ผู้เขียน หัวข้อ: ฆ่าตัวตายกว่าครึ่งมาจาก “โรคซึมเศร้า” แต่สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น  (อ่าน 779 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ปลัด สธ. ชี้ ฆ่าตัวตายกว่า 50% มาจากโรคซึมเศร้า แต่สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น แนะสังเกตอาการคนใกล้ชิด หากผิดปกติให้พูดคุยทันที ป้องกันการฆ่าตัวตาย ประชาชน สามารถปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สายด่วน

จากกรณี พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เขียนจดหมายลาตายคัดค้านโครงการรถไฟรางคู่ 1.000 เมตร และ รถไฟฟ้ายกระดับ พร้อมเรียกร้องถนนออโต้บาห์น ก่อนกระโดดตึกจากชั้น 7 ของในศูนย์การค้าย่านแจ้งวัฒนะ เพื่อจบชีวิตตนเอง โดยบุตรชายระบุว่าบิดาป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานหลายปี

วันนี้ (26 ก.พ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข่าวการฆ่าตัวตายทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสังเกตความผิดปกติของผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้องรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากพบว่ามีการพูดในทำนองสั่งเสีย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย เป็นเพื่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา แต่หากไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ทันที รวมทั้งขอให้ทุกคนสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดสะสมหรือไม่ เช่น วิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ และหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับคนใกล้ชิด เป็นต้น หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ แอปพลิเคชันสบายใจ Sabaijai

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 50 ที่พบว่ามาจากโรคซึมเศร้า คาดว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต จัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40 ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการว่า มีแนวโน้มลดลง ได้ใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งจะช่วยลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300 - 400 คนต่อปี

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัด (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยไม่ได้พบเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยของผู้ป่วยยังคงอยู่ที่ 1.5 ล้านคน เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้เวลานานในการรักษา ขณะที่ทุกสาเหตุของการฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องมาจากการป่วยโรคซึมเศร้า เพียงแต่ร้อยละ 50 ของฆ่าตัวตายมาจากซึมเศร้า ส่วนสาเหตุที่มักเป็นข่าว หรือได้รับความสนใจตามหน้าสื่อ เพราะคนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ส่วนอาการป่วยหรือไม่ต้องให้ญาติเป็นผู้เปิดเผย สำหรับคนที่มีอาการป่วยซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตาย จะแสดงอาการอย่างน้อย. 2 สัปดาห์ และภาวะความคิดลบ เปรยหาทางออกไม่เจอ และยังอยู่ในช่วงคิด หรือหาวิธีการฆ่าตัวตาย

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับรูปแบบของการฆ่าตัวตาย มักเป็นการใช้ประสบการณ์การความคิดของตนเองเป็นหลัก จากข้อมูลของไทย พบว่า การทำอัตวินิบาตกรรม ของผู้ป่วยซึมเศร้าใช้ แขวนคอตาย, ใช้สารเคมี, อาวุธ และกระโดดที่สูง ซึ่งเป็นความคิดชั่ววูบ แค่ไม่นาน ดังนั้น หากพบผู้ที่มีอาการวิตกกังวล เครียด หาทางออกไม่เจอ บ่นอยากฆ่าตัวตาย มีความคิดเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย หดหู่ ก็ควรพบจิตแพทย์ทันที

27 ก.พ. 2561   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กรมสุขภาพจิต ชี้ “คนแก่” ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงอันดับ 2 ของประเทศ ด้าน “ตำรวจ” กลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายด้วย พบแนวโน้เพิ่มขึ้นจากปีละ 29 ราย เป็นเฉลี่ย 34 ราย ส่วนใหญ่อายุ 41 - 50 ปี ยศดาบตำรวจ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม เหตุเจอภาวะวิกฤตในชีวิต และเหตุการณ์สะเทือนขวัญบ่อย

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000 คนต่อปี พบเป็นวัยทำงานมากสุด รองลงมาคือ วัยสูงอายุ ทั้งนี้ สาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกคือ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด, โรคเรื้อรังทางกาย และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน ซึ่งการที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุกลุ่มป่วย คือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า 2. ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียง และ 3.ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า รพ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “สบายใจ” เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุก ให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผลดียิ่งขึ้นอยากขอให้สังคมและประชาชนร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยสังเกตผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช กลุ่มสูญเสียหรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ขอให้รีบไปพูดคุย จัดการปัญหาให้เบื้องต้น หากยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด หรือ โทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของอาชีพตำรวจ ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่าตำรวจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 อันดับ คือ 1. ภาวะวิกฤตในชีวิตและปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการโรคจิตและใช้สารเสพติด และ 2. ตำรวจมีโอกาสพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เช่น อาชญากรรม การฆาตกรรม การฆ่าตัวตายการข่มขืน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนว่า หากไม่ได้รับการบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจได้

“จากการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจในประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2555 มีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 29 นาย ส่วนปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 34 นาย โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 - 50 ปี เป็นยศดาบตำรวจ และรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ส่วนข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่ากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มคนผิวขาว อายุมาก และรับผิดชอบงานด้านอาชญากรรม ซึ่งมีความเครียดสูง ซึ่งการดูแลก็เหมือนบุคคลทั่วไป คือ คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการเตือน เช่น การพูดถึงการตายเชิงสั่งเสีย อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 1. ผู้ที่เกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจากการสูญเสียทั้งด้านการงานหรือคนที่รัก 2. ผู้ที่แยกตัวจากสังคมหรืออยู่คนเดียว 3. ผู้มีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และ 4. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพจิตตำรวจในระบบก็จะมี รพ.ตำรวจ ให้การดูแลและรวมถึง รพ. ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็สามารถขอคำปรึกษาและรับบริการได้” นพ.ปทานนท์ กล่าว

