ผู้เขียน หัวข้อ: รับรอง “หมอแสง” เป็น “หมอพื้นบ้าน” แล้ว หลังส่งเอกสารครบ ย้ำห้ามทำเชิงพาณิชย์  (อ่าน 1101 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9749
    • ดูรายละเอียด
คราวนี้ของจริง! กรมแพทย์แผนไทยฯ รับรอง “หมอแสง” เป็น “หมอพื้นบ้าน” แล้ว หลังส่งเอกสารครบ ยันไม่เกี่ยวขนม็อบมากดดัน หรือประกาศไม่แจกแคปซูลสมุนไพร พิจารณาตามกระบวนการ ย้ำหมอพื้นบ้านทำเชิงพาณิชย์ไม่ได้ หากผิดกฎถูกถอดถอน

วันนี้ (7 ก.พ.) นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าการออกใบรับรองให้นายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือหมอแสง ที่แจกแคปซูลสมุนไพรช่วยผู้ป่วยมะเร็ง จ.ปราจีนบุรี เป็น “หมอพื้นบ้าน” ว่าเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.พ. นายแสงชัยได้ส่งเอกสารที่ยังขาดอยู่ 2 ชิ้น คือ เอกสารการยอมรับของคนในชุมชนที่ไม่น้อยกว่า 10 คนขึ้นไป และเอกสารการยอมรับของหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาให้ทางกรมฯ แล้ว ทั้งนี้ เมื่อเอกสารครบ ทาง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้ลงนามออกใบรับรองให้แก่นายแสงชัยเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกใบรับรองอย่างรวดเร็วเช่นนี้อาจทำให้สังคมคิดว่าเกรงกลัวต่อการประกาศของนายแสงชัยว่าจะไม่แจกแคปซูลสมุนไพร นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ไม่ได้กังวล เพราะคือขั้นตอนการพิจารณาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ได้พิจารณาเอกสารอื่นๆ มาแล้ว แต่ขาดเอกสารอีก 2 ชิ้นในการประกอบการพิจารณา ดังนั้น เมื่อเอกสารครบถ้วนจึงทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว และท่านอธิบดีก็ลงนามได้เลย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าได้ใบรับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้วจะจบ เพราะการออกใบรับรองหมอพื้นบ้านก็เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและยกระดับหมอพื้นบ้านที่มีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น แต่ต้องดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์พื้นบ้าน และอย่าลืมว่า หมอพื้นบ้านแตกต่างจากแพทย์พื้นบ้าน เพราะหมอพื้นบ้านไม่สามารถทำเพื่อการค้า โดยต้องไปติดตามต่อว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักคือ ต้องช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามธรรมจรรยา และต้องไม่ทำเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากผิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขก็ถอดถอนใบรับรองได้

เมื่อถามว่านายแสงชัยได้รับรองเป็นหมอพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญด้านใด นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า การออกใบรับรองหมอพื้นบ้าน ไม่ได้บอกว่ามีความเชี่ยวชาญสาขาไหน ไม่เหมือนแพทย์แผนปัจจุบันที่มีใบประกอบโรคศิลปะ ที่จะมีการศึกษาได้ใบประกอบโรคศิลปะ และมีการศึกษาต่อเฉพาะด้าน หากหมอพื้นบ้านต้องการความเฉพาะด้าน หรือต้องการใบอนุญาตเป็นแพทย์แผนไทยก็ต้องเป็นไปตามหลักสูตร มีการศึกษาตามสถาบันการศึกษา มีใบรับรองออกมา หรือในกรณีหมอพื้นบ้านที่อายุมากแล้ว อาจไม่สามารถไปสอบใบอนุญาตได้ ก็จะมีอีกวิธีในการประเมินตามประสบการณ์ ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ต่างๆ อีก โดยที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ผ่านการประเมินไปประมาณ 100 กว่าคน แต่ทั้งหมดก็จะต้องมีระบบในการยอมรับ ซึ่งมีหลักเกณฑ์อยู่ดี

