ผู้เขียน หัวข้อ: ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด : ข้อดี-ข้อเสีย ที่ควรรู้  (อ่าน 609 ครั้ง)

patchanok3166

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 288
    • ดูรายละเอียด
เร็ว ๆ นี้ หลายคนอาจได้ดูคลิปในร้านยาแห่งหนึ่งที่มีประเด็นเกี่ยวกับ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด แล้วสงสัยว่าจริง ๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างไร เราใช้ยาผิดกันมาตลอดอย่างที่ปรากฏในคลิปหรืออย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้

ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของสารเคมีที่ชื่อว่า “ฮีสตามีน” ที่มักจะหลั่งออกมาเมื่อมีปฏิกิริยาการแพ้ (allergic reaction) อาการที่เราคุ้นเคยกันดีเมื่อมีฮีสตามีนหลั่งออกมาคือ จาม น้ำมูกไหล คันคอ บางรายที่เป็นมากก็จะมีเรื่องของหลอดลมบวมตีบ ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ อาการเหล่านี้จะคล้ายๆ กับอาการหวัด หลายคนที่เป็นหวัดก็มักจะมีอาการเหล่านี้ได้ เพราะเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสหวัดซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้อยชนิด หรืออาการหวัด (common cold) ไปกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้ของบางคนกำเริบขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ บางคนยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็น เช่น บางคนช่วงหน้าหนาวก็จะมีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาโดยที่ไมได้เป็นหวัด ซึ่งก็เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายต่อสภาพอากาศเช่นกัน

ทีนี้เราทราบแล้วว่า อาการแพ้กับอาการหวัดมีความเหลื่อมล้ำของอาการที่ปรากฏอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น ในทางปฏิบัติก็สามารถใช้ยาในแบบเดียวกันได้ ก็คือ ยาต้านฮีสตามีน หรือภาษาชาวบ้านคือยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ในทางเภสัชศาสตร์มี 2 แบบ เราแบ่งกันตามลักษณะการออกฤทธิ์เป็นหลัก รวมทั้งอาการข้างเคียงที่พบบ่อยด้วย ดังนี้ (ในบทความนี้จะใช้คำว่า “ยาต้านฮีสตามีน” หรือ “ยาแก้แพ้” สลับกันไปมา แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นความหมายเดียวกัน)

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 (First generation antihistamines)
รุ่นนี้มีขายมานาน บางตัวเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ คลอร์เฟนิรามีน (chorpheniramine; CPM) บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) ไตรโพลิดีน (tripolidine) หรือกระทั่ง ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) หรือใครจะเชื่อบ้างว่ายาแก้เมารถเมาเรืออย่างไดเมนฮัยดริเนต (dimenhydrinate) ก็เป็นยาต้านฮีสตามีน เพียงแต่ฤทธิ์ที่เด่นมากของ dimenhydrinate ไปอยู่ที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัวในหูเลยทำให้เอาไปใช้แก้เมารถเมาเรือมากกว่าที่จะมาเป็นยาแก้แพ้แบบทั่วๆ ไป

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 มีข้อเสียที่เด่นมากคือ ทำให้คนกินแล้วง่วงซึม บางคนไม่ง่วง แต่มึนๆ หัวตื้อๆ รู้สึกเพลีย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นที่มาของคำเตือนให้ระวังการขับรถหรือใช้เครื่องจักรเมื่อกินยานี้ รวมทั้งไม่ควรกินยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ยังไปออกฤทธิ์ที่ระบบสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น ทำให้ ปากแห้ง คอแห้ง บางคนกินแล้วใจเต้นเร็ว ฯลฯ แต่ในความเป็นข้อเสียก็อาจจัดเป็นข้อดีในบางกรณี จะได้กล่าวต่อไป

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 (Second generation antihistamines)
เป็นยาที่ออกมานานพอสมควร เป็นยาที่นิยมมากกว่ายาแก้แพ้รุ่นที่ 1 เพราะ “ไม่ง่วง” (บางคนจึงเรียกว่ายาแก้แพ้แบบไม่ง่วง) กินแล้วไม่มีอาการปากแห้ง คอแห้ง (ยกเว้นยาบางชนิดและกับบางคนที่มีการตอบสนองต่อยาไวกว่าปกติ ก็จะมีอาการง่วงเล็กน้อยและปากแห้งคอแห้งได้บ้าง) แบบยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ยารุ่นนี้ออกฤทธิ์นาน กินยาวันละ 1-2 ครั้งได้ และบางตัวก็มีฤทธิ์แก้อาการคัดจมูกไปด้วย

ข้อเด่นของยาแก้แพ้รุ่นนี้คือ มีฤทธิ์ “แก้แพ้”จริง ๆ คือมีความจำเพาะในการต้านฤทธิ์ฮีสตามีนสูงมาก จึงนำไปใช้ในโรคที่เกี่ยวข้องกับ “การแพ้” อย่างกว้างขวาง เช่น atopic dermatitis, allergic rhinitis, chronic urticaria, urticaria จากสาเหตุอื่นๆ

อย่างที่กล่าวว่า ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 มีข้อเสียคือง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ในบางกรณี ข้อเสียกลับกลายเป็นข้อดี คือสั่งใช้เพื่อหวังประโยชน์จากอาการข้างเคียงนั้น เช่น CPM ง่วงนอน ก็สั่งให้ผู้ที่เป็นหวัดกินก่อนนอน เพื่อให้ง่วง นอนพักผ่อนได้ หรือบางคนแพ้อากาศเย็น มีน้ำมูกไหล หรือเป็นหวัดแล้วมีน้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา กินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วน้ำมูกไม่ลดก็มากินยาแก้แพ้แบบง่วงแล้วดีขึ้นเพราะอาศัยฤทธิ์อื่นที่นอกเหนือไปจากฤทธิ์ต้านฮีสตามีน

บางคนไปหาหมอที่โรงพยาบาลอาจเคยได้ทั้งยาแก้แพ้แบบง่วงและไม่ง่วงโดยกินคนละเวลากัน เหตุผลก็เป็นอย่างข้างต้น หรือบางคนมีอาการภูมิแพ้อยู่เดิม พอเป็นหวัด อาการแพ้ก็กำเริบก็เลยต้องกินยาแก้แพ้เพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว “ยาแก้แพ้” กับ “ยาแก้หวัด” จึงมาซ้อนทับกันอย่างไม่ตั้งใจ กลายเป็นเรื่องชวนสับสน พอๆ กับที่ประชาชน เข้าใจกันว่า “ยาปฏิชีวนะ” คือยา “ยาแก้อักเสบ”

แท้จริงแล้ว ถ้าบอกว่า จะซื้อยาแก้หวัด โดยปกติ เภสัชกรตามร้านยาต้องซักอาการเพิ่มด้วยซ้ำว่า อาการหวัดเป็นอย่างไร มีอาการอะไรบ้าง เพื่อจะได้จ่ายยา “บรรเทาตามอาการ” ได้ถูกต้อง บางคนมีแค่น้ำมูกไหล ก็จ่ายยาแก้แพ้ บางคนไอมีเสมหะก็ต้องจ่ายยาอย่างอื่นเพิ่ม ดังนั้น เมื่ออาการที่ปรากฏคล้ายกัน ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ยาที่ใช้ก็อาจเหมือนกันได้เป็นธรรมดา

หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


22 มี.ค. 2561  โดย: MGR Online