ผู้เขียน หัวข้อ: ปลัด สธ.ยก “พี่ตูน” ไอดอลความเพียร จัดวิ่งรับบริจาคสมทบ “ก้าวคนละก้าว”  (อ่าน 1014 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 ปลัด สธ. เผย “ตูน บอดี้สแลม” เป็นไอดอลแห่งความเพียร กระตุ้น ปชช. ดูแลสุขภาพตัวเอง และการรู้จักให้ จัดกิจกรรมวิ่งรับเงินบริจาคสมทบโครงการ “ก้าวคนละก้าว” พร้อมขอบคุณและส่งแรงเชียร์ให้ไปถึงเป้าหมาย ก่อนร่วมมอบเงินบริจาคและร่วมวิ่งไปกัน วันที่ 6 ธ.ค.

วันนี้ (4 ธ.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่บริเวณหน้าพระอนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดกิจกรรมวิ่งสู่ก้าวคนละก้าวเพื่อคนไทยสุขภาพดี และร่วมส่งแรงเชียร์ให้พี่ตูนและทีมก้าวไปถึงแม่สาย โดยมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. พร้อมด้วย รองปลัด สธ. อธิบดีกรมต่างๆ ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมกันวิ่งรอบกระทรวงสาธารณสุข ระยะทาง 2.4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย และรับบริจาคเงินสมทบทุนให้กับโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม นักร้องชื่อดัง ที่วิ่งระดมทุนจาก อ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมการวิ่งได้มีกิจกรรมการประมูลเสื้อและหมวกโครงการก้าวคนละก้าว จากนั้นหน่วยงานใน สธ. และบริษัทเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง สธ. ได้มอบเงินบริจาคแก่ปลัด สธ. โดยเบื้องต้นมีกรมการแพทย์มอบเงินจำนวน 100,000 บาท กรมอนามัย จำนวน 200,000 บาท และบริษัทเอกชนรวมกันอีกกว่า 100,000 บาท โดยกรมอื่นๆ จะทยอยมอบเงินบริจาคในวันถัดไป ทั้งนี้ การรับบริจาคของ สธ. จะดำเนินถึงช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. ก่อนที่จะรวบรวมทั้งหมดมอบให้แก่ ตูน บอดี้สแลม และทีมงานก้าวคนละก้าวในช่วงเย็นของวันที่ 6 ธ.ค. ที่บริเวณสนามยิงปืน บางบัวทอง ซึ่งวันดังกล่าวตูน บอดี้สแลม จะวิ่งออกจาก King Power ถ.รางน้ำ กทม. ตามกำหนดการในเวลา 04.00 น. ทั้งนี้ หลังการมอบเงินบริจาค ผู้บริหาร สธ. จะร่วมวิ่งพร้อมกับ ตูน บอดี้สแลม ด้วย ซึ่งตามกำหนดการแล้วจะวิ่งออกจากสนามยิงปืน บางบัวทอง ไปยังแคนนอน บอล แมนูแฟคเจอริ่ง จ.ปทุมธานี

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สธ. เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีด้วยการออกกำลังกาย และมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เพียงพอ และ ปลอดภัย ซึ่งกิจกรรมการวิ่งของคุณตูนนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนหันมาสนใจการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ช่วยเปิดมุมมองด้านสุขภาพและอื่นๆ เพราะปัจจุบันคนไทยขยับร่างกายน้อยเมื่อเทียบกับประชากรโลก สธ. จึงจัดกิจกรรมการวิ่งสู่ก้าวคนละก้าวฯ ขึ้น เพื่อแสดงความขอบคุณและส่งแรงใจเชียร์คุณตูนและทีมงานก้าวคนละก้าวให้ไปถึงเชียงรายโดยปลอดภัย เนื่องจากการวิ่งขงคุณตูนเป็นการช่วง สธ. ในการช่วยจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อมีเครื่องมือก็จะเป็นการกลับไปดูแลประชาชน