27 ก.พ. 2561   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สมาคมจิตแพทย์ฯ ชี้รมควันฆ่าตัวตายมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเห็นทำแล้วสำเร็จ เผยผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่มียีนความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ทำให้เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายด้วยวิธีการรมควันรวม 3 ราย ว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยพบมากขึ้น เพราะประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าที่เดินเข้าหาจิตแพทย์เองยังไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าในไทยยังคงที่ประมาณ 1.5 ล้านคน สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเหมือนกันทั่วโลก และเรื่องของความสัมพันธ์ครอบครอบที่มีการพูดคุยกันน้อยลง หันไปใช้เทคโนโลยีโดยไม่สนใจใคร และปัญหาสุขภาพทางกายก็ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน โรคไทรอยด์ตับ จะมีภาวะโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นด้วย

นพ.ปราการ กล่าวว่า ทั้งนี้ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่ มักมียีนด้านความอดทนน้อยกว่าคนปกติ ประกอบกับสิ่งที่เผชิญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ได้ผ่านการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จหรือได้ระบายหรือไม่ จึงเป็นเหตุและปัจจัยในการฆ่าตัวตาย ทั้งที่ความจริงการอยู่ในโลกอีกสักพักอาจพบทางออกและความสุข ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวทำให้ความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุน้อยลง ส่วนเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายพบว่า เพศหญิงจะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าเพศชาย แต่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น เพศชายจะสูงกว่าเพศหญิง 3 เท่า เนื่องจากเพศชายเวลาฆ่าตัวตายจะใช้วิธีการที่รุนแรงกว่า

"วิธีการฆ่าตัวตายที่พบว่ารุนแรงมากขึ้นและพบวิธีแปลกใหม่ ไม่ค่อยพบในบ้านเรา ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ การฆ่าตัวตายสำเร็จจากคนอื่น โดยชุดความจำหรือการเลียนแบบ อาจมาจากการดูคนที่มีชื่อเสียง เขาทำแล้วกระทำสำเร็จจึงเลียนแบบ โดยพฤติกรรมการฆ่าตัวตายที่เห็นตามหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่ามีพฤติกรรมใหม่ๆ ที่บ้านเราไม่มี ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนสังเกตพฤติกรรมคนรอบตัว หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น พูดน้อยลง ไม่สังสรรค์กับเพื่อนเหมือนเคย มีการบ่นว่าไม่อยากอยู่ ก็ให้เราสงสัยว่าคนผู้นั้นอาจมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าและควรเข้าไปพูดคุยให้เพื่อนได้ระบาย แต่อย่าไปต่อว่า อย่างไรก็ตาม อีกปัญหาการฆ่าตัวตายที่สำคัญในวัยรุ่นทั่วโลกคือ การถูกกลั่นแกล้งผ่านทางสังคมออนไลน์ ทุกคนจึงต้องช่วยกันคิดในสิ่งที่ให้กำลังใจกันและกัน อย่าไปต่อว่าผู้อื่นเพราะทุกคนอยากมีความสุข และอยากย้ำว่าหากมีอาการซึมเศร้าให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา" นพ.ปราการ กล่าว

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุกระตุ้น โดยโรคซึมเศร้าก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยโรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของสารเคมีในสมองบางตัว เรื่องความผิดหวัง ความเครียด การจัดการกับปัญหาไม่ได้ ปัจจุบันคาดว่าในจำนวน 100 คน จะมี 3 คนที่ป่วยซึมเศร้าในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ โดยการรู้ตัวส่วนหนึ่งมาจากเคยควบคุมอารมณ์ได้ แต่กลับทำได้ยากลำบากขึ้น รู้สึกกับคำพูด ความเครียดบางอย่างมากกว่าปกติ ทำให้เศร้าทั้งวัน วนเวียนแต่เรื่องนั้น ความรู้สึกนี้ส่วนใหญ่ รู้ตัว แต่อาจจะรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ทั้งนี้ คนที่เป็นจะมีช่วงที่มีอาการ อาจจะกินเวลา 2-3 เดือน คนรอบข้างอาจจะต้องมีความเข้าใจเรื่องการตอบสนองทางอารมณ์ที่อาจจะผิดแปลกไป แต่สิ่งที่อยากให้คนรอบข้างช่วยคือพาไปพบแพทย์ และดูแลให้กินยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา นอกจากนี้ ยังมีการรักษาทางจิตสังคม ตั้งแต่การให้คำแนะนำ จิตบำบัด กิจกรรมบำบัด แต่โดยทั่วไปคือการรับประทานยาต้านซึมเศร้า ก็พบว่าสามารถรักษาให้หายขาด สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการรักษาต้องทำให้หายขาด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

“คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีเวลาปลีกตัวออก หากคนรอบข้างรู้ว่าหากคนข้างตัวมีความคิดก็อย่าไปห่างไกลจากเขา ดูแลเอาใจใส่หากการมีคนอยู่เป็นเพื่อน ดูแลใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยไม่ให้มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เรื่องวิธีการนั้นเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ก่อนหน้านี้อาจจะไม่พบบ่อยในเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วยการรมควัน ก่อนหน้านี้มีพบบ้างในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ใต้หวัน เกาหลีใต้ แต่ยอมรับว่าในช่วงปลาย 60-61 เยอะกว่าที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่น่าสังเกตและเฝ้าระวัง ที่กรมต้องจับตาการฆ่าตัวตายด้วยวิธีดังกล่าว แต่ฝากการนำเสนอภาพของสื่อ ซึ่งคิดว่าคิดมากพอสมควร แต่บางอย่างเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องวิธีการ มันก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบได้” นพ.ณัฐกร กล่าว

7 มี.ค. 2561 โดย: MGR Online