ผู้เขียน หัวข้อ: พบสัตว์ติดเชื้อ “พิษสุนัขบ้า” เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า แนวโน้มเจอใน “วัว” เพิ่มขึ้น  (อ่าน 980 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรค เผย พบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ยังพบใน “หมา” แต่มีรายงานพบเชื้อใน “วัว” เพิ่มขึ้น เร่งเดินหน้าค้นหาผู้มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีน 100%

วันนี้ (27 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังน่ากังวล เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ รายงานว่า ปี 2561 เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมว และโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธุ์ และ อำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อเเละมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1. ประชาชนไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2. ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3. ประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

“กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข - แมว ในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแล เพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยา โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง กักหมา 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการตัดสินใจรับวัคซีนหรือไม่ และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต เเละสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชน และเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุม 100% รวมทั้งกำชับ อสม. ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเพิ่มค้นหา และติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายและแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน

27 ก.พ. 2561   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“สัตว์เลี้ยง” ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 08 มีนาคม 2018, 23:33:31 »
กรมควบคุมโรค เผย สัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น คาดมาจากการชะลอฉีดวัคซีนในสัตว์ 1 - 2 ปี ห่วงสัตว์เลี้ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น เหตุอาจเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันในคนยังเท่าเดิม ย้ำต้องระวังทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เสี่ยงระบาดตามที่กรมปศุสัตว์ประกาศ

วันนี้ (6 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาพบโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น ว่า แม้จะพบสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนที่มารับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ายังไม่แตกต่างจากเดิม คือ ประมาณ 300,000 คน สำหรับ ม.ค.- ก.พ. 2561 มีคนมาฉีดวัคซีนแล้ว 39,000 คน หากอยู่ในจำนวนนี้ตัวเลขทั้งปีก็จะเฉลี่ยไม่เกิน 3 แสนคน ส่วนกรณีตรวจพบเชื้อจากหัวสุนัขเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการฉีดวัคซีนในสัตว์ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ใช้งบท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนจะซ้ำซ้อนกับปศุสัตว์และไม่ใช่หน้าที่ รวมทั้งมีการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีการปลดล็อกข้อทักท้วงของ สตง.แล้ว และกระทรวงมหาดไทยก็มีโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักณ์ อัครราชกุมารี ให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2563 และในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า สนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษาสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งติดต่อไปสู่คนได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องตระหนักว่า หากถูกสุนัขกัดต้องรีบมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งกรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สนับสนุนงบฯในการซื้อวัคซีนฉีดในคน รวมทั้งเซรุ่มสกัดจากน้ำเหลือง ซึ่งจะใช้ฉีดในกรณีที่คนถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทมากๆ เช่น มือ และใบหน้า และมีแผลเหวอะหวะมากๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากฉีดเร็วก็ป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมปศุสัตว์ประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า ต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์จะพบหัวสุนัขติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อย่าง ม.ค. - ก.พ. 2561 เพิ่มสูงถึง 2 เท่ามากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 โดยพบมากทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆ แต่ในปี 2561 พบมีการขยายเพิ่มไปทางอีสานตอนกลาง และภาคตะวันตก ภาคใต้ จริงๆ ไม่อยากระบุเป็นภาค หรือเป็นจังหวัดมากนัก เพราะข้อเท็จจริงต้องระวังทั้งประเทศ เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์มากขึ้นด้วย เห็นได้จากข้อมูลว่าสัตว์ที่มีเจ้าของพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยพบถึงร้อยละ 54 - 55 ของหัวสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ขณะที่สุนัขจรจัดมีประมาณร้อยละ 35 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณว่า สุนัขมีเจ้าของเริ่มมีปัญหา ซึ่งอาจมาจากเจ้าของบางคนปล่อยปละละเลย หรือฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจไม่ระวังเลี้ยงแบบเปิด ทำให้สุนัขหนีออกไปข้างนอกและอาจไปสัมผัสกับสุนัขสาธารณะที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้

