวัติวงการแพทย์นี้ขึ้นมาได้เพื่อใช้งานในการรักษาโรคของคนในยุคโน้นกับการผ่าตัดของแก ซึ่งหมอจินแกทำได้ถึงกับผ่ามะเร็งและผ่าสมองกันเลย และนั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้แกต้องขัดแย้งกับบรรดาแพทย์แผนโบราณของญี่ปุ่นที่ยังมีอยู่มากและทรงอิทธิพลในสมัยเอโดะ
       
        ใครดูเรื่องนี้ก็จะอินอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่บอกว่า หมอจินแกผลิตยาเพนนิซิลินขึ้นมาคนแรก… ประเด็นนี้เด็กๆก็อย่าจำไปตอบข้อสอบคุณครูกันละครับ เพราะจริงๆไม่ได้เกี่ยวกันแม้แต่นิดเดียว
       
        อย่างที่ว่านะครับ หมอจินเป็นนักเรียนแพทย์และเรื่องที่เขาเรียนเกี่ยวกับเพนนิซิลินนั้นแกก็ไม่ได้คิดเอง แต่คนที่คิดทำยาเพนนิซิลินขึ้นมาก็คืออดีตหมอทหารที่ชื่อว่า “ เอล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง” ต่างหาก
       
        เฟลมมิ่งเป็นคนสก็อตแลนด์ เกิดเมื่อปี 1881 เขาจบการศึกษาทางแพทย์จากมหาวิทยาลัยเซนท์แมรี่ ในสาขาแบคทีเรียวิทยา กิ่นจะต้องไปรับใช้ชาติในกองทัพเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุที่ได้เห็นทหารติดเชื้อกันอย่างมากมายจากบาดแผลหนักและบาดแผลเบาจนเป็นเหตุของการเสียชีวิตกันอย่างมากมาย เขาจึงมุ่งมั่นที่จะเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ให้ได้
       
        จริงๆ สมัยก่อนหน้านั้นการฆ่าเชื้อด้วยการต้มหรือใช้ความร้อนก็สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ตายคือเชื้อจุลินทรีย์ จนกระทั่งเฟลมมิ่งพบว่าไอ้ตัวแสบที่เป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของเขาคือเชื้อสเต็ปฟิลโลคอคคัส เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในเลือดและคงจัดการไม่ได้ด้วยการด้วยน้ำเดือดแล้วราดมันลงไป เพราะแบบนั้นมีหวังคนตายแน่ๆเพราะแผลน้ำเดือดลวก เฟลมมิ่งได้แยกเชื้อร้ายตัวนี้ออกมาแล้วทำการทดลองหาวิธีฆ่ามันโดยวิธีต่างๆ
       
        วิธีคิดของเฟลมมิ่งนั้นจะว่าเจ๋งก็ได้ เพราะ แกมั่นใจแต่ต้นว่าน่าจะเป็นของที่อยู่ในร่างกายเราที่จะกำหราบเชื้อได้ แกไล่มาตั้งแต่เอาน้ำมูกนี่แหล่ะครับมาทดลองว่าจะฆ่าเชื้อได้ไหม…ซึ่งก็ได้แต่เป็นเชื้อจิ๊บๆ แหล่งน้ำที่เอามาใช้อีกก็คือ น้ำตา ซึ่งไม่เคยแก้ปัญหาอะไรได้ เฟลมมิ่งก็นำมาใช้จนกระทั่งพบว่าน้ำตาสามารถฆ่าเชื้อได้มากกว่าน้ำมูกเสียอีก แต่ปัญหาของน้ำตาก็คือ ไม่มีใครที่จะผลิตให้บ่อยๆเหมือนการเป็นเมีย เสก โลโซ หมอเฟลมมิ่งก็เลยต้องหาอย่างอื่นๆ แทน ซึ่งก็ไปได้ไข่ขาวแต่กระบวนการแยกเอนไซม์ที่จัดการกับแบคทีเรียในไข่ขาวก็เป็นเรื่องยากลำบาก เฟลมมิ่งพยายามวิ่งหาทุนแต่ดูเหมือนนายทุนจะไม่มีใครสนใจเลย
       
        ตรงนี้ก็เหมือนกับหมอจินนะครับว่า การจะผลิตยาขึ้นมานั้นมันต้องใช้ทุนสูงและนายทุนก็ไม่เก็ตเลยว่าจะทำเงินได้อย่างไรถ้าลงทุนในเรื่องนี้ หมอจินเราโน้มน้าวใจนายทุนด้วยการให้ความมั่นใจว่า ยานี้จะรักษาอาการติดเชื้อกามโรคได้ในบรรดากลาสีฝรั่งที่มาอยู่ในเอโดะ และบรรดาเกอิชาและนักเที่ยวทั้งหลาย ซึ่งมักจะติดเชื้อจนเดินไข่บวมจู๋เน่าเป็นประจำ ซึ่งน่าจะทำกำไรกระฉูดแน่ๆ หมอจินก็เลยได้เงินมาทำทุน (แต่นายทุนบางคนก็ไม่ได้เห็นแก่กำไรอย่างเดียวนะครับ)
       
