ผู้เขียน หัวข้อ: ชงฟัน “เภสัชกร” ร้านยาย่านปากเกร็ด ปล่อยคนในขายยาเสพติด “โคเดอีน” พ่วงทรามาดอล  (อ่าน 984 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
อย. ร่วมกับ ป.ป.ส. บุกจับ “ร้านขายยา” ย่านปากเกร็ด ลอบขาย “ยาแก้ไอ” ทรามาดอล และ “โคเดอีน” ยาเสพติดประเภท 2 ยึดของกลางมูลค่ากว่า 2 แสนบาท ชี้แม้ผู้ขายไม่ใช่เภสัชกร แต่พร้อมเสนอ คกก.ยายกเลิกใบอนุญาตขายยา พ่วงส่งสภาเภสัชฯ ฟัน “เภสัชกร” ประจำร้าน

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประสานแจ้งมายัง อย. ว่า พบร้านขายยาในซอยโรงเรียนอัมพรไพศาล หน้าหมู่บ้านเอื้ออาทร 2 มีพฤติกรรมขายยาแก้ปวดทรามาดอล ยาน้ำแก้แพ้แก้ไอ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้กับวัยรุ่นนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ขายไม่ใช่เภสัชกรประจำร้าน อย. จึงร่วมกับ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าตรวจสอบร้านขายยาปัจจัย 4 เลขที่ 219/32 หมู่ 3 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา พบของกลางจำนวนมาก รวมมูลค่ากว่า 2 แสนบาท ได้แก่ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 อัลปราโซแลม (Alprazolam) จำนวน 322 เม็ด, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 4 โคลนาซีแพม (Clonazepam) จำนวน 129 เม็ด และ ไดอะซีแพม (Diazepam) จำนวน 1 ขวด

นพ.วันชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบยาโคเดอีน (Codeine) จำนวน 30 กล่อง ประมาณ 3,200 เม็ด, แคปซูลเขียว - เหลือง ไม่ระบุเลขทะเบียนตำรับยา จำนวน 51,000 เม็ด, ยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน (ยาชุด) จำนวน 280 ชุด, Caverta (Sildenafil citrate 100 mg) ไม่มีเลขทะเบียนยา จำนวน 20 เม็ด และยาน้ำบรรจุในขวดสีชา ไม่ระบุเลขทะเบียนตำรับยาและไม่มีฉลาก จำนวน 140 ขวด ทั้งนี้ โคเดอีน เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแก้ไอ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามกฎหมายผู้ที่จ่ายได้ คือ แพทย์และสถานพยาบาล ไม่สามารถจำหน่ายในร้านขายยาได้ ส่วนยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 สามารถจำหน่ายได้ในสถานพยาบาลที่มีเตียงไว้พักค้างคืนเท่านั้น จึงไม่สามารถจำหน่ายได้ในคลินิก หรือร้านขายยาเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักพบโคเดอีนในการจำหน่ายคู่กับยาทรามาดอล ในการนำไปเสพเป็นยาเสพติด

“ทั้งนี้ ได้เสนอคณะกรรมการยา พักใช้หรือยกเลิกใบอนุญาตขายยา และส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรประจำร้าน ในส่วนของการดำเนินการทางอาญา ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ส. เพื่อดำเนินคดี พร้อมทั้งส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดำเนินการขยายผลต่อไป ขอเตือนผู้ประกอบการร้านขายยา หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย จำหน่ายยาที่ถูกต้องและไม่ควรจำหน่ายยาให้กับวัยรุ่นไปใช้ในทางที่ผิด และฝากไปยังผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานให้ดี รวมถึงหากผู้บริโภคพบเห็นร้านขายยาที่มีพฤติกรรมดังกล่าวขอให้แจ้งได้ที่ สายด่วน อย. อย.1556 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด และเพื่อป้องกันภัยสังคมที่อาจเกิดขึ้นตามมาต่อไป” เลขาธิการ อย. กล่าว

13 ธ.ค. 2560    โดย: MGR Online