เมื่อถามว่า สุนัขมีเจ้าของมีเชื้อพิษสุนัขบ้ามากขึ้น กทม.ต้องเฝ้าระวังหรือไม่ เพราะคนเลี้ยงสัตว์กันมาก นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไม่เสมอไป แต่ในเมืองก็มีการเลี้ยงเพิ่มอยู่ ส่วนพื้นที่ กทม.ตนมองว่า คนมีความรู้และทาง กทม.ก็มีการบริหารจัดการ อย่างหากเจ้าของปล่อยปละละเลย แล้วสุนัขป่วยไปกัดคนอื่นก็จะมีความผิดทั้ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการ

6 มี.ค. 2561 โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช. แนะ อบต./เทศบาลใช้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล” ช่วยควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ตามประกาศหลักเกณฑ์ใช้งบหนุนแก้ปัญหาโรคระบาด - ภัยพิบัติ ส่วนผู้ถูกสุนัขกัดใช้สิทธิบัตรทองฉีดวัคซีนที่ รพ.รัฐ ใกล้ที่สุดโดยเร็ว ด้านประกันสังคมย้ำผู้ประกันตนถูกหมาแมวกัด ใช้สิทธิรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดในหลายพื้นที่ประเทศไทยขณะนี้ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าอีก 42 จังหวัด ขณะที่มีรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าโดยกรมควบคุมโรค พบเชื้อบวกจากการตรวจยืนยันหัวสุนัขช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ในปีนี้ที่สูงเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ทั้งนี้ แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว เป็นต้น เป็นประจำทุกปี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้สัมผัสโรค

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล และ อบต. ที่เข้าร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น รวมถึงองค์กรประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นนี้ อปท. สามารถนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนัก/กอง/ส่วนสาธารณสุขฯ ในเทศบาล หรือ อบต. จัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ลดอุบัติการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้

ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2557 ในข้อ 7 (5) ที่ระบุให้นำเงินกองทุนจ่ายใช้จ่ายกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้ โดยมีคณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในตัวสัตว์เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยตรง

“กรณีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ขณะนี้ โดย อปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดสามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ ปัจจุบันมีเทศบาล และ อบต. เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฯ แล้วจำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.49 ของ อปท. ทั้งประเทศ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสน้ำลายสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งแรก กรณีเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน สปสช. โทร. 1330 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส. ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมโดยประสานให้สถานพยาบาลคู่สัญญาและเครือข่ายทั่วประเทศเตรียมรับผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนประสบเหตุถูกสุนัขกัดในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมขอแนะนำให้ผู้ประกันตนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้สิทธิประกันสังคมได้ และผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองเลือกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ตนเองเลือกได้ ควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน พร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก

สำหรับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอกสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชนประเภทผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการการรักษาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ หากผู้ประกันตนมีปัญหาข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

8 มี.ค. 2561   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ในระยะนี้ หลายคนอาจได้ข่าวเรื่องมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหลายคนอาจมองเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วว่า หน้าร้อนก็ต้องมีหมาบ้า แต่แท้จริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ทุกฤดูกาล ทุกคนมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรคและเกิดโรคได้ทั้งสิ้น โรคพิษสุนัขบ้า นับว่าเป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรง เพราะหากเมื่อเกิดอาการหลังสัมผัสโรคแล้วอัตราการตายคือ 100% แต่ข่าวดีคือโรคนี้สามารถป้องกันด้วยวัคซีน



แม้เราจะมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ และมีอิมมูโนโกลบูลิน (Rabies Immunoglobulin; RIG) ที่มีประสิทธิภาพสูง กระนั้นก็ยังมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เสมอๆ และหากใครติดตามข่าว ล่าสุดจะพบว่า ในปี 2561 สองเดือนแรกมีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายราย และพบสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 251 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว 1.5 เท่า ทำให้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ยังมีความน่าเป็นห่วง

ประเด็นของสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ยังไม่ทุเลา มาจากความเข้าใจผิดและการปฏิบัติตัวของผู้ที่สัมผัสโรค เช่น

เข้าใจผิดว่า เฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้นที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ แท้จริงแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สามารถนำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่มนุษย์ได้ (แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ในกรณีที่เป็นการติดโรคตามธรรมชาติ)

