ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่ใช่แค่แดดและเกลียวคลื่น!! พบควันบุหรี่สะสม "ชายหาด" สูง 27 เท่า หนุนประกาศ  (อ่าน 622 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"หมอประกิต" ชี้ "ชายหาด" ยังไม่เป็นพื้นที่สาธารณะห้ามสูบบุหรี่ จำเป็นต้องออก กม.เพิ่มเติม หนุน ทช.นำร่องออกประกาศควบคุมชายหาดก่อน 20 แห่ง เผย สธ.อยู่ระหว่างหารือเพื่อออกกฎหมายเช่นกัน ระบุอุทยานแห่งชาติทางทะเลห้ามสูบบุหรี่อยู่แล้ว ด้านนักวิจัยเผยควันบุหรี่มือสองในชายหาดสูงกว่าปกติ 27 เท่า อันตรายต่อสุขภาพ

จากกรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมออกกฎหมายลูกห้ามสูบบุหรี่บริเวณพื้นที่ชายหาดนำร่อง 20 แห่ง ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ปัญหาขยะก้นบุหรี่เกลื่อนชายหาด โดยจะมีการจัดพื้นที่ให้สูบบุหรี่ก่อนลงชายหาด แต่ห้ามเดินไปสูบไปบนชายหาด คาดว่าจะประกาศใช้ พ.ย.นี้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

วันนี้ (11 ต.ค.) ศ.นพ.ประกิต สาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมที่ทาง ทช.จะมีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดแต่อย่างใด แต่ก็อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในการออกประกาศเพิ่มเติมให้พื้นที่ชายหาดเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ด้วย ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดมานานแล้ว ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ อย่างแคลิฟอร์เนียก็มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดชัดเจน เนื่องจากก้นบุหรี่เป็นขยะหมายเลขหนึ่งของชายหาด เป็นต้น

"หากทาง สธ.จะออกประกาศเพิ่มเติมให้พื้นที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ ก็อาจจะต้องมีการหารือกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ด้วยว่า จะดำเนินการอย่างไรกับพื้นที่ชายหาดที่เหลือ เนื่องจากทาง ทช.นำร่องเพียง 20 แห่ง ส่วนการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ทั้ง 2 กระทรวงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือซ้ำซ้อน เพราะอย่างการห้ามสูบบุหรี่บนรถสาธารณะก็มีทั้งกฎหมายของ สธ. และของกรมขนส่งทางบกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นต้น" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

เมื่อถามถึงสถานประกอบการหรือร้านอาหารในพื้นที่ชายหาด ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่อยู่แล้วหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ถ้าเป็นร้านอาหารถือเป็นสถานที่สาธารณะตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ตามชายหาดมักไม่ค่อยมีปัญหา เพราะพื้นที่ร้านไม่มากก็มักเดินออกมาสูบตามชายหาดอยู่แล้ว แต่หากห้ามสูบพื้นที่ชายหาดก็คงออกมาสูบไม่ได้ คงต้องสูบในพื้นที่ที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเป็นชายหาดตามอุทยานแห่งชาติทางทะเลห้ามสูบบุหรี่อยู่แล้วหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเล มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เป็นเฉพาะส่วนที่เป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ในต่างประเทศการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากประเด็นเรื่องของขยะแล้ว ยังห้ามเพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ป่าด้วย

ด้าน รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการทำวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ปี 2560 โดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองที่บริเวณที่พักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ผ้าใบ โดยจุดตรวจวัดอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ในทิศทางใต้ลมของผู้สูบบุหรี่ พบว่า ผลการตรวจวัดใน 2 ชายหาด ได้พบปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งกำหนดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่า หรือสูงถึงประมาณ 27 เท่า ดังนั้น คุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองอย่างมาก