7 ก.พ. 2561   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9749
    • ดูรายละเอียด
กรมแพทย์แผนไทย แจงยังไม่ได้รับรอง “หมอแสง” เป็นหมอพื้นบ้าน ชี้หนังสือตอบกลับแค่ระบุว่าเห็นควร แต่ยังต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมก่อนออกใบรับรอง ระบุเกณฑ์พิจารณาหมอพื้นบ้านดูจากพฤติกรรม ไม่ได้เป็นการรับรอง “ยา” ที่ใช้ ยังต้องวิจัยร่วมต่อ ขออย่าจับมาโยงกัน ย้ำหมอพื้นบ้านห้ามทำเชิงพาณิชย์ จ่อถูกถอนใบรับรอง

จากกรณีมีการรายงานข่าวว่า นายแสงชัย แหเลิศตระกูล ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ปราจีนบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมอแสง” ที่มีการแจกสมุนไพรช่วยผู้ป่วยมะเร็ง ได้รับการรับรองขึ้นเป็น “หมอพื้นบ้าน” นั้น

วันนี้ (5 ก.พ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวกรณีดังกล่าวว่า นายแสงชัยได้ทำหนังสือถึงตนเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน โดยส่งเอกสารการประเมินต่างๆ ของตนเองเข้ามา ซึ่งตัวนายแสงชัยคิดว่าตนเองเข้าเกณฑ์การเป็นหมอพื้นบ้าน จากการตรวจสอบของกรมฯ ก็พบว่านายแสงชัยเข้าข่ายเป็นหมอพื้นบ้าน แต่ยังขาดเอกสารหลักฐานบางอย่างอยู่ จึงทำหนังสือตอบกลับว่าเห็นควรเป็นหมอพื้นบ้าน แต่ขอให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมก่อน แต่อาจมีการสื่อสารและเข้าใจผิดคิดว่าขึ้นทะเบียนแล้ว จริงๆ ยังไม่ได้มีการรับรอง เหมือนกับการสอบสัมภาษณ์ที่เห็นว่าเห็นควรผ่าน แต่ยังขาดหลักฐานขอให้ส่งเอกสารเพิ่มก่อนจึงค่อยประกาศว่าสอบผ่าน เป็นต้น โดยนายแสงชัยยังต้องส่งเอกสารที่เหลือเข้ามาให้พิจารณาก่อนจึงจะออกใบรับรองให้ว่าเป็นหมอพื้นบ้านต่อไป

“การรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านนั้น เป็นการรับรองพฤติกรรมว่าเป็นแบบหมอพื้นบ้านจริง แต่ไม่ได้เป็นการรับรองตัวยาที่นายแสงชัยใช้ จึงไม่เกี่ยวข้องกัน หรือนำมาพิจารณาว่าจะต้องรักษาหาย จึงมีผลในการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน เรื่องการวิจัยยาสมุนไพรที่นายแสงชัยใช้ขอให้เป็นอีกเรื่อง เบื้องต้นจะเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มารับยา 1,200 คน ขณะนี้ก็เก็บได้ครบแล้ว เหลือรอประมวลผล และรอผลการทดลองของสถาบันมะเร็งแห่งชาติว่ามีฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งตัวใด แต่เบื้องต้นจากข้อมูลผู้รับยา 600 คน พบว่า 80% รู้สึกดีขึ้น คือกินข้าวได้ นอนหลับได้ มีแรงปฏิบัติงานได้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า ใบรับรองหมอพื้นบ้านมีอายุ 4 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านแล้ว หากกระทำผิด เช่น ทำในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ก็อาจเพิกถอนการรับรองได้

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการคัดกรองหมอพื้นบ้านมี 8 เกณฑ์ ประกอบด้วย 1. มีผู้มารับบริการสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดูแลสุขภาพในชุมชน ไม่เร่ขายยา ไม่ดำเนินการในรูปแบบสถานพยาบาล 2. สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษหรือองค์ความรู้จากท้องถิ่น 3. มีความสามารถในการบำบัดโรค รู้จักโรค รู้จักยา รู้วิธีรักษา 4. ไม่หวงวิชา ถ่ายทอดวิชาด้วยความเมตตา 5. มีการถ่ายทอดความรู้ 6. ไม่เรียกร้องค่ารักษาเกินควร ไม่ดำเนินการเชิงธุรกิจหรือพาณิชย์ 7. เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน และ 8. มีคุณธรรม มีความเมตตา ช่วยเหลือชุมชน ซึ่งกรณีนายแสงชัยก็มีดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ มีคนมาใช้บริการเป็นหมื่นคน ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี จากเอกสารต่างๆที่ส่งมาก็ถือว่าเข้าเกณฑ์ แต่ยังขาดเอกสารบางอย่าง