“สำหรับผมคุณตูนนับว่าเป็นไอดอล เพราะเป็นตัวอย่างของความพากเพียรที่สูง ซึ่งการวิ่งจากยะลาถึงเชียงรายไม่ใช่เรื่องที่ปฏิบัติกันได้ง่าย ความเพียรของคุณตูนก็เหมือนกับเรื่อง “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่สุดท้ายนำไปสู่ความสำเร็จ และนับเป็นการเสียสละอย่างมาก บางครั้งวิ่งวันละกว่า 70 กิโลเมตร ซึ่งการขับรถยังใช้เวลามาก การวิ่งระยะทางขนาดนี้จึงใช้ความพยายามสูง สธ. จึงสั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่คุณตูนวิ่งผ่านเตรียมความพร้อมดูแลอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ การวิ่งของคุณตูนยังช่วยกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาสร้างสุขภาพด้วยตัวเอง และรู้จักการให้ ซึ่งทำให้จิตใจเป็นสุข” นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นโรงพยาบาล สธ. มีในระดับหนึ่ง แต่เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีราคาแพง เป็นเรื่องที่ต้องทยอยในการจัดซื้อตามความจำเป็นและสำคัญ บางทีอาจต้องใช้เวลาในการซื้อให้ครบ วึ่งการวิ่งระดมทุนของคุณตูนจะเป็นการช่วยให้บางแห่งจัดซื้อได้เร็วขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่ทันสมัยมีออกมาแทบทุกปี เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การรักษาประชาชนหายเร็วขึ้น อย่างไรก้ตาม นอกจากเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว สธ. ยังต้องพัฒนาให้มีแพทย์เฉพาะทางในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือเหล่านี้ด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งก็ยังมีบุคลากรไม่ครบ หรือขาดแคลนแพทย์บางสาขา เช่น วิสัญญีแพย์ ศัลยแพทย์ เป็นต้น ส่วนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ของ รพ. สังกัด สธ. หลังได้รับเงินบริจาคจากโครงการฯ คาดว่า น่าจะได้รับตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของคุณตูน ซึ่งการจัดซื้อ รพ. แต่ละแห่งจะมีคณะกรรมการในการพิจารณาความจำเป็นในการจัดซื้อ


4 ธ.ค. 2560
 โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
"ตูน ฟีเวอร์"จุดสำคัญที่ทำให้คนไทย "ตื่นรู้"เกี่ยวกับปัญหาในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องเงินรพ.ไม่เพียงพอ หรือ "ตัวแดง" ทางหนึ่งที่สธ.ชูธงแก้ คือ "รพ.ประชารัฐ"
       "ตูน ฟีเวอร์”เป็นปรากฎการณ์ที่โดดเด่นที่สุดในรอบปี 2560 จากการที่ “ตูน บอดี้สแลม” หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย ศิลปินนักร้องชื่อดังออกวิ่งจากอ.เบตง จ.ยะลา ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตามโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล นับเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คนไทย “ตื่นรู้”เกี่ยวกับปัญหาในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องเงินรพ.ไม่เพียงพอ หรือ“ตัวแดง”ในหลายๆรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสร้าง“การรับรู้”ถึงการมีส่วนร่วมที่จะช่วยเหลือของคนไทย!!!

       สิ้นปีงบประมาณ 2560 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เปิดเผยข้อมูลว่า โรงพยาบาลสังกัด สธ.มีประมาณ 10,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) 100 กว่าแห่ง โรงพยาบาลชุมชน(รพช) 800 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 9,000 กว่าแห่ง ประสบปัญหาวิกฤติการเงินระดับ 7 ที่เป็นระดับสูงสุด 87 แห่ง ลดลง 32 แห่งจากปีงบประมาณ 2559 ที่มีจำนวน 119 แห่ง

“รพ.ที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปี แต่เกิดมาหลายปี และค่อยๆ เพิ่มขึ้นแม้งบจะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพประชาชน ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีงบประมาณเพียงพอ แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้มากอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่น ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลได้จัดสรรงบให้ลงมาอย่างจำกัด ในปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น แม้งบประมาณทั้งประเทศจะลดลง แต่สัดส่วนประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นถึง 1 ใน 4 ย่อมมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาและเข้ารับการดูแลรักษา และเทคโนโลยีในการรักษาสูงขึ้น แต่ราคาก็แพงขึ้นด้วย” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

       ท่ามกลางความพยายามในการแสวงหลากหลายช่องทางเพื่อเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศ นอกเหนือจากเงินงบประมาณจากรัฐ ซึ่งยังมีความเห็นต่างและยังไร้ข้อสรุป ทว่า แนวทางหนึ่งที่สธ.ชูเป็นนโยบาย คือ “รพ.ประชารัฐ” ที่จะเป็นแนวทางหลักในการพัฒนารพช.หรือรพ.ประจำอำเภอ โดยมีแนวคิดหลัก “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนารพ.ในพื้นที่” จะครอบคลุมกว่า 800 แห่งภายในปี 2562

 “หลักในการทำงาน คือ เข้มแข็งจากภายใน เติบโตไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล โดยคนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับอำเภอ ที่เน้นการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น เพื่อให้มีรพ.ที่ไม่ต้องรอนาน และค่ารักษาพยาบาลไม่แพง” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ขยายความ

