ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร  (อ่าน 2850 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
การสัมมนา จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ กระทรวงสาธารณสุข
โดย นายแพทย์ประดิษฐ์  ไชยบุตร
ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปแห่งประเทศไทย


ความรุนแรงที่เกิดในโรงพยาบาล ที่บุคลากรถูกกระทำทั้งวาจาต่อหน้า ลงในสื่อโซเชียล และทำร้ายร่างกาย ที่พวกเรารับรู้กันเป็นแค่ส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้น เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มาให้เห็น ยังมีส่วนที่อยู่ใต้น้ำที่เรามองไม่เห็นอีกมากมาย ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่มีระบบการบันทึกเหตุการณ์ไว้ (Incident report) เพราะคิดว่าปิดเรื่องไว้ดีกว่า ปล่อยให้เรื่องเงียบๆไป จบๆไป


ไม่กี่วันก่อนการสัมมนาครั้งนี้(10 พย.2560) ก็เกิดเหตุการณ์
5 พ.ย.2560 วัยรุ่นโหดตามทำร้ายคู่อริในห้องฉุกเฉิน แถมยิงปืนขู่กว่า 10 นัด ที่ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน สมุทรสาคร
6 พ.ย.2560  วัยรุ่นนับ 100 ตีกันในโรงพยาบาลดอยเต่า เชียงใหม่ ในวันเดียวกันที่โรงพยาบาลอุดรธานี ทวงหนี้พนันบอล ม.5-ม.6 ลวงแทงเจ็บทั้งคู่ พวกแค้นตามถึง รพ.


คำว่า โรงพยาบาล ไม่มีความหมายอะไรสำหรับวัยรุ่นดังกล่าวเลย มีคำพูดจากสื่อโซเชียลว่า ไม่รู้จักเคารพสถานที่กันเลย ก็ไม่น่าแปลกใจนะ เพราะ โรงพยาบาลโดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน เปิดตลอด24ชั่วโมง ใครจะไปเวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจ หนักเบาแค่ไหน ก็ไปได้ แทบไม่ต่างจากร้านเซเว่นอีเวฟเว่นเลย แถมไม่ต้องเสียตังค์ด้วย


สิ่งที่น่าผิดหวังมากๆ คือ เหตุการณ์ ( 8 พ.ย. 2560) ที่ หญิงป่วยไมเกรน ไม่พอใจให้รอนาน ลุกตบหน้าพยาบาล รพ.ชัยภูมิ แล้วผู้บริหาร ออกแถลงข่าวว่า เบื้องต้นทางโรงพยาบาลได้ให้การรักษาผู้ป่วยตามปกติโดยรอจนกว่าผู้ป่วยจะใจเย็นลง แล้วจึงค่อยมาพูดคุยกัน เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย
ลูกน้องตัวเองถูกตบหน้า ถูกทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติงาน เป็นเรื่องเล็กน้อย น่าเศร้าครับ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจในแนวคิด และมุมมองของผู้บริหาร


เป็นเรื่องเศร้าๆที่เศร้ามาตลอดเลยครับ ย้อนกลับไป
จบลงด้วยดี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลถูกญาติผู้ป่วยตบหัว เจรจากันแล้ว ญาติคนไข้ฉุน ยอมจ่าย 1000 ตบหัวเจ้าหน้าที่ (9 มีค.2560)
จบดราม่า ลุงวิศวกรด่ากราดโรงพยาบาล ใน จ.สกลนคร ผอ.รพ.เผยคู่กรณีโทรขอโทษจบด้วยดี ผอ.รพ.ไม่ติดใจลุงวิศวะด่ากราดหมอกลาง รพ.(24 กค.2560)
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และไกล่เกลี่ย ใครผิดก็ต้องขอโทษ (14 สค.2560)
จับมือยุติศึกด้วยดี คนไข้เตะก้านคอหมอ ทำบันทึกอภัยต่อกัน (16 สค.2560)

ครับจบลงด้วยดี แต่ไม่ดีครับ เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า การทำร้ายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติงาน เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรนัก ซึ่งในสากลแล้ว เขาไม่ยอมรับกัน ประเทศที่เจริญแล้ว เขาประกาศนโยบายไม่ยอมรับ ไม่ยอมทน (Zero tolerance) ต่อการทำร้ายบุคลากร กันครับ


ในประทศอังกฤษ ผู้บริหารสาธารณสุข(National Health Service NHS) เค้าประกาศหลักการว่า บุคลากรของเค้าต้องทำงานโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกทำร้าย หรือว่ากล่าวด่าทอจากผู้ป่วยหรือญาติ โดยเค้าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ กฎหมายของเค้าเป็นกฎหมายครับ ผู้ป่วยเมา มารักษาที่ห้องฉุกเฉิน ต่อยหน้าพยาบาล จบด้วยดีของเค้าคือ ติดคุก 4 เดือนครับ


ผู้บริหารสาธารณสุข(National Health Service NHS)ของอังกฤษ ดำเนินมาตรการ Zero tolerance อย่างเข้มงวดตั้งแต่ปี  1999 โดยไม่มีการยอมความสำหรับการทำร้ายบุคลากร ติดคุกลูกเดียว นอกจากนี้ยังมีมาตรการของโรงพยาบาลด้วย ถ้าทำผิดรุนแรง หรือทำซ้ำ เค้าจะถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ป่วย (คือ ให้ไปตรวจรักษาที่อื่น) และอาจถอดชื่อคนในครอบครัวออกด้วย (ไม่รักษาให้ทั้งบ้านเลย) เค้าเอาจริงเอาจังมากในการดูแลบุคลากรของเค้า
ในเกาะอังกฤษจะมีการติดป้ายบอกเตือนผู้ป่วยถึงเรื่องนี้ในเกือบทุกโรงพยาบาล บ้านเราก็มีโรงพยาบาลหัวเฉียวที่ติดประกาศในลักษณะนี้อย่างที่เป็นข่าวในโซเชียล (สค.2560) รพ.หัวเฉียว นำร่องสงวนสิทธิ์ ไม่รักษาคนไข้ที่ไม่ให้เกียรติ