เมื่อถามว่านายแสงชัยยังขาดหลักฐานอะไรบ้าง ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า หลักฐานที่นายแสงชัยต้องส่งเภิ่มมีอีก 2 อย่าง คือ การรับรองของคนในชุมชนจำนวน 10 คนขึ้นไป และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการรับรอง สำหรับประเด็นการวิจัยยาสมุนไพรของนายแสงชัยนั้น เป็นการสำรวจความรู้สึกของผู้ป่วย โดยเบื้องต้นที่สำรวจจำนวน 600 รายเมื่อช่วง ธ.ค. 2560 - ม.ค. 2561 นั้น เป็นผู้ป่วยเก่าที่เคยรับยา 30% มีการสอบถามผลข้างเคียง ผลการรักษาตามความรู้สึกของผู้ป่วย ซึ่ง 80% ของผู้ป่วยที่รู้สึกดีขึ้นนั้น เป็นความรู้สึกของผู้ป่วยเอง แต่ไม่ได้มีเอกสารใดรองรับ

เมื่อถามถึงการวิจัยยาสมุนไพรจำเป็นต้องมีการเปิดสูตรเพิ่มเติมหรือไม่ และการยื่นเป็นหมอพื้นบ้านที่ต้องมีการเปิดเผยสูตรในการดูแลรักษา เป็นสูตรเดียวกับที่วิจัยหรือไม่ นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า การวิจัยระยะแรกจะดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาการปนเปื้อนหรือความเป็นพิษ คนไปรับยารู้สึกอย่างไร และออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งใด คาดว่าเดือนหน้าน่าจะทราบผลทั้งหมด และจึงมาพิจารณาต่อว่าควรจะพัฒนาอย่างไร เช่น หากมีผลต่อเซลล์มะเร็งปอด ก็อาจพัฒนาเป้นยารักษามะเร็งปอด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงต้องเปิดเผยสูตรยาทั้งหมด หรือหากไม่มีผลต่อเซลล์มะเร็งก็อาจพัฒนาเป็นยาบำรุง หรือเป็นอาหารเสริม

ดร.ภญ.มณฑกากล่าวว่า ในเอกสารที่ต้องกรอกเพื่อขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้าน จะมีให้ระบุว่ามีความรู้เรื่องอะไร สูตรยาที่ใช้คืออะไร ซึ่งนายแสงชัยก็มีหลายสูตร สูตรที่บอกมาก็เพียงแต่ยกมาบางส่วนที่มีในตำรับ แต่ไม่ได้ระบุทั้งหมด ทั้งนี้ นายแสงชัยยื่นเอกสารแจ้งความเชี่ยวชาญมา 5 ด้าน เช่น ยาสั่ง ฝีในตับ เป็นต้น

เมื่อถามถึงสมุนไพรข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในการรักษามะเร็ง นางเสาวณีย์ กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวว่า ตำรับรักษามะเร็งแต่ละชนิดจะมีตำรับต่างกัน ซึ่งเท่าที่รวบรวมสมุนไพรของหมอพื้นบ้านที่ใช้รักษามะเร็งจากคลังข้อมูลพบว่า ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ ส่วนใหญ่อยู่ในสูตรตำรับ แต่ไม่ได้อยู่ในทุกสูตร

5 ก.พ. 2561  โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9749
    • ดูรายละเอียด
หมอรังสีห่วงสมุนไพร “หมอแสง” ไม่มีกระบวนการวิจัย อาการดีขึ้นจริงหรือไม่ หายกี่คน ดีขึ้นกี่คน ตายกี่คน รักษาร่วมแผนปัจจุบันหรือไม่ ยันไม่ได้อคติ - ต่อต้านสมุนไพร แต่ควรทำให้ถูก ถามกลับทำไมต้องแจ้งความ หากทำวิจัยปัดความรับผิดชอบกับผู้ป่วยไม่ได้

จากกรณี นายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือ หมอแสง ที่ชาวบ้านเรียก ซึ่งแจกสมุนไพรช่วยผู้ป่วยมะเร็ง จ.ปราจีนบุรี ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “หมอพื้นบ้าน” แล้ว แต่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพียงแต่แจ้งว่าเห็นควรเป็น แต่ยังต้องส่งหลักฐานเพิ่มอีก 2 ชิ้น จนหมอแสงประกาศว่าจะไม่มีการแจกสมุนไพรอีก

