ผู้เขียน หัวข้อ: “บิ๊กฉัตร” ฝาก สธ.แก้เหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข-ท้องวัยรุ่น-สังคมสูงอายุ  (อ่าน 514 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“บิ๊กฉัตร” มอบนโยบาย สธ. ฝากแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำสาธารณสุข จัดการท้องไม่พร้อมวัยรุ่น เตรียมรองรับสังคมสูงอายุ ด้านกรมอนามัย เผย หลังมี พ.ร.บ. ป้องกันท้องวัยรุ่นและยุทธศาสตร์ชาติ 10 ปี อัตราท้องวัยเรียนลดลง

วันนี้ (21 ธ.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสาธารณสุข โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ. และผู้บริหารกระทรวงให้การต้อนรับ ซึ่งระหว่างการประชุมไม่ได้มีการให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟังแต่อย่างใด

พล.อ.ฉัตรชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบนโยบาย ว่า งานด้านสาธารณสุข สธ.ดำเนินการมาตลอด และถือว่าทำได้ดี การมาครั้งนี้ไม่ได้มอบหมายยอะไรเป็นพิเศษ แต่เน้นย้ำเรื่องนโยบายของรัฐบาล คือ 1. การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะด้านการรับบริการสาธารณสุข 2. การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมไทย 3. ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ 4. สร้างรากฐานให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องมีระบบการดูแลที่ดี เพราะอีก 5 ปี ไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และ 5. เรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ อยากให้ สธ. เร่งดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้เห็นผลก่อนหมดวาระของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 15 ปีบริบูรณ์ถึง ก่อน 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งพบสูงสุดเมื่อ 3 ปีก่อน มีอัตราการท้องไม่พร้อม 53 ต่อ 1 พันประชากรในวัยเดียวกัน ส่วนข้อมูลปี 2560 พบว่า อัตรการท้องไม่พร้อมลดลงเหลือ 42 ต่อ 1 พันประชากรวัยเดียวกัน ซึ่งขณะนี้หลังจากมี พ.ร.บ. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และมียุทธศาสตร์ชาติ 10 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2560 - 2569 ก็ตั้งเป้าว่าต้องลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของกลุ่มนี้ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่า 25 ต่อ 1 พันประชากร ส่วนกลุ่มที่ 2 อายุ 10 ปีบริบูรณ์ จนถึงก่อน 15 ปี บริบูรณ์ นั้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วพบตั้งครรภ์ไม่พร้อม 1.6 ต่อ 1 พันประชากรวัยเดียวกัน ในปี 2560 ก็ลดลงเช่นเดียวกัน อยู่ที่ 1.4 ต่อ 1 พันประชากรวัยเดียวกัน

“สถิติค่อยๆ ลดลง เพราะมีการออก พ.ร.บ. ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ ขึ้นมา ส่วนสำคัญอยู่ในมาตรา 5 เรื่องการพิทักษ์สิทธิของวัยรุ่น ให้มีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ เพศวิถี ถ้าพลาดพลั้งขึ้นมาก็ได้รับการช่วยเหลือ เป็นต้น ส่วนมาตรา 6 - 10 ก็เรื่องแนวปฏิบัติของ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องไปออกกฎกระทรวงของตนเองว่าจะมีการพิทักษ์สิทธิวัยรุ่นอย่างไร ตอนนี้ออกมาแล้ว 3 กระทรวง ยังเหลือกระทรวงแรงงานที่กำลังรอนำเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนกระทรวงมหาดไทย ยังต้องรอกฎกระทรวงอื่นๆ ก่อน เพราะเป็นผู้รับปฏิบัติ ทั้งนี้ เชื่อว่า รองนายกฯ ให้ความสนใจกำชับเรื่องนี้มาก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยทำให้การบูรณาการทำให้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

21 ธ.ค. 2560  โดย: MGR Online