ใจชื้นขึ้นมาหน่อยครับ กับข่าว (8 พย.2560) ปลัด สธ.จี้ ตร. เด็ดขาด ตามล่าอีก6 ไล่ตีอริถึงโรงพยาบาล(กระทุ่มแบน) ในขณะที่ ยาย-แม่แก๊งโจ๋ถล่ม รพ.ร่ำไห้ขอสังคมอภัย หลานคนดีแต่ติดเพื่อน ขาดความอบอุ่น ต้องดูต่อไปครับ ว่าในที่สุดแล้วจะจบลงด้วยดีแบบไหน แนวคิดเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายถึงที่สุด ก็เพราะไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อความสงบสุขของสังคมครับ เพื่อให้ผู้กระทำได้รู้สำนึกไม่กระทำอีก และไม่ให้ผู้อื่นทำตาม วัตถุประสงค์เป็นอย่างนี้ครับ


8 พ.ย. 2560 ผัวเก่าบุกยิงเมียใน รพ. ก่อนเปิดม่านรูด ยิงตัวตาย เหตุเกิดที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก เชียงใหม่ ผู้ถูกยิงเป็นเจ้าหน้าที่ผ่ายเอกสารประจำโรงพยาบาล ถูกยิงในห้องทำงานศูนย์คุณภาพ นี่ไม่ได้เกิดจากผู้ป่วย และไม่ได้เกิดที่ห้องฉุกเฉิน แสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลเราเปิดกว้างจริงๆ ใครๆก็เข้าออกได้ในทุกส่วนของโรงพยาบาล อยากมาทำอะไรก็ทำได้ง่ายๆ ต้องขยับกันหลายเรื่องเลยครับ ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง


ทางออกสำหรับเรื่องการทำร้ายบุคลากรสาธารณสุข ทางแรก อยากจะเริ่มที่พวกเรากันเอง เราต้องเตรียมคนของเราให้ตระหนัก และพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์อยู่เสมอ ต้องมีการฝึกอบรม เรื่องทักษะในการสื่อสาร (Communication skill) เพราะการสื่อสารที่ไม่ดีพอจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาได้ เรื่องการแก้ปัญหาเมื่อมีความขัดแย้งกับผู้ป่วย ( Conflict resolution training) หรือ แนวทางเมื่อเกิดความเครียดขึ้น (Stress management) หรือเมื่อเกิดความโกรธ ( Anger management) ผู้บริหารต้องสนับสนุนและจัดให้มีกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นครับ

แผนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตราย หรือความยุ่งยากในโรงพยาบาลก็มีกันหลายแผนแล้ว เช่น แผนอุบัติภัยหมู่ แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย แผนควบคุมและป้องกันโรคติดต่อต่างๆ แม้แต่แผนรับมือน้ำท่วม เพิ่มอีกซักแผน คือ แผนป้องกันและระงับความรุนแรง ก็น่าจะดีครับ


ทางออกอีกทาง คือ การดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด แต่เหยื่อ หรือบุคลากรที่ถูกกระทำไม่ควรเป็นผู้ไปแจ้งความ หรือดำเนินคดีเอง ควรจะมีการมอบหมายให้คนอื่นไปทำแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคู่กรณีอีก ซึ่งทางโรงพยาบาล หรือกระทรวง หรือแม้แต่องค์กรทางวิชาชีพ น่าจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้


ทางออกที่สำคัญมากอีกทางหนึ่ง คือ การมีศูนย์ หรือหน่วยงาน หรือบุคคลพร้อมเทคโนโลยี ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับข้อมูล อธิบาย ชี้แจง รวมทั้งรับฟังคำแนะนำ เรื่องร้องเรียน  หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยและญาติ


สิ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหา 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ความรุนแรงในสังคมเรา วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงมีให้เห็นในชีวิตจริง ในข่าว ในสื่อต่างๆ จนเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สังคมเรานิยมใช้ความรุนแรงกันมากขึ้นกว่าอดีตมาก เรื่องเล็กๆเราก็ทำร้ายกันได้ เรื่องนิดเดียว เราก็ฆ่ากันตายได้ ซึ่งลูกหลานเราไม่ควรอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป เราต้องช่วยกันครับ ถ้าสังคมเรายังนิยมใช้ความรุนแรง  ความรุนแรงในโรงพยาบาลก็หนีไม่พ้นหรอกครับ นี่เป็นวาระแห่งชาติจริงๆ


อีกเรื่อง คือ ผู้ป่วยเป็นผู้บริโภค ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างบุคลากรกับผู้ป่วย ความสัมพันธ์ที่ดีก็เหมือนกำแพงที่คอยกั้นความรุนแรง ความสัมพันธ์ยิ่งดีเท่าไหร่ ความรุนแรงก็น้อยลงเท่านั้น นี้เป็นวาระแห่งวงการสาธารณสุขครับ


https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1762783530439614.1073741877.100001239514505&type=3&pnref=story

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มกราคม 2018, 02:21:27 โดย story »