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ทุกอย่างทำตามระเบียบหลักเกณฑ์ คาดว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือ เข้าใจผิดเรื่องการไม่พิจารณา เพราะเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่า เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหมอพื้นบ้าน ว่า เข้าข่ายหมอพื้นบ้าน เหลือการแสดงหลักฐานที่ขาดเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น

เมื่อถามว่า นายแสงชัย เหมือนจะข่มขู่ และใช้ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน หากไม่รับรองเป็นหมอพื้นบ้าน ภายในวันที่ 20 ก.พ. จะไม่แจกจ่ายสมุนไพร จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้คนอยากเป็นหมอพื้นบ้าน ต้องมากดดันกระทรวงหรือไม่ นพ.เจษฎา กล่าวว่า ต้องดูตามบริบท การพิจารณาของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำตามข้อบ่งชี้ 8 ข้อ 1. มีผู้รับมารับบริการสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเป็นระยะไม่น้อยกว่า 10 ปี 2. สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษ หรือ องค์ความรู้จากท้องถิ่น 3. มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรค 4. ไม่หวงวิชา 5. มีการถ่ายทอดความรู้ 6. ไม่เรียกร้องค่ารักษาเกินควร 7. เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน และ 8. มีคุณธรรม ยืนยันว่า ไม่มีใครสามารถกดดันได้

นพ.เพชร อลิสานันท์ แพทย์ประจำหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแผนกรังสีวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องการความหวังแล้วหมอแสงก็มาตอบโจทย์นี้พอดี สิ่งที่หมอแสงค้นพบในวงการแพทย์เรียกว่า เป็นการเจอสารสักตัวหนึ่งที่คิดว่าน่าจะใช้ได้ เมื่อเจอแบบนี้ก็จะต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อมาพิสูจน์ในห้องทดลอง ในหนูทดลอง และทดลองในมนุษย์ ซึ่งแยกเป็นทั้งคนปกติและผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งจะต้องมีขั้นตอนพิเศษ เพราะเป็นคนอ่อนไหว อ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลป้องกันผู้ป่วยกระโจนสู่งานวิจัยทุกอย่างด้วยความหวังที่จะหาย

นพ.เพชร กล่าวว่า กระบวนการเหล่านี้หมอแสงไม่มีเลย แล้วตอนนี้สังคมกำลังโฟกัสผิดจุด ว่า สามารถรักษาได้แล้วทำไมแพทย์แผนปัจจุบันถึงห้าม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ไม่ได้จะห้าม แต่อยากให้ดำเนินไปตามครรลองที่ถูกต้องคือ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก่อน โดยแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. คนไข้ที่รักษาไม่หายที่หมอแสงชอบพูดบ่อยๆ ว่า เป็นคนไข้หมดหวังที่ รพ. รักษาไม่หาย ตนเข้าใจว่า หมอทั้งประเทศไม่มีใครคัดค้านหากจะไปหาของที่เป็นความหวัง และ 2. กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างที่สามารถรักษาให้หายได้ น่าเป็นห่วงถ้าไปรักษากับของที่ประสิทธิภาพยังไม่ได้รับการพิสูจน์ก็เป็นการเสียโอกาสในการได้รับการรักษาหาย เพราะเป็นโรคที่แข่งกับเวลา ยิ่งช้ามะเร็งยิ่งลุกลาม และที่หมอแสงบอกว่าให้กลุ่มคนไข้ที่ รพ. ไม่เอาแล้ว แต่ก็ไม่เคยพิสูจน์ ไม่เคยคัดแยกคนไข้ ต้องการแค่ใบรับรองแพทย์ว่าคนไข้เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นอันที่น่าห่วง เพราะที่พูดกับที่ทำไม่เหมือนกัน