        เฟลมมิ่งนั้นแย่กว่า เพราะ ใช้เวลาตั้ง 5 ปีหลังจากเอาไข่ขาวมาทดลองแต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งพระเจ้ามีดำริว่าควรอย่างยิ่งที่จะให้คนตายลดน้อยลง ที่บอกว่าเป็นเจตนารมย์ของฟ้า ก็เพราะ ระหว่างการทดลองคราวหนึ่ง ผู้ช่วยของเฟลมมิ่งเกิดลืมเอาตัวอย่างที่ทดลองนั้นวางไว้ข้างหน้าต่าง ปรากฏว่ามันเกิดการติดเชื้อขึ้นในจานทดลองโดยเชื้อที่ลงมาติดกลับกลายเป็นเชื้อราขนมปังที่ลอยมาเองกับลมในอากาศครับ
       
        ตอนแรกเฟลมมิ่งก็โกรธลูกน้องว่าทำไมสะเพร่าจนทำให้การทดลองเสียหาย แต่เมื่อแกเอากล้องมาส่องดูก็พบว่าไอ้เจ้าราสีเทาปนเขียวที่เห็นอยู่บนขนมปังที่วางทิ้งไว้นอกตู้เย็นหลายวันนั้นมันสามารถกินเชื้อสเตปฟิลโลคอคคัสตัวร้ายได้เฉยเลย เฟลมมิ่งทำการทดลองเอาเชื้อร้ายๆมาใส่อีก 6 ตัวปรากฏว่าเชื้อราดังกล่าวกินแบคทีเรียที่จับใส่ลงไปได้ตั้ง 4 ตัว
       
        เชื้อราดังกล่าวอยู่ในกลุ่มเชื้อราที่เรียกว่า เพนนิซิเลี่ยม แต่กระนั้นเชื้อราดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเอามาใช้กับคนได้ แต่ในสัตว์นั้นใช้ได้ผลครับ แต่ใครจะกล้าให้คนไข้กินราดิบๆ เพราะกว่าจะฆ่าเชื้อกามโรคที่ไข่ได้สำเร็จ คนไข้อาจจะปวดท้องหรือท้องเสียตายเพราะความร้ายของเชื้อราที่ว่าไปก่อน
       
        จนกระทั่งเฟลมมิ่งได้รับความร่วมมือจาก โฮเวิร์ด ฟลอเรย์ นักทดลองชาวออสเตรเลีย และ เอิร์น บอร์ริส เชน นักวิทยาศาสตร์เยอรมันเชื้อสายยิว ในการสกัดและสร้างโครงสร้างใหม่ของเพนนิซิลินจนบริสุทธิ์และสามารถเอามาใช้กับคนได้สำเร็จ ซึ่งทั้งสามคนนี้ก็ได้รางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ ในปีค.ศ. 1945 กันทั้งหมด ในฐานะที่ค้นพบและผลิตยาแก้อักเสบที่มีประสิทธิภาพและทำให้คนทั่วโลกรอดจากการติดเชื้อมากมาย อัตราการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ก็ลดน้อยลงอย่างมาก
       
        พูดง่ายเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก
       
        เพนนิซิลินนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียต่างๆ หลังจากที่มีการผลิตเพนนิซิลินจากเชื้อราเป็นเบื้องต้น วิวัฒนาการทางยาก็ตามมาอีกมากมายจนสามารถเข้าใจวิธีการดำรงอยู่ของเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นและสามารถผลิตยาเพนนิซิลินได้อีกหลายแบบในเวลาต่อมา ไม่จำเพาะว่าจะสกัดจากเชื้อราอย่างเดียวครับ มีทั้งยาที่สกัดจากธรรมชาติไปจนกระทั่งสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ หรือสร้างยาตระกูลอื่นมาจัดการกับเชื้อแกรมบวก แกรมลบได้กว้างขวางและหลากเชื้อมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงเชื้อแบคทีเรียร้ายต่างๆก็ล้วนแล้วแต่พัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เกิดการดื้อยาและมีเชื้อใหม่ๆมากขึ้นๆ แต่ยาตระกูลเดียวกับซิลินเหล่านี้ก็ยังเป็นพื้นฐานในการรักษาอยู่ดี
       
        เพราะฉะนั้นใครที่ป่วยด้วยอาการติดเชื้อและอักเสบต่างๆ และหมอจ่ายยาในตระกูล “ ซิลิน” ทั้งหลาย ก็ควรจะนึกถึงคนสามคนที่ได้รางวัลร่วมกันด้วยนะครับ
       
        ส่วนหมอจินจะทำอะไรในญี่ปุ่นบ้างนั้นก็ลืมๆ ไปเสียบ้างก็ได้ อิอิอิ


ต่อพงษ์
ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 ธันวาคม 2554