เข้าใจผิดว่า สัตว์ที่เลี้ยงในบ้านไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แท้จริงแล้ว สัตว์มีความเสี่ยงในการไปกัดกับสัตว์อื่น หรือถูกสัตว์อื่นกัดและได้รับเชื้อมา

เข้าใจผิดว่า เฉพาะการกัดมีเลือดออกเท่านั้นที่จะสามารถรับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ แท้จริงแล้ว การเลีย การงับ ก็เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะในสารคัดหลั่งจากสัตว์ เช่นน้ำลายก็สามารถพบเชื้อและติดต่อผ่านเยื่อเมือก บาดแผลเปิดได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ทำการประเมินความเสี่ยงการรับสัมผัส

อีกประเด็นที่สำคัญมากๆ คือการละเลยการไปตรวจและไปรับวัคซีนป้องกัน หลังสัมผัสโรค หรือไปรับไม่ครบ



ความสำคัญที่แพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยเสมอคือ “ในช่วง 3 เข็มแรกของการฉีดวัคซีน (ภายใน 7 วัน) ไม่ควรเลื่อนนัดหรือผิดนัดการฉีดวัคซีน” เนื่องจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า (rabies vaccine) หากเป็นการฉีดหลังการสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis) ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง หรือตามประวัติของสัตว์ที่กัดต่อไม่ได้ จำเป็นจะต้องฉีดให้ครบ 5 เข็ม (วันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28 หรือ 30 หลังการสัมผัสโรค, เนื่องจากจะต้องให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงพอในวันที่ 14 หลังการฉีด)

เมื่อเป็นการฉีดหลายครั้ง พบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มาตามนัด หรือเลื่อนนัด ซึ่ง มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เป็นความเสี่ยงสูงมาก ในการเลื่อนนัดหรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามกำหนด (โดยเฉพาะในช่วง 3 เข็มแรก) ซึ่งประเด็นนี้มีแจ้งไว้ในคู่มือการปฏิบัติงาน (ดูเอกสารอ้างอิง) และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะหากสัตว์ที่กัดมีเชื้อและรับวัคซีนไม่ครบถ้วน ก็อาจเกิดการเป็นโรคขึ้นมาภายหลังได้

นอกจากประเด็นเรื่องพิษสุนัขบ้าแล้วยังมีอีกโรคที่ต้องระวัง และอาจตามมาจากการถูกสัตว์กัดได้คือ โรคบาดทะยัก เพราะลักษณะการกัดที่มีแผลลึกแคบ มักจะเป็นแผลที่ไม่ค่อยมีออกซิเจนเข้าถึง ซึ่งเชื้อบาดทะยักเป็นเชื้อที่สามารถอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจน (anaerobic) ได้ ปัญหาเรื่องการติดเชื้อบาดทะยักอาจตามมาภายหลังได้ ซึ่งในรายที่มีความเสี่ยงก็อาจจะต้องได้รับทั้งวัคซีนบาดทะยักและพิษสุนัขบ้าไปพร้อมกัน บางรายอาจรอดจากพิษสุนัขบ้า แต่มาตกม้าตายเพราะเรื่องบาดทะยักหรือแผลติดเชื้อรุนแรง

“สุนัขกัดต้องรีบแก้ ล้างแผลใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อให้ครบชุด”
(อ้างอิงจากแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย)

หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

เอกสารอ้างอิง
กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์, 2559

กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า. กรุงเทพฯ: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์, 2560

HFOCUS. กรมควบคุมโรค เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า หลังพบสัตว์ติดเชื้อสูงกว่าปีที่แล้ว 1.5 เท่า [online]. Available at: https://www.hfocus.org/content/2018/03/15496. Accessed on Mar 5, 2018.