       จะว่าไปหนึ่งในรูปแบบ “รพ.ประชารัฐ”ที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ น่าจะเป็น “รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน)” อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่สามารถพัฒนาจากรพช.ขนาด 10 เตียง จนกลายเป็นรพ.องค์การมหาชนแห่งเดียวของประเทศไทย โดยเมื่อปี 2543 มีการออกพรฎ.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) ซึ่งจุดพลิกผันหนึ่งที่สำคัญของรพ.แห่งนี้ คือ การที่รพ.ประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาร่วมพัฒนา รวมถึง การได้รับเงินบริจาคจากวัด ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงรพ.และการบริการให้กับประชาชน

ปัจจุบัน รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) บริหารงานในรูปแบบของ “คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้ว” ซึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร สรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ต้องมิใช่ข้าราชการ กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ ผู้แทนจากสธ. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และ กรรมการผู้แทนชุมชน 3 คน สรรหาจากคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนไม่น้อยกว่า 2 ปี สำหรับการให้บริการ มีคลินิกแพทย์เฉพาะทาง อีกทั้งยังมีการขยายสาขาของรพ.ไปยังพื้นที่อื่นด้วย อาทิ รพ.บ้านแพ้ว สาขาสาทร อาคาร TPI Tower รพ.บ้านแพ้ว สาขาประสานมิตร รพ.บ้านแพ้ว สาขาเจริญกรุง และศูนย์แพทย์และทันตกรรม รพ.บ้านแพ้ว สาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เป็นต้น

      สิ่งสำคัญ ในแง่ที่มาของเงินในการบริหารโรงพยาบาล ในรายงานประจำปี 2559 ของ รพ.บ้านแพ้ว ระบุรายได้หลักจาก 8 แหล่ง ได้แก่ งบประมาณ 2.76 % รายได้อื่นๆจากภาครัฐ 2.43 % รายได้จากการรักษาพยาบาล 74.51 % รายได้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองแ 6.23% รายได้จากสำนักงานประกันสังคม 2.81 % รายได้จากการขายยาและเวชภัณฑ์ 0.24 % รายได้จากการอุดหนุนและบริจาค 5.17 % และรายได้อื่น 5.82 % ซึ่งจะเห็นได้ว่ารพ.มีรายได้จากการบริจาคมากกว่ารายได้จากงบประมาณเกือบ 1 เท่าตัว

ผลการดำเนินงาน ในปี 2552 มีผู้ป่วยนอก 518,014 ครั้ง ผู้ป่วยใน 16,636 คน ในปี 2559 ผู้ป่วยนอกเพิ่มเป็น 799,434 ครั้ง และผู้ป่วยใน20,503 คน โดยมากที่สุดเป็นผู้ป่วยสิทธิ บัตรทอง 46 % สิทธิเบิกได้ 23 % ประกันสังคม 15 % อื่นๆ 15 % และต่างด้าว 1 %  โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 รพ.บ้านแพ้ว(องค์การมหาชน)มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 63.646 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ 168.254 ล้านบาท

"รพ.ประชารัฐ"หนึ่งช่องทางเติมเงินเข้าระบบสาธารณสุข

รพ.บ้านแพ้วในอดีต

        สำหรับการดำเนิน รพ.ประชารัฐ ในรพช.หลังจากที่สธ.ประกาศเป็นนโยบายชัดเจน มีรพ.ระดับอำภอที่ขานรับ 38 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะแรกมี 20 แห่ง เป็นโรงพยาบาลที่มีห้องพิเศษอยู่แล้ว ขณะนี้ดำเนินการแล้วที่ รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ส่วน รพ.น้ำพอง จะเริ่มเปิดดำเนินการในปลายปีนี้ ส่วนเฟสที่สอง อีก 18 แห่งที่ยังไม่มีห้องพิเศษ ต้องรองบประมาณและสร้างตึกให้เรียบร้อยก่อนจึงดำเนินการได้ คาดว่าต้องใช้งบแห่งละ 20 ล้านบาท แต่ระหว่างนี้ก็จะดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับ 20 โรงพยาบาลในเฟสแรก เช่น การจ้างงานคนพิการ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เป็นต้น

        นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผอ.รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เล่าว่า รูปแบบรพ.ประชารัฐที่รพ.อุบลรัตน์นำมาใช้เริ่มจากการสอบถามความต้องการถึงแนวทางการพัฒนารพ.ที่ต้องการ จึงเกิดเป็น “ห้องพิเศษแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข”โดยให้ชาวบ้านที่ยังไม่ป่วยและสมัครใจบริจาคให้โรงพยาบาลวันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาท เมื่อบริจาคแล้วจะได้บุญไม่เจ็บป่วย แต่หากเจ็บป่วยจะมีห้องพิเศษให้พักรักษาฟรี ไม่ต้องเข้าคิวรอและไม่ต้องหมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งหากประเมินดูว่าประชากรร่วมสมทบ 10,000 คน บริจาคคนละ 1,000 บาทต่อปี จะได้เงินบริจาคปีละ 10 ล้านบาท

