ผู้เขียน หัวข้อ: นศ.แพทย์ลูก ผกก. มหิดล ปี3 เครียด คอมฯผูกขาดิ่งเจ้าพระยา ฆ่าตัวตาย  (อ่าน 792 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รู้ตัวแล้วศพขึ้นอืดลอยมาติดโป๊ะท่าเตียนที่ขาขวามีคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ผูกติดที่แท้เป็นอดีต นศ.แพทย์ ปี 3 ม.มหิดล ลูกพันตำรวจเอก คาดเครียดเรื่องเรียน

ผู้เป็นพ่อ ให้ข้อมูลไม่ติดใจการตายมีภาพกล้องวงจรปิดยืนยันผู้ตายใช้คอมเพรสเซอร์ถ่วงเพราะว่ายน้ำเก่ง ต้องการจมแบบไม่มีทางรอด จากกรณีพบศพชายไทยไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 20-25 ปี สภาพขึ้นอืดลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา มาติดอยู่ใต้โป๊ะท่าเรือสวัสดิ์ แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. พบที่ข้อเท้าขวาของศพมีเชือกไนลอนผูกติดกับคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ถ่วงศพเอาไว้ ก่อนส่งศพให้แพทย์นิติเวชฯ รพ.ศิริราชชันสูตรศพ ต่อมามีญาติผู้ตายมายืนยันผู้เสียชีวิตรายนี้คือนายธนาธิป ชุมพลวีระพงษ์ อายุ 21 ปี ตำรวจ สน. ปากคลองสาน เจ้าของพื้นที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างหาหลักฐานคลี่คลายสาเหตุการตายครั้งนี้ว่าเป็นเหตุฆาตกรรมหรือไม่

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 พ.ย. พ.ต.ท.รังสิมันต์ ตีสถิตย์ รอง ผกก.หน.งาน (สอบสวน) สน.ปากคลองสาน เจ้าของคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้มี พ.ต.อ.ประจักษ์ ชุมพลวีระพงษ์ ผกก.สภ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เดินทางมายืนยันว่าศพที่พบนั้นคือนายธนาธิป ชุมพลวีระพงษ์ อายุ 21 ปี บุตรชาย ส่วนสาเหตุการตายนั้นทางตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.พระราชวัง ที่ พ.ต.อ.ประจักษ์ ไปแจ้งความคนหายตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. พบภาพจากกล้องวงจรปิดขณะนาย ธนาธิป ผู้ตายนั่งเอาเชือกผูกคอมเพรสเซอร์ติดกับข้อเท้า ก่อนหย่อนตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโป๊ะท่าเตียน เตรียมสรุปเป็นคดีฆ่าตัวตาย ประกอบกับญาติผู้ตายไม่ติดใจสาเหตุการตายแต่อย่างใด

มีรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 11 พ.ย. พ.ต.อ.ประจักษ์เดินทางเข้าพบกับ ร.ต.อ.ดุสิต รัตนกินรี รอง สว. (สอบสวน) สน.ปากคลองสาน เจ้าของคดี เพื่อให้ข้อมูลว่าจากการตรวจสอบศพพบเป็นนายธนาธิป ชุมพลวีระพงษ์ อายุ 21 ปี บุตรชายหายออกไปจากห้องพักตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. เมื่อตามตัวจากโปรแกรมมายไอโฟน ทราบพิกัดอยู่ในพื้นทีสน.พระราชวัง จึงเดินทางมาแจ้งความคนหายเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันเดียวกัน ต่อมาตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.พระราชวัง พบภาพจากกล้องวงจรปิดขณะผู้ตายขับรถฟอร์ด เอสเคป ทะเบียน กค 1688 ชุมพร มาจอดริมถนนมหาราช ใกล้กับโป๊ะท่าเตียน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. เมื่อประมาณตีสามของวันที่ 9 พ.ย. ผู้ตายเดินไปที่โป๊ะแล้วย้อนกลับมาเอาคอมเพรสเซอร์แอร์ตัวเก่าที่ถอดทิ้งไว้ท้ายรถ หลัง พ.ต.อ.ประจักษ์เพิ่งขับไปเปลี่ยนให้ก่อนหน้าไม่กี่วันถือเดินไปที่โป๊ะอีกครั้ง จากนั้นนั่งเอาเชือกผูกคอมเพรสเซอร์แอร์ติดกับข้อเท้าขวาแล้วค่อยๆทิ้งตัวลงไปในน้ำช่วงเวลาประมาณ 04.22 น. ส่วนเหตุที่ต้องใช้คอมเพรสเซอร์แอร์ถ่วงนั้น พ.ต.อ.ประจักษ์ให้รายละเอียดว่าลูกชายเป็นคนว่ายน้ำเก่ง ที่ผู้ตายใช้คอมเพรสเซอร์ถ่วงเพราะต้องการให้จมน้ำแบบไม่มีทางรอด หลังจาก พ.ต.อ.ประจักษ์เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว เชื่อว่าลูกชายฆ่าตัวตายเอง ไม่ได้ถูกฆาตกรรมแต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่มาของการติดสินใจฆ่าตัวตายครั้งนี้ พ.ต.อ.ประจักษ์ ผู้เป็นพ่อเผยรายละเอียดเพียงว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายเรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 3 คาดเรียนไม่ไหว จึงพักการเรียน แล้วมาสมัครเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้ พ.ต.อ.ประจักษ์พยายามกล่อมให้ลูกชายกลับไปเรียน ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด คาดเป็นอีกประเด็นที่ทำให้ผู้ตายเกิดความเครียดคิดสั้นดังกล่าว

