ผู้เขียน หัวข้อ: ฉลาดซื้อเผยผลสำรวจสุ่มของฝาก 4 ภาค พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน  (อ่าน 690 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นิตยสารฉลาดซื้อฉบับ 205 เผยผลทดสอบของฝากทั้ง 4 ภาค ภาคกลาง อีสาน เหนือและใต้ พบสินค้าใส่สารกันบูดเกินเกณฑ์ แต่ปลาร้าภาคอีสานไม่พบใส่สารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน

เมื่อวันที่ (4 เม.ย.61)  น.ส. สารี อ๋องสมหวังเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ใกล้เทศกาลสงกรานต์ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจของฝาก 4 ภาค ในโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภาค  เก็บตัวอย่างที่จัดเป็นของฝากยอดนิยมมาทดสอบ  เริ่มต้นจากโรตีสายไหมของฝากยอดฮิต โดยผลการทดสอบพบแผ่นแป้งโรตีสายไหมจากภาคกลาง นำมาทดสอบจำนวน 10 ตัวอย่าง จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการตกค้างของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกทั้งหมด โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559  เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร แต่อีก 4 ตัวอย่างที่เหลือ พบ แผ่นแป้งโรตีมีสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) เกินมาตรฐาน (1,000 มก./กก.) จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่


1.  โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1910.45  มก./กก.

2.  ร้านแม่ชูศรี  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1894.05  มก./กก.

3.  ร้านเรือนไทย ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1502.32  มก./กก.

4.  ร้านเอกชัย (B.AEK)  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1147.95  มก./กก.

ต่อมาผลทดสอบของฝากยอดนิยมอีกอย่างของภาคเหนือ คือ  “น้ำพริกหนุ่ม”และ “แกงไตปลาแห้ง” จากภาคใต้  โดยปัจจุบันน้ำพริกทั้งสองชนิดนี้ มักถูกวางจำหน่ายไปยังศูนย์โอทอปหรือศูนย์ของฝากทั่วประเทศ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายนิยมใช้วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดมาช่วยถนอมอาหาร เพื่อทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้ห้ามการใส่สารดังกล่าว แต่ก็กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ แถบภาคเหนือ และเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ สุ่มเก็บตัวอย่างแกงไตปลาแห้งพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ เป็นจำนวนภาคละ 10 ยี่ห้อ  โดยเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 61  ซึ่งมีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดหรือร้านของฝากทั่วไป เพื่อทดสอบหาปริมาณสารกันบูด

จากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่นำมาทดสอบทั้งหมด จำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดยมีน้ำพริกหนุ่ม 4 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือ

1. แม่ถนอม มีปริมาณกรดเบนโซอิกมากที่สุด คือ 3476.46 มก./กก.

2. ป้านวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1195.06 มก./กก.

3. ศุภลักษณ์(รสเผ็ดมาก) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1122.06 มก./กก. และ

4. น้ำพริก มารศรี(สูตรดั้งเดิม) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1043.80 มก./กก.

อีก 6 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  ปลอดภัยในการบริโภค  โดยน้ำพริกหนุ่มยี่ห้อ เรือนไทยขนมไทย พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด คือ 217.73 มก./กก.


สารกันบูด แกงไตปลาแห้ง

จากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ พบ

- มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้างเลย ได้แก่ 1. คุณแม่จู้ 2. วังรายา และ 3. วิน

- มี 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิก แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ แม่รุ่ง และ เจ๊น้อง

- มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด


น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค

ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม

ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน  (มผช.)

พีพีทีวี เล่าข่าวเครียดให้เข้าใจง่าย ติดตามได้ทาง LINE TODAY

4 เม.ย. 2561
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/78928