6 มี.ค. 2561  โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
โรคพิษสุนัขบ้า มันกลับมาแล้ว
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 08 มีนาคม 2018, 23:53:34 »
“โรคพิษสุนัขบ้า”...เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ตัวนำโรคและแพร่เชื้อที่สำคัญคือ “หมา”...เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยคือ...“แมว”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า จากในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่แล้วที่เรามีคนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 300 ถึง 400 คน...จนกระทั่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบต่ำกว่า 10 ราย...แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาสองปีหลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ราย โดยในปีที่แล้วถ้านับรวมสูงถึง 17 รายด้วยกัน และปีนี้พบอย่างน้อยหนึ่งราย
“เนื่องจากสถิติในประเทศไทยมักจะตัดผู้เสียชีวิตที่เกิดจากหมาตามตะเข็บชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วต้องนับรวม เนื่องจากธรรมชาติหมาก็วิ่งไปมาข้ามพรมแดนได้และนอกจากนั้นการที่คนพาหมาข้ามหรือย้ายถิ่นฐานไปด้วย ทำให้โรคมีการระบาดในวงกว้าง”

การที่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์ติดเชื้อซึ่งมาจากหมาชายขอบเหล่านี้ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสืบค้นจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสว่าแพร่มาจากทางไหน และ...เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการตรวจทางอณูชีววิทยา ซึ่งต้องวางการตรวจจับตามรหัสพันธุกรรมจำเพาะของไวรัส ไม่เช่นนั้นจะตรวจไม่เจอ?
ดังที่เมื่อประมาณสองปีที่แล้วผู้ป่วยเสียชีวิตและการตรวจทางรหัสพันธุกรรมสืบสาวไปว่าเชื้อในเขตรอยต่อกับพม่ามีถิ่นฐานจากที่แพร่ในประเทศจีน

ประเด็นน่าสนใจมีว่า...ในระยะสามปีมานี้มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในสัตว์ทั้งหมาซึ่งนำเชื้อไปติดในวัว ควาย ประมาณคร่าวๆว่า มีไม่ต่ำกว่า 50 จังหวัด ที่หมามีการติดเชื้อ

ทำให้เชื้อที่ตรวจพบในหัวหมาที่ต้องสงสัยเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็นในบางพื้นที่สูงถึง 30% จนถึงเกือบ 50%
ที่สำคัญ...ตัวเลขของคนที่ถูกหมากัด ดูจะเพิ่มมากขึ้นทุกที และแน่นอนต้องได้รับการฉีดวัคซีนและถ้าแผลมีเลือดจะได้รับการฉีดสารสกัดน้ำเหลือง ที่ทำจากม้าหรือคนก็ตาม ซึ่งราคาแพงและมีปริมาณไม่เพียงพอนัก

สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีการตรวจพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แสดงว่าในพื้นที่นั้นมีตัวที่เป็นโรคและแพร่เชื้อได้เรียบร้อยแล้ว ตัวแรกที่เป็นก็ตายไป...แต่ก็แพร่เชื้อให้ตัวอื่นๆ ในขณะที่เขายังไม่มีอาการบ้าชัดเจน แต่กัดสู้กันเล่นกัน และยังแพร่เชื้อได้มากขึ้นในขณะที่เขามีอาการบ้าแล้ว
ตัวอื่นๆและเพื่อนๆที่ถูกกัดและได้รับเชื้อ...ไม่ได้หมายความว่าทุกตัวจะเป็นบ้า เนื่องจากเชื้อไม่ได้ออกมาทางน้ำลายตลอดเวลา และเมื่อได้รับเชื้อก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทุกราย
สำหรับในคนแม้ถูกสุนัขบ้ากัด ก็ไม่จำเป็นต้องตายทุกรายโดยอยู่ในช่วง 30-80%

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกอีกว่า สำหรับสัตว์ที่ได้รับเชื้อและติดไปแล้วเชื้อจะสงบอยู่ในตำแหน่งที่แผลโดยจะมีการขยายจำนวนทีละเล็กทีละน้อยขึ้นอยู่กับกลไกของเซลล์กล้ามเนื้อว่าจะกดไวรัสได้ดีแค่ไหน