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 13 พ.ย. 2560

















story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จากกรณีที่มีข่าวอดีตนักศึกษาแพทย์ปีที่3  อายุ 21 ปี  เครียดและฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา  ซึ่งบิดาให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิต เคยเรียนคณะแพทยศาสตร์ ชั้นที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง คาดว่าเรียนไม่ไหวจึงพักการเรียน แล้วไปสมัครเรียนคณะอื่นในมหาวิทยาลัยอื่น 

กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า  เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สมัย   ศิริทองถาวร   รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต  ระบุว่า รู้สึกเห็นใจพ่อแม่และขอเป็นกำลังใจกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้   

ปัญหาการเรียน เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และเป็นการยากที่จะประเมินว่านักศึกษารายนี้ ทำเต็มที่หรือยัง   เพราะทุกคนก็ล้วนหวังดี แต่ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ผลการเรียนด้อยลงได้   ความหวังดีจะกลายเป็นการกดดันแทน 


เนื่องจากการเรียนแพทย์ในชั้นที่สูงขึ้น จะมีความยุ่งยาก  เนื้อหาจะมีความเข้มข้นเฉพาะด้านขึ้นเรื่อยๆ  หรือการเรียนในสายอาชีพอื่นๆก็เช่นกัน  พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับฟังปัญหาและร่วมหาทางออกตั้งแต่ต้น หากเป็นไปได้ควรให้ลูกได้ตัดสินใจเลือกเรียนตามศักยภาพ ตามความสนใจหรือความถนัดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และไม่มีใครที่แก่เกินเรียน   

ทั้งนี้วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า  มี 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่
1. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช  เช่นเป็นโรคซึมเศร้า  โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น     
2. มีโรคเรือรังทางกาย เช่นโรคมะเร็ง โรคไต โรคที่จำกัดกิจกรรมทางร่างกาย หรือมีผลต่อภาพลักษณ์
3 ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน เพื่อรังแก ถูกทารุณกรรม เป็นต้น
4. กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น มีความขัดแย้งในครอบครัว

รวมทั้งการขาดทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง  ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เร่งแก้ไขและป้องกันปัญหา  ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พัฒนาแนวทางการดูแลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นที่มีปัญหาและได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมาวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการน้อย 

ส่วน แพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม.กล่าวว่า  สถาบันฯได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นการเฉพาะ เพื่อให้แพทย์ใช้ในการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง 

ซึ่งวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มักมีอาการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมต่างไปจากวัยอื่น เช่นมาด้วยพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง การทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น หรือมาด้วยปัญหาอารมณ์ก้าวร้าว ปัญหาการกิน การอดอาหาร

แต่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา หรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง ส่วนใหญ่ยังมีความไม่เข้าใจ อาจมีทัศนคติในการตัดสินต่อพฤติกรรม การแสดงออกได้  วัยรุ่น จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น

จากการศึกษาในประเทศไทยขณะนี้พบปัญหาโรคซึมเศร้าในเด็กวัยเรียนร้อยละ 2  ในวัยรุ่นพบได้มากถึงร้อยละ 40-49 และพบเด็กที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงร้อยละ  13 -22   เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 3 ของวัยรุ่น และเป็นสาเหตุการตายหลักของกลุ่มเยาวชนทั่วโลก  แต่กลุ่มนี้ยังเข้าถึงบริการน้อย 

ขณะที่สถานการณ์ด้านพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า  เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ การทำร้ายตัวเอง การใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   

สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มี 4 ส่วนหลักได้แก่การประเมินคัดกรองปัญหาซึมเศร้า การวินิจฉัยที่ครอบคลุมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งได้จากประวัติของวัยรุ่นเองและผู้ปกครอง  การตรวจร่างกาย การตรวจสภาพทางจิต ตั้งแต่ลักษณะทั่วไป การแต่งกาย การพูด อารมณ์ ความคิด   

การให้การรักษาทั้งด้วยยา และการทำจิตบำบัดเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมที่นำไปสู่อารมณ์ทางบวก  ปรับความคิดที่นำไปสู่อารมณ์ทางลบ   คาดว่าจะสามารถใช้ทั่วประเทศในเร็วๆนี้

https://medhubnews.com/%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-10502-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0.html