ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! ตรวจพบ “แหนม-ปลาส้ม-ไส้กรอกอีสาน” ปนเปื้อน  (อ่าน 547 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนมีปนเปื้อนร้อยละ 20 เตรียมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารสู่มาตรฐาน ยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารชุมชนที่เป็นของฝาก อาหารพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์โอทอป ให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านผลิตภัณฑ์อาหารสู่มาตรฐานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 จนถึงปี 2560 โดยมอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศดำเนินการเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายในพื้นที่ รวมทั้งคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผู้ผลิตอาหารชุมชน เข้าร่วมโครงการจำนวน 15 กลุ่ม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ยังพบปัญหาด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประเมินสถานที่ผลิตอาหารและสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการทุกปี

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ตั้งแต่ปี 2556 - 2560 จำนวน 442 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลาส้ม ไส้กรอกอีสาน แหนม น้ำปลาร้า ปลาหมัก หมูทุบ หมูหวาน ข้าวเกรียบ ชาสมุนไพร เป็นต้น พบคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 89 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20.1 ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์แหนม ปลาส้มและไส้กรอกอีกสาน สาเหตุจากปัญหาการปนเปื้อนเชื้ออาหารเป็นพิษ ได้แก่ E. coli, S. aureus และSalmonella spp

“ผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนประเภทปลาส้ม ซึ่งเป็นอาหารหมักพื้นเมืองที่มีการผลิตในทุกจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 7 และเป็นอาหารที่ผู้บริโภคนิยมซื้อเป็นของฝาก ยังพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากกระบวนการเตรียมวัตถุดิบและสุขลักษณะในกระบวนการผลิต ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงบริโภคอาหารที่ดิบและควรนำอาหารเหล่านี้ไปปรุงให้สุกก่อนบริโภค นอกจากนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อมูลผลการสำรวจเพื่อนำไปใช้กำกับดูแล เฝ้าระวัง พร้อมแจ้งให้ผู้ผลิตทราบ และแนะนำแนวทางการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมทั้งปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ถูกต้องตามมาตรฐาน GMP เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายผู้ผลิตอาหารแปรรูปจากปลาในพื้นที่ต่อไป” นพ.สุขุม กล่าว

 8 ม.ค. 2561  โดย: MGR Online