ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้า “วัยทำงาน” ชี้ อายุ 35-39 ปี ปลิดชีพตัวเองสูงสุด  (อ่าน 533 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้า “วัยทำงาน” ทั้งซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล ในไทยพบปัญหา “ฆ่าตัวตาย” สูงสุด ชี้ อายุ 35 - 39 ปี มีอัตราปลิดชีพตัวเองสูงสุด แนะ 6 โปรแกรมสร้างสุขในที่ทำงาน

วันนี้ (10 ต.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายในงานวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2560 (World Mental Health Day 2017) ภายใต้แนวคิด “Mental health in the workplace : จิตดี๊ดี...มีสุข...สนุกกับงาน” ว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานทั่วโลกที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน และ ภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ หากมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของงาน ตรงกันข้ามหากมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาจใช้ยาเสพติด สุรา และหยุดงาน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานช่วงอายุ 20 - 59 ปี ที่น่าห่วง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า เป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะอายุระหว่าง 35 - 39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และจากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่า ปัญหาทางจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทร.เข้ามาปรึกษามากที่สุด จำนวน 20,102 คน รองลงมา คือ ปัญหาความเครียด หรือ วิตกกังวล จำนวน 17,347 คน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน ฯลฯ ปัญหาความรัก จำนวน 4,776 คน ปัญหาครอบครัว 2,513 คน และซึมเศร้า 2,085 คน ตามลำดับ

“การสร้างสุขในวัยทำงาน สถานประกอบการควรเน้นใน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมนันทนาการ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน 2. กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพี่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้สามารถปรับตัวได้กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และ 3. กิจกรรมการเห็นคุณค่าของพนักงานและครอบครัว เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและครอบครัวที่สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้และมีคนยอมรับ ที่สำคัญ คือ การพอเพียงอย่างมีสติ และทำจิตอาสา ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และมีความสุขจากการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โปรแกรมสร้างสุขในสถานประกอบการ 6 Module ได้แก่ 1. ฝึกมองโลกในแง่ดี มองจุดดีของตนเอง มองเห็นสิ่งดีๆ ในสิ่งที่ไม่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข ไม่คงอยู่เสมอไป คลี่คลายได้ตามกาลเวลา 2. ปรับเปลี่ยนความคิด เปิดใจกว้าง มองรอบด้าน ลดอคติและทิฐิ สร้างกำลังใจ ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข 3. สร้างความเข้มแข็งทางใจ ด้วยพลัง อึด - ควบคุมอารมณ์ อดทนตั้งสติ เตรียมรับมือกับปัญหา ฮึด - สร้างกำลังใจ ไม่สิ้นหวังท้อถอย มองทุกปัญหามีทางออก สู้ - ลุกขึ้นเผชิญหน้า หาแนวทาง วางเป้าหมาย ไม่รีรอ เร่งแก้ไข ใช้วิธีที่เหมาะสม 4. สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่องค์กรสร้างสุข ยอมรับความคิดเห็น เน้นการมีส่วนร่วม ร่วมสร้างแนวทางหลัก ชักชวนให้ปฏิบัติ จัดทำเป็นวัฒนธรรมองค์กร 5. มีหลักพักใจในการดำเนินชีวิต ค้นหาพลังใจ อิงหลักคิดในการดำเนินชีวิต เช่น ความกตัญญู ศาสนา การให้อภัย เมื่อวิกฤตก็ให้ใช้เป็นพลังฟื้นฟูใจ และ 6. พึงพอใจในสิ่งที่มี พอดีในความพอเพียง รู้จักพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่ได้

10 ต.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000103422