"จากการลงภาคสนามพบ พบเด็กจำนวนมากอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับมาตราการ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังเตรียมออกระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด เพื่อลดควันบุหรี่มือสองซึ่งทำลายสุขภาพด้วย" รศ.ดร.นิภาพรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานแห่งชาติทางทะเลจัดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหมด 24 แห่ง ประกอบด้วย
1.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
2. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
3. อุทยาน แห่งชาติอ่าวพังงา
4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
5. อุทยาน แห่งชาติสิรินาถ
6. อุทยาน แห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
7. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
8. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะช้าง
9. อุทยาน แห่งชาติแหลมสน
10. อุทยาน แห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
11. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
12. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะลันตา
13. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
14. อุทยาน แห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
15. อุทยาน แห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
16. อุทยาน แห่งชาติหาดวนกร
17. อุทยาน แห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ-เกาะพะงัน
18. อุทยาน แห่งชาติธารโบกขรณี
19. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
20. อุทยาน แห่งชาติลำน้ำกระบุรี
21. อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะพยาม
22. อุทยาน แห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้
23. อุทยาน แห่งชาติทะเลบัน และ
24. อุทยาน แห่งชาติเขาสามร้อยยอด

11 ต.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000103884

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการเสนอยกระดับ "ชายหาด-สนามบินนานาชาติ-พื้นที่ส่วนกลางคอนโดฯ" เป็นพื้นที่สาธารณะห้ามสูบบุหรี่ พร้อมชวนโรงแรมออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในห้องพัก ช่วยลดค่าใช้จ่ายทำความสะอาด ผู้รับบริการไม่ต้องเสี่ยงรับควันบุหรี่มือสาม

จากกรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาด นำร่อง 20 แห่ง ซึ่งพื้นที่ชายหาดยังไม่ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

วันนี้ (12 ต.ค.) ดร.ทพญ.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จริงๆ แล้วยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่ควรยกระดับให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ โดยชายหาดถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ควรยกระดับเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเห็นว่าสนามบินนานาชาติควรประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่เหมือนสนามบินภายในประเทศด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่คนผ่านไปมาจำนวนมาก และปัจจุบันก็มียาหรือแผ่นแปะที่ช่วยลดความอยากของนิโคติน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาสูบในพื้นที่สนามบินนานาชาติได้

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า พื้นที่อีกส่วนที่ไม่ควรมีการสูบบุหรี่คือ อาคารนิติบุคคลที่มีเจ้าของร่วม เช่น คอนโดมิเนียม เป็นต้น คือพื้นที่ส่วนกลางอย่างทางเดิน โถงอาคาร และลิฟต์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดที่แนะนำให้นิติบุคคลออกประกาศห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ มีเพียงแต่ขอความร่วมมือห้ามสูบบุหรี่เท่านั้น ส่วนการสูบบุหรี่ภายในห้องของตนที่ถือว่าเป็นสิทธิสามารถทำได้ แต่ควันและกลิ่นที่ลอยไปกระทบห้องข้างๆ นั้น ถือเป็นเหตุรำคาญ ก็ยังไม่มีมาตรการใดคุ้มครอง มีเพียงแค่แจ้งนิติบุคคลให้ช่วยดำเนินการเท่านั้น

"เสนอว่าควรยกระดับพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ เช่น ทางเดินร่วม ล็อบบี้ และลิฟต์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับโรงแรมที่มีการประกาศให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สาธารณะและห้ามสูบบุหรี่ ตรงนี้จะช่วยคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ได้อีกมาก" ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวและว่า ส่วนกรณีการสูบบุหรี่ภายในห้องของโรงแรม ตรงนี้เป็นอำนาจของโรงแรมที่จะออกประกาศห้ามได้ เพราะควันบุหรี่ที่สะสมในห้องก็จะส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการต่อไปได้ ซึ่งหากอยากเป็นโรงแรมปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เสนอว่าควรมีการส่งเสริมให้โรงแรมออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ภายในห้องพัก แต่อาจมีการจัดพื้นที่ให้สูบได้โดยเฉพาะ ก็จะช่วยให้โรงแรมไม่ต้องเสียค่าทำความสะอาด ผู้มาพักต่อก็ไมต้องรับควันบุหรี่มือสาม

12 ต.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000104244