หลังจากนั้นก็จะเริ่มลุกลามเข้าไปในปลายเส้นประสาทและเคลื่อนเข้าไปในไขสันหลังและก้านสมองและสมองใหญ่ จากนั้นจึงแพร่ออกจากระบบประสาทออกไปทั่วร่างกายอีกครั้ง ไปที่อวัยวะภายใน กล้ามเนื้อและออกมาทางน้ำลาย
น่าสนใจด้วยว่า...ระยะเวลาที่ติดเชื้อแล้วจนกระทั่งแสดงอาการอยู่ในช่วงระยะส่วนมากคือสองเดือน แต่ก็อาจยาวนานถึงหนึ่งปี
“เราได้พิสูจน์แล้วพบว่า แม้เชื้อเข้าไปในสมองแล้ว คนไข้ก็จะไม่แสดงอาการใดๆทั้งสิ้นได้ โดยอาจนานได้ถึงหกสัปดาห์ถึงสองเดือน ซึ่งการแพร่เชื้อทางน้ำลายให้คนอาจจะเกิดขึ้นได้หลายวันก่อนที่จะแสดงอาการเช่นเดียวกับสุนัข”
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดๆที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยชีวิตคนป่วยที่มีอาการแล้วและแม้แต่การรักษาที่รายงานในสหรัฐฯก็พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยรอดชีวิตเอง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเกิดขึ้นเร็วมากและเป็นโชคดีที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ทั้งหมด

ปัญหาสำคัญในบ้านเรา ณ วันนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า จำเป็นต้องเอาใจใส่และควบคุมให้ได้ทันท่วงที
“ในกรณีที่ในพื้นที่ดังกล่าวพบสัตว์ที่เป็นบ้า ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันสุนัขและแมวซึ่งเป็นตัวที่แพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีการแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ”

สำหรับตัวที่ติดเชื้อไปแล้วและเชื้อเข้าเส้นประสาทแล้ว การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล...แต่อย่างไรก็ตาม ตัวที่ฉีดวัคซีนได้ผลก็จะ
ไม่เกิดโรค ส่วนตัวที่กันไม่ได้ก็จะตายไป

ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีการระบาดต้องเฝ้าสอดส่องอย่างน้อย 6 เดือน
“การตรวจน้ำลาย” ในสัตว์ที่ต้องสงสัยและยังไม่ได้เสียชีวิตโดยการหาไวรัสด้วยวิธีอณูชีววิทยาไม่ควรกระทำ ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสไม่ได้ออกมาตลอดเวลาแล้วจะเกิดความเข้าใจผิดว่าไม่เป็นบ้าและเจ้าของจะตายตกไปตามกัน

“การที่เกิดมีการระบาดแพร่กระจายทั่วประเทศไทยไม่อาจโยนความผิดไปให้ใครได้เลยนอกจากตัวเอง ทั้งนี้ เพราะไม่ได้คุมกำเนิดหมาแมวปล่อยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นและไม่ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เมื่อเกิดการระบาด แน่นอน...ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด”
คนในพื้นที่ต้องร่วมมือร่วมใจกับเจ้าหน้าที่และขณะเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้ว่ามีการสัมผัสโรคจากสัตว์ในบริเวณพื้นที่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฉีดยาป้องกันตามระดับการสัมผัสอย่างถูกต้อง

ที่ผ่านมายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “โรคพิษสุนัขบ้า” อยู่บางประเด็น อาทิ หากคิดว่าลูกสุนัขและแมว ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่จริงๆแล้ว...สุนัขและแมว อายุเท่าใดก็ตาม สามารถแพร่โรคได้ แม้จะมีอายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น ความเข้าใจผิดข้อต่อมา หากคุณคิดว่าสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น?
ข้อนี้ความเป็นจริง...สุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทุกฤดูกาล

ฉะนั้น “การฉีดวัคซีน” ในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาลและคนเมื่อถูกกัดไม่ว่าฤดูไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงข้อเข้าใจผิดต่อมา คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดี ก็ไม่น่าจะเป็นบ้า...ให้รู้อีกว่าสุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ถ้าสัตว์ดูยังปกติอย่านิ่งนอนใจ ต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยกและกักขังสุนัขและแมวนั้นๆ

หากแสดงอาการผิดปกติ ต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
รู้เช่นนี้แล้ว...สถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่...หลายจังหวัด ในวันนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก็คือ...อย่าผลักภาระ อย่าโทษเจ้าหน้าที่รัฐทางสาธารณสุขและปศุสัตว์ เพราะถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน.
“โรคพิษสุนัขบ้า”...เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ตัวนำโรคและแพร่เชื้อที่สำคัญคือ “หมา”...เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยคือ...“แมว”...


https://www.thairath.co.th/content/1221647