ผู้เขียน หัวข้อ: BDMS แนะตรวจ “เต้านม” ด้วยตัวเอง คัดกรองมะเร็งเบื้องต้นได้  (อ่าน 580 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
“โรคมะเร็งเต้านม” จัดได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก เพราะเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,000 คนต่อปีหรือ 35 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากแต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะหากครอบครัวมีญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลายคน หรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อย หรือเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง

ปัจจัยด้านฮอร์โมนเพศคือ เริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกหลังอายุมากกว่า 30 ปี นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กินยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยทองเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี ปัจจัยทั้งหมดนี้ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน รวมทั้งการดื่มสุรา การฉายรังสีบริเวณทรวงอก และการกินยาคุมกำเนิด ซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนมากนัก

นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS กล่าวว่า มะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาหายขาดสูง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยถือว่าต่ำกว่ามะเร็งชนิดอื่นมาก หมายถึงมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี แต่จะดีมากยิ่งขึ้นหากผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเข้าสู่การคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เจอมะเร็งเต้านมในระยะแรก และยิ่งรักษาให้หายขาดได้สูงยิ่งขึ้น เนื่องจากมะเร็งเต้านมถือเป็นโรคร้ายที่แฝงมาอย่างเงียบๆ เพราะอาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้สึกเจ็บ จนกระทั่งก้อนเนื้อเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น

การตรวจเช็กมะเร็งเต้านมนั้น นายแพทย์ ธีรวุฒิ แนะนำว่า สามารถทำได้โดยการตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองว่ามีความผิดปกติหรือมีก้อนหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ซึ่งจะช่วยให้ค้นเจอมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือระยะก่อนลุกลามเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรืออัตราการรักษาให้หาย

“การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น เน้นว่าการทำแมมโมแกรมถือว่าดี สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างละเอียดตั้งแต่ขนาดเล็กเพียง 0.5 - 1 เซนติเมตร ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยสามารถให้ผลได้อย่างถูกต้อง แต่ในระดับสาธารณสุขยังไม่ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ให้สามารถตรวจได้ทุกคน เนื่องจากไม่คุ้มค่าและบุคลากรอาจมีไม่เพียงพอ ซึ่งประชาชนต้องรับการตรวจเป็นแบบรายบุคคลเอง ดังนั้น การตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่ทุกคนทำได้คือ การคลำเต้านมเพื่อค้นหาความผิดปกติด้วยตนเอง” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

ส่วนข้อกังวลที่ว่า การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองอาจไม่มีประสิทธิภาพที่ดีนัก เพราะกว่าจะคลำเจอก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งนั้นใหญ่มากแล้ว หรือลุกลามไปยังบริเวณอื่นแล้ว เรื่องนี้ นายแพทย์ ธีรวุฒิ ย้ำว่า อย่าได้กังวล ยังคงยืนยันว่า การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองนั้นมีประสิทธิภาพ และสามารถคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นได้ดีถึงแม้จะไม่พบมะเร็งที่เล็กมากก็ตาม

“เมื่อก่อนอาจมีการบอกว่า คลำเต้านมตัวเองแล้วเจอก้อน คือเจอก้อนใหญ่แล้ว และมีการศึกษาในจีน และรัสเซีย บอกว่าไม่ได้ช่วยลดอัตราการตาย แต่เป็นการศึกษาเมื่อนานมาแล้ว และเมื่อก่อนยารักษามะเร็งก็ไม่ได้ดีเท่าปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้การรักษาดีขึ้น ก้อนขนาด 2 เซนติเมตรก็สามารถคลำเจอ หรือแม้แต่คลำเจอก้อนขนาด 5 เซนติเมตร แต่ยังไม่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองก็สามารถรักษาได้ จึงมองว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแนวคิดแล้ว และกลับมารณรงค์เหมือนเดิมว่า ต้องคลำเต้านมหาความผิดปกติด้วยตนเอง ส่วนการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ก็ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพที่ดีกว่า แต่ก็มีราคาค่าใช้จ่าย ซึ่งแนะนำว่าหากมีความเสี่ยงหรือผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ก็ควรตรวจทุกประมาณ 1 ปี อายุมากกว่า 55 ปี อาจตรวจ 2 ปีครั้ง” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

การป้องกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเต้านม ก็คือหมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ และอย่าละเลยการตรวจสอบสังเกตอาการด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็ก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งให้หายได้สูง


9 เม.ย. 2561  โดย: MGR Online