เมื่อถามว่า มีผู้รับสมุนไพรหมอแสงไปใช้แล้ว บอกว่าได้ผลดี กินได้ นอนหลับ ทำงานได้ นพ.เพชร กล่าวว่า ก็ต้องไปดู คนไข้ที่เป็นมะเร็งรักษาด้วยการฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัด ไม่ได้ให้ผลทันที ต้องรักษาครบ เช่น ฉายรังสีกว่าจะเห็นผลกินเวลา 3 เดือน แต่แน่นอนว่า ช่วงที่รักษานั้นจะแย่ลงจากผลข้างเคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการชั่วคราว แต่พอหยุดรักษาแล้วไปรับสมุนไพรหมอแสงแล้วบอกว่าได้ผล จริงๆ ถ้าอยู่เฉยๆ เขาก็ดีขึ้น ตนไม่ได้บอกว่าสมุนไพรหมอแสงไม่มีประโยชน์ แต่เพราะไม่รู้เลยต้องมองทั้ง 2 ด้าน ถามว่าหมอแสงเคยติดตามหรือไม่ว่าดีขึ้นกี่คน หายกี่คน ตายกี่คน แล้วคนนั้นใช้การรักษาแผนปัจจุบันร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าใช้ร่วมกันแล้วผู้ป่วยดีขึ้นเพราะอะไร คือ ถ้ามองแบบเป็นกลางเพื่อเคลมว่าสมุนไพรหมอแสงดี และได้ผลจริงต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพและเปรียบเทียบคนต่อคนไปเลย ซึ่งไม่มี

“เราไม่ได้มีปัญหากับความหวังดีของหมอแสง แต่เรากังวลเรื่องการนำเอาความรู้มาใช้ เพราะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะพิสูจน์ประโยชน์ให้ชัดเจน จะบอกว่าให้ฟรีแล้วไม่มีข้อเสีย ไม่มี ผมถาม 2 - 3 คำถาม คนไข้ต้องมาขอใบรับรองแพทย์มากขึ้น รพ. มีภาระงานเพิ่มขึ้น แล้วอีกอย่างในเมื่อแจกฟรีทำไมต้องแจ้งความ แล้วยังระบุว่าห้ามฟ้องร้องหากเกิดเหตุไม่ดี ในมุมกลับกันฝั่งหมอเองหากจะทำวิจัยต้องเขียนให้ชัดเจนว่าหากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์จากงานวิจัยนี้ผู้ทำวิจัย หรือสถาบันที่รับผิดชอบต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาคนไข้คนนี้ ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับ ดังนั้น การเขียนในใบแจ้งความแบบนี้ไม่ได้ มันผิดหลักการ แต่ถามเรื่องความตั้งใจมันใช่ และวันนี้มันเป็นเรื่องของความตั้งใจล้วน” นพ.เพชร กล่าว และว่า มีคนชอบว่าที่ออกมาพูด เพราะเดี๋ยวบริษัทยาเสียผลประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่ แต่พูดด้วยความเป็นห่วงมากกว่า และแพทย์ที่ห่วงใยที่ออกมาพูดส่วนใหญ่เป็นแพทย์ใน รพ. ของรัฐ รับเงินเดือนรัฐ เรื่องผลประโยชน์เป็นอีกเรื่องที่ถูกโยงเข้ามาทำให้คนมองผิดตำแหน่ง

นพ.เพชร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ายาครอบจักรวาลไม่เคยมี แต่ถ้าสมุนไพรหมอแสงพิสูจน์ออกมาแล้วว่าได้ผลดี ตนก็ยินดี เพราะไม่ได้อคติกับหมอแสง แต่ติดใจเรื่องกระบวนการได้มามากกว่า จะมาสรุปโดยที่ยังไม่มีการรับรองไม่ได้ สมุนไพรเป็นแค่ช่วงต้นของการพัฒนา ยาแผนปัจจุบันหลายตัวก็สกัดจากสมุนไพร แต่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องมาแล้ว และไม่ได้มีปัญหากับการใช้สมุนไพร เพราะปัจจุบันก็ใช้อยู่แล้วในกลุ่มโรคไม่ซับซ้อน เช่น เป็นหวัดควรกินฟ้าทะลายโจร ท้องอืดควรกินขมิ้นชัน หมอแผนปัจจุบันสั่งยาพวกนี้อยู่แล้ว เห็นประโยชน์ชัดเจน แต่โรคมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน โรคยาก วิธีการที่ได้มาของยา หรือการรักษาที่ผ่านการพิสูจน์เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีจริงๆ เพราะมีเวลาจำกัด ปล่อยไว้โรคก็โต มีเคสผู้ป่วยมะเร็งไปกินเห็ดหลินจือ นานหลายเดือนจนก้อนมะเร็งโต แทนที่มีโอกาสหายหากได้รับการรักษาก็กลายเป็นว่ารักษาไม่ได้

6 ก.พ. 2561   โดย: MGR Online