เงินที่ได้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ชำระเป็นค่าห้องพิเศษให้รพ.อุบลรัตน์ตามระเบียบที่ราชการกำหนด โดยปัจจุบัน รพ.อุบลรัตน์ ก่อสร้างอาคารสมเด็จพระพุฒาจารย์บารมีธรรม พระมงคลพรหมสารแล้วเสร็จ และมีห้องพิเศษจำนวน 20 ห้อง พักรักษาได้ห้องละ 1-2 คน รวมราว 40 เตียง 2.เป็นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอุบลรัตน์ด้วย โดย 1 ใน 3 ใช้ในการส่งเยาวชนจิตอาสาที่ดีที่สุดและอยากเป็นพยาบาลชุมชนไปเรียนพยาบาล รวมทั้งจ้างงานมาเป็นพยาบาล และ3. นำมาใช้พัฒนาชาวบ้านที่ร่วมบริจาคแล้วมีช่วงจังหวะหนึ่งที่อาจจะบริจาคต่อไม่ไหวเพื่อให้สามารถบริจาคได้ต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “กล้วยๆหมูๆ”ด้วยการมอบหน่อกล้วยให้ไปปลูก 10 หน่อขึ้นไปและนำลูกหมูไปเลี้่ยง 1 คู่ ซึ่งมูลลูกหมูจะเป็นปุ๋ยให้หน่อกล้วยทำให้กล้วยผลใหญ่ น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือ หากขายเครือละ 100 บาท ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทก็สามารถบริจาคต่อเนื่องได้ ขณะที่ลูกหมู 1 คู่จะออกลูกไม่ต่ำกว่า 2 คอก รวมมากกว่า 5 ตัว ตัวละ 600 บาทขึ้นไป มีรายได้ 3,000 บาท สามารถนำไปเป็นทุนทางการเกษตรและเชิญชวนสมาชิิกในครอบครัวมาร่วมบริจาค ไม่เพียงเท่านี้ ยังนำเงินส่วนที่เหลือมาทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนอุบลรัตน์ด้วย เช่น จ้างงานผู้พิการในพื้นที่

      เมื่อนำ “ประชา”คือชาวบ้านในท้องถิ่นที่ตั้งรพ.ที่จะเป็นผู้ใช้บริการ เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของรพ. ร่วมกับ “รัฐ” ในรูปแบบ “ประชารัฐ” เชื่อว่า นี่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยในการแก้วิกฤติสาธารณสุข ทั้งในเรื่องเงินไม่พอ หรือความสัมพันธ์ที่แย่ลงของบุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้าน เพราะการพัฒนาจะเกิดขึ้นจากความเห็นพ้องของทุกภาคส่วนในชุมชน ตามความต้องการของชุมชน และจะเกิดผลอย่างยั่งยืน

26 ธ.ค. 2560
คม ชัด ลึก

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
1 พฤศจิกายนนี้ ตูน บอดี้สแลม จะเริ่มกิจกรรม วิ่งรับบริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง การวิ่งครั้งนี้ เกิดคำถามจากหลายฝ่ายถึงการบริหารงาน ของกระทรวงสาธารณสุข ว่าเหตุใดจึงต้องให้ประชาชนช่วยเหลือ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า งบบริหารด้านสาธารณสุขของไทย มีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

 รมว.สธ.รับงบบริหาร รพ.มีจำกัด พร้อมให้กำลังใจ ตูน บอดี้สแลม

เมื่อวันที่ (30 ต.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การวิ่งรับบริจาคเงินของ ตูน บอดี้สแลม หรือ นายอาทิวราห์ คงมาลัย เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลรอบนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2  หลังเขาวิ่งรับบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลบางสะพานประจวบคีรีขันธ์ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้เงินบริจาค 63 ล้านบาท  โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ จากเบตงสู่แม่สายครั้งนี้ ตูน ตั้งเป้าเงินไว้ 700 ล้านบาท และการวิ่งครั้งนี้กลายเป็นคำถามใหญ่ต่อรัฐบาลว่า เหตุใดการบริหารงบประมาณด้านสาธารณสุข จึงไม่เพียงพอ


วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า งบบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ของไทยมีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ได้พยายามบริหารจัดสรร อย่างเต็มที่ เพื่อให้การทำงานเดินหน้าไปได้

ส่วนประเด็นที่ ตูน วิ่งรับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่จะได้เป็นหนึ่งในช่องทางช่วยเหลือโรงพยาบาล  การรับบริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล เป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศทำกัน

โรงพยาบาลที่อยู่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข มีมากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า บางแห่งยังเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน หนึ่งในแนวทางที่เตรียมเสนอต่อรัฐบาล คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเงินให้กับโรงพยาบาล สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

30 ต.ค. 2560
PPTV HD 36