ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยเจ้าภาพประชุมระดับโลกป้องกันการบาดเจ็บส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่13 ‘3-7 พย.  (อ่าน 524 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 เน้นความปลอดภัยทางถนน การป้องกันปัญหาการบาดเจ็บความรุนแรงในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง หรือผู้ด้อยโอกาส

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 : World Conference on injury Prevention and Safety Promotion) โดยมีผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยร่วมเป็นเกียรติ

พญ.มยุรา กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ต่อจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ใช้ธีมงาน “ก้าวหน้าสู่โลกที่ปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างยั่งยืน” (Advancing Injury and Violence Prevention towards SDGs) โดยกำหนดจัดในวันที่ 3 - 7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานในวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 9.00 น. มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่อาวุโสที่กำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน นิสิต นักศึกษา จากทั่วโลกประมาณ 1,500 คนเข้าร่วมการประชุม

การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของสังคมทั้งในเชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ รวมทั้งเป็นเวทีของการสร้างงานวิจัยให้มีคุณภาพ โดยในระหว่างการประชุม ประเทศไทยจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการรณรงค์ด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆทั้งในบ้าน โรงเรียน สถานประกอบการ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวัน อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการบาดเจ็บจากจราจรทางถนน และการป้องกันปัญหาการบาดเจ็บ ความรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง หรือผู้ด้อยโอกาส

ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมระดับโลก ว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจะเป็นเจ้าภาพหลัก โดยกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบในการบริหารจัดการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รับผิดชอบด้านการดำเนินงานทางวิชาการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพรับผิดชอบด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้การประชุมบรรลุตามวัตถุประสงค์

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความปลอดภัยและการป้องกันการบาดเจ็บ เพื่อเชื่อมโยงสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บ จึงร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 โดย สพฉ.รับผิดชอบการดำเนินงานด้านวิชาการทั้งหมด เช่น การรับและพิจารณาบทคัดย่อผลงานวิชาการ การจัดทำกำหนดการประชุม การจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านความปลอดภัยของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรทุน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการด้านความปลอดภัย ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

ทางด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ SDGs เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยมุ่งเน้น เรื่องการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน และระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนจึงร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านความปลอดภัย เพื่อนำมาขับเคลื่อนทั้งในระดับนานาชาติ และระดับประเทศ สสส. และภาคีเครือข่าย มีความพร้อมในการสนับสนุนข้อมูลวิชาการ งานวิจัย และพื้นที่ต้นแบบในการจัดการความปลอดภัยในมิติต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางถนน ความปลอดภัยในเด็ก ความปลอดภัย ในผู้สูงอายุ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการ การปฏิบัติงานด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

2018-02